×

ทรัมป์กับเส้นทางชิงชัยตัวแทนรีพับลิกัน สู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี ใครคือคู่แข่งสำคัญ?

21.02.2023
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาและอดีตทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติอย่าง นิกกี เฮลีย์ ได้ประกาศตัวลงชิงชัยเป็นผู้แทนพรรครีพับลิกันเพื่อสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีกับประธานาธิบดีคนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครตอย่าง โจ ไบเดน 

 

เฮลีย์ถือเป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่คนแรกที่ประกาศตัวว่าจะสู้ศึกเลือกตั้งขั้นต้นกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งนั่นก็แปลว่าหนทางสู่การเป็นผู้แทนพรรคของทรัมป์ในครั้งที่ 3 จะไม่สะดวกราบเรียบเหมือนสมัยปี 2020 ที่เขาได้เป็นตัวแทนอย่างที่ไม่ต้องออกแรง เพราะไม่มีนักการเมืองรุ่นใหญ่ในพรรคคนไหนกล้าออกมาหาเสียงแข่งกับเขา

 

ความนิยมของทรัมป์ตกต่ำลงในหมู่ชาวรีพับลิกัน

การที่เฮลีย์ออกมาประกาศท้าชนกับทรัมป์นั้น ไม่ใช่เรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะทรัมป์ในขณะนี้ไม่ได้มีสถานะเป็นประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และคะแนนนิยมของเขาในหมู่ชาวรีพับลิกันก็ไม่ได้สูงลิบเหมือนสมัยปี 2016 ทำให้ทุกคนคาดหมายกันอยู่แล้วว่าหนทางการเป็นผู้แทนพรรคในสมัยที่ 3 ของเขาคงไม่ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากเหมือนสมัยที่ 2 อีกต่อไป

 

สาเหตุที่คะแนนนิยมของทรัมป์ในหมู่ชาวรีพับลิกันตกต่ำลงก็เป็นผลมาจากการที่เขาไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งปี 2016 เขากล่าวหาอย่างเลื่อนลอยว่าพรรคเดโมแครตและไบเดนโกงการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การจลาจลที่รัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม 2017 ซึ่งการจลาจลในครั้งนั้น ทำให้ชาวรีพับลิกันจำนวนหนึ่งที่มีแนวคิดแบบกลางขวา (ไม่ได้ขวาจัดแบบพวก MAGA ที่เป็นฐานเสียงหลักของทรัมป์) เริ่มเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมที่ไม่เคารพหลักประชาธิปไตยของเขา และเริ่มมองหาตัวแทนพรรคคนใหม่ที่ยึดมั่นกับหลักการมากกว่า

 

นอกจากนั้น นักการเมืองของพรรคจำนวนมากก็เริ่มกังวลว่าภาพลักษณ์ที่เสียหายของทรัมป์จากกรณีจลาจลรัฐสภา 6 มกราคม รวมถึงคดีความต่างๆ ที่เขากำลังถูก ‘เช็กบิล’ ภายหลังจากก้าวลงจากตำแหน่งประธานาธิบดี น่าจะทำให้คะแนนนิยมของเขาจากชาวอเมริกันโดยรวมตกต่ำลงไปกว่าสมัยเลือกตั้งปี 2016 เสียอีก ซึ่งก็น่าจะทำให้โอกาสที่เขาจะพลิกกลับมาชนะไบเดนกลายเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งความกังวลนี้ก็ถูกพิสูจน์ด้วยผลการเลือกตั้งกลางเทอมเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ตัวแทนของพรรคที่เป็นสายของทรัมป์ (โดยเฉพาะพวกที่เชื่อว่าพรรคเดโมแครตโกงเลือกตั้งในปี 2016) ต่างก็พ่ายแพ้ให้กับตัวแทนจากพรรคเดโมแครตทั้งสิ้น เช่น คาริ เลก ที่มลรัฐแอริโซนา, ดัก มาซตริอาโน ที่มลรัฐเพนซิลเวเนีย และ เฮอร์เชล วอล์กเกอร์ ที่มลรัฐจอร์เจีย ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วพรรครีพับลิกันควรจะชนะในมลรัฐที่เอนเอียงไปทางอนุรักษนิยมอย่างสามมลรัฐนี้ในการเลือกตั้งกลางเทอม ที่พรรคเดโมแครตครอบครองทำเนียบขาวอยู่

 

รอน เดอซานติส

เฮลีย์ไม่น่าจะเป็นนักการเมืองรุ่นใหญ่รายเดียวที่จะลงชิงชัยกับทรัมป์ในการเลือกตั้งขั้นต้นสำหรับปี 2024 จากรายงานข่าวเราพบว่ามีนักการเมืองอีกหลายคนที่ได้ระบุกับคนใกล้ชิดและทีมงานว่าเขาหรือเธอกำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีแนวโน้มสูงที่จะตัดสินใจลงสนามในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เช่น ส.ว. จากมลรัฐเซาท์แคโรไลนาอย่าง ทิม สกอตต์, อดีตรองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ และ คริส ซูนูนู ผู้ว่าการรัฐนิวแฮมป์เชียร์ 

 

แต่คู่แข่งคนสำคัญที่สุดของทรัมป์คงหนีไม่พ้นผู้ว่าการรัฐฟลอริดาคนปัจจุบันอย่าง รอน เดอซานติส ที่สร้างชื่อเสียงในหมู่ฐานเสียงของพรรครีพับลิกันจากการที่เขาเป็นหัวหอกในการต่อต้านนโยบายการบังคับใส่หน้ากากอนามัย การล็อกดาวน์ และการบังคับฉีดวัคซีนในช่วงที่มีการระบาดของโควิด 

 

นอกจากนั้นเดอซานติสยังมีชื่อเสียงในฐานะผู้ว่าการรัฐที่มีแนวคิดแบบอนุรักษนิยมสุดขั้วต่อเรื่องทางสังคม ด้วยการออกกฎหมายห้ามสอนเรื่องเพศทางเลือกแก่เยาวชน, การห้ามไม่ให้ผู้เยาว์ชมการแสดงของ Drag Queen, การห้ามไม่ให้สตรีข้ามเพศแข่งกีฬากับสตรีทั่วไป และการออกกฎหมายให้การทำแท้งหลัง 15 สัปดาห์เป็นสิ่งผิดกฎหมายในมลรัฐฟลอริดาของเขา ซึ่งแนวคิดทางสังคมของเขานี้มีความขวาจัดยิ่งกว่าทรัมป์ (ผู้ซึ่งค่อนข้างจะเปิดกว้างกับกลุ่ม LGBTQIA+ และไม่ค่อยอยากจะแตะต้องเรื่องการทำแท้งเท่าไร) และทำให้ฐานเสียงในกลุ่มขวาจัดมองว่าเดอซานติสอาจจะเป็นตัวเลือกที่มาขับเคลื่อนนโยบายทางสังคมได้ดีกว่าทรัมป์ด้วยซ้ำ

 

นอกจากนี้เดอซานติสยังอวดอ้างได้อีกว่า เขาจะเป็นผู้แทนพรรคที่แข็งแกร่งกว่าทรัมป์ในการเลือกตั้งทั่วไป ดังจะเห็นได้จากการที่เขาชนะการเลือกตั้งกลางเทอม ได้เป็นผู้ว่าการรัฐฟลอริดาสมัยที่ 2 โดยมีคะแนนทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเกือบ 20% ในขณะที่นักการเมืองในอาณัติของทรัมป์ต่างพากันพ่ายแพ้อย่างหมดรูป

 

คะแนนนิยมในโพลยังสูสี

ผลโพลในปีที่แล้วก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกลางเทอมระบุว่า คะแนนนิยมของทรัมป์ยังคงเป็นที่หนึ่งในทุกๆ โพล โดยที่ทรัมป์มีคะแนนอยู่ที่ราวๆ 50-60% โดยที่เดอซานติสตามมาอยู่ห่างๆ ในอันดับที่สองที่ราวๆ 25-30%

 

อย่างไรก็ดี ผลการสำรวจในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา หลังความพ่ายแพ้ของนักการเมืองในอาณัติของทรัมป์ในการเลือกตั้งกลางเทอม ได้ชี้ให้เห็นถึงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนไป เพราะโพลเกือบครึ่งหนึ่งพบว่าคะแนนของเดอซานติสได้ขึ้นมานำทรัมป์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของชาวพรรครีพับลิกันว่า พวกเขาเกรงว่ามนตร์เสน่ห์ของทรัมป์ที่เคยทำให้เขาชนะการเลือกตั้งในปี 2016 กำลังจะเลือนหายไปแล้ว

 

หรือถ้าเราไปดูผลโพลในระดับมลรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมลรัฐที่จะโหวตกันเป็นมลรัฐแรกๆ อย่างเช่นที่นิวแฮมป์เชียร์ เราก็จะพบว่าคะแนนของเดอซานติสนำทรัมป์ที่ 42% ต่อ 30% จากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐนิวแฮมป์เชียร์ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา

 

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม?

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่จำเป็นจะต้องได้คะแนนเสียงสูงถึง 50-60% เพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งขั้นต้น เพราะอย่างในกรณีของปี 2016 เขาก็ได้คะแนนเสียงอยู่ที่ราวๆ 35% เท่านั้น แต่เขาก็ชนะเลือกตั้งได้ เนื่องจากคะแนนเสียงของผู้ที่ไม่ต้องการให้ทรัมป์เป็นตัวแทนพรรคนั้นกระจัดกระจายไปอยู่กับผู้สมัครหลายราย เช่น มาร์โก รูบิโอ, เท็ด ครูซ และ จอห์น เคสิก ทำให้คู่แข่งของเขามีคะแนนเสียงกันเพียงคนละ 10-20% ซึ่งหากการเลือกตั้งรอบนี้มีผู้สมัครหลายคนแบบในปี 2016 ก็อาจจะทำให้เสียงของเดอซานติสถูกแย่งไปจนคะแนนของเขากลับมาแพ้ทรัมป์ก็ได้

 

ภาพ: Scott Eisen / Getty Images

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising