อินโดรามา หนึ่งในผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (Recycled Polyethylene Terephthalate หรือ PET) สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของโลก เผยสงครามการค้า (Trade war) การขึ้นภาษีอะลูมิเนียม และมาตรการตอบโต้ภาษีทรัมป์ ทำให้คนหันมาใช้สินค้า PET เพิ่ม
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้ผลิตวัสดุสำหรับผลิตขวด PET รายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังพิจารณากลับมาสร้างโรงงานในสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังถูกระงับการผลิตชั่วคราว
ปัจจุบัน บริษัทผลิต Polyethylene Terephthalat ซึ่งนอกจากจะใช้บรรจุเครื่องดื่มในร้านสะดวกซื้อแล้ว ยังใช้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น เสื้อผ้า และวัสดุพลาสติกอื่นๆ ในประเทศไทย จีน สหรัฐฯ เยอรมนี และอีก 27 ประเทศ
โดยสหรัฐฯ และทวีปอเมริกาที่เหลือเป็นตลาดสำคัญ คิดเป็น 7,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากรายได้รวม 15,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของบริษัทในปี 2567
อาลก โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Asia ว่า นโยบายกีดกันทางการค้าของทรัมป์อาจลดการนำเข้า PET จากประเทศผู้ผลิตหลักอื่นๆ โดยเฉพาะจีนได้ทันที แต่กำลังสร้างโอกาสให้กับอินโดรามา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตา 23 เม.ย. ไทยถึงคิวต่อรองภาษีทรัมป์ ย้อนดู 5 แนวทางเจรจา
- อินโดรามา เวนเจอร์ส ผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET อันดับ 1 ของโลก
- ‘อินโดรามา’ ปรับแผนครั้งใหญ่ ‘ปั๊มเงินสด-ลดหนี้’ หลังมาร์เก็ตแคปหาย 1 แสนล้านบาท
- หุ้น IVL วนลูป ราคาร่วงต่ำสุดรอบกว่า 3 ปี หลังขาดทุนหมื่นล้าน
นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกว่า การเก็บภาษีนำเข้าอะลูมิเนียม 25% จะทำให้ราคากระป๋องอะลูมิเนียมในสหรัฐฯ สูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มหันมาใช้ขวด PET มากขึ้น
“ผมมั่นใจมากว่าธุรกิจ PET กำลังเติบโตขึ้น” โลเฮียกล่าว
ดังนั้น อินโดรามาคาดว่าความต้องการ PET จะเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาษีของทรัมป์ จึงพิจารณาความเป็นไปได้ในการกลับมาดำเนินโครงการที่หยุดชะงักในรัฐเท็กซัสของสหรัฐฯ อีกครั้ง
“เรามีโครงการใหญ่อยู่แล้ว จึงพร้อมเดินเครื่องผลิตตามความต้องการ” เขากล่าว
ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม 2561 อินโดรามาได้ร่วมทุนกับบริษัทในสหรัฐฯ 2 แห่งเพื่อสร้างโรงงาน PET แห่งใหม่ในเท็กซัส โดยมีงบประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม ในเดือนกันยายน 2566 บริษัทได้ประกาศว่าจะระงับโครงการเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูง และการขาดแคลนแรงงาน แม้การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว 80% และได้ใช้งบประมาณไปแล้ว 1.7 พันล้านดอลลาร์
“เราสามารถฟื้นโครงการนี้ได้ หากเรามั่นใจว่าปัญหาภาษีศุลกากรนี้จะเกิดขึ้นในระยะยาว” เขากล่าวโดยไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาที่ชัดเจน
เขากล่าวเสริมอีกว่า อินโดรามาและพันธมิตรร่วมทุนจะใช้เงินที่เหลือ 600 ล้านดอลลาร์เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ โครงการในเท็กซัสจะมีกำลังการผลิต PET 1.1 ล้านตันต่อปีและกรดเทเรฟทาลิกบริสุทธิ์ (PTA) 1.3 ล้านตันต่อปีสำหรับบรรจุภัณฑ์โพลีเอสเตอร์ สิ่งทอ และชิ้นส่วนรถยนต์ ตามแผนเดิมของบริษัท
สำหรับอินโดรามา เวนเจอร์ส ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET ป้อนห่วงโซ่อุปทานที่หลากหลายซึ่งครอบคลุมตลาดทุกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แอฟริกา ยุโรป และอเมริกา จนบริษัทก้าวขึ้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม และอินโดรามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย (SET) โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ 112,900 ล้านบาท (3,400 ล้านดอลลาร์)
นักวิเคราะห์มองว่าภาษีนำเข้าของทรัมป์เป็นผลดีต่ออินโดรามา ซึ่งเป็น “ผู้ชนะเพียงรายเดียวของภาษี ‘ตอบแทน’ ของทรัมป์”
สุวัฒน์ สินสาฎก นักวิเคราะห์จาก Globlex Securities มองว่า บริษัทมีกำลังการผลิตขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ อยู่แล้ว “เราคาดว่าราคา PET ในตลาดสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นตามการขึ้นภาษีนำเข้า”
อย่างไรก็ตาม อินโดรามาขาดทุนสุทธิ 19,200 ล้านบาทในปี 2567 เพิ่มขึ้นจากขาดทุนสุทธิ 10,700 ล้านบาทในปีก่อนหน้า เนื่องจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโลกยังคงถูกกดดันจากต้นทุนที่สูงขึ้นและอยู่ในช่วงวัฏจักรขาลง
ปัจจุบัน อินโดรามาได้จัดสรรงบลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุน ระยะ 3 ปีจนถึงปี 2570 โดยสัดส่วน 10% ของงบลงทุนทั้งหมดจะจัดสรรให้กับตลาดอเมริกา และอีกประมาณ 65% ให้กับอินเดียและแอฟริกา
โลเฮียกล่าวว่า เขาจะติดตามความคืบหน้าของการเจรจาภาษีศุลกากรระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ อย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนใหม่ในอเมริกาและตลาดอื่นๆ
“ยังมีอีกเวลาช่วง 90 วัน ที่จะรอดูว่าการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ จะเป็นอย่างไร ซึ่งผลลัพธ์ของการเจรจาจะเป็นแนวทางให้บริษัทปรับกลยุทธ์ในที่สุด”
ภาพ: Kingwu / Getty Images
อ้างอิง: