×

ทรัมป์ 2.0 เปิดศึกเวียดนามและไทย: ใครเจ็บกว่ากัน

16.02.2025
  • LOADING...
ทรัมป์ 2.0

รัฐบาล โดนัลด์ ทรัมป์ ในสมัยที่สอง เร่งเดินหน้าใช้มาตรการภาษีกีดกันการค้ากับประเทศต่างๆ แบบไม่แคร์เพื่อน ไม่สนใคร เน้นปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ตามที่หาเสียงไว้ ทรัมป์ขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมจากทั่วโลก 25% และยิงตรงขึ้นภาษีกับสินค้าจีน 10% ฝ่ายจีนก็ตอบโต้กลับขึ้นภาษีน้ำมันดิบและอีกหลายสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 10-15% สงครามการค้าเริ่มแล้ว แน่นอนว่าไม่มีใครไม่เจ็บ แม้ว่าจะกระทบผู้ผลิต/ผู้ส่งออกของประเทศเป้าหมาย แต่ในส่วนของสหรัฐฯ เอง ผู้บริโภคอเมริกันก็เจ็บ เนื่องจากต้องจ่ายราคาสินค้าบวกภาษีที่แพงขึ้นเช่นกัน 

 

นอกจากคู่ชกหลักของสหรัฐฯ อย่างจีนแล้ว คาดว่าในอีกไม่นานน่าจะถึงคิวของทั้งเวียดนามและไทย เนื่องจากทั้งสองประเทศถูกจัดอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญทั้งสองประเทศไม่มีอำนาจทางเศรษฐกิจมากพอที่จะไปต่อรองหรือต่อต้านมาตรการภาษีของทรัมป์ บทความนี้จึงจะวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบว่า เวียดนามและไทย ใครมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันของทรัมป์มากกว่ากัน 

 

ในภาพรวมทั้งเวียดนามและไทยต่างก็พึ่งพาภาคต่างประเทศและพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ แต่มีโครงสร้างเศรษฐกิจและรูปแบบการพึ่งพาที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ระดับความเสี่ยงที่แต่ละประเทศจะได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป จึงแบ่งการวิเคราะห์ออกไปในแต่ละประเด็น ดังนี้

 

ประการแรก ด้านการพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศ พบว่า เวียดนามมีอัตราพึ่งพาภาคการค้าต่างประเทศ Trade-to-GDP สูงมากประมาณ 200% ในขณะที่ไทยมีอัตรา Trade-to-GDP ประมาณ 110% ซึ่งแม้ว่าจะสูงแต่ก็ต่ำกว่าเวียดนาม จึงสะท้อนว่าเศรษฐกิจเวียดนามพึ่งพาการค้าโลกมากกว่าไทย ย่อมมีความเสี่ยงที่จะเจ็บมากกว่าหากเกิดสงครามการค้าในวงกว้าง

 

ในแง่โครงสร้างสินค้าส่งออก เวียดนามพึ่งพาการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และรองเท้า (ประมาณ 70% ของการส่งออก) ซึ่งเป็นสินค้าที่อ่อนไหวต่อความผันผวนของห่วงโซ่อุปทานของโลก ในขณะที่ไทยพึ่งพาการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเกษตรกรรม (เช่น ยางพารา ข้าว) ซึ่งมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรและอุปสงค์รถยนต์

 

นอกจากนี้ เวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกต่อ GDP สูงกว่าไทย ประมาณ 93% ของ GDP เวียดนาม (ตัวเลขปี 2022) เมื่อเทียบกับดัชนีเดียวกันของไทย อยู่ที่ประมาณ 58% ของ GDP ไทย จึงสะท้อนว่าเวียดนามเสี่ยงต่อความผันผวนของอุปสงค์โลกมากกว่า 

 

ดังนั้นหากต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันของรัฐบาลทรัมป์ หรือเกิดสงครามการค้ารอบใหม่ การค้าโลกชะลอตัว เวียดนามย่อมจะได้รับผลกระทบหนักกว่าไทย

 

ประการที่สอง ด้านการพึ่งพาตลาดส่งออกหลัก พบว่า ทั้งเวียดนามและไทยต่างพึ่งพาตลาดหลักใกล้เคียงกัน (สหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป) ที่สำคัญเวียดนามพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ด้วยสัดส่วนสูงประมาณ 28% ของการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ไทยพึ่งพาการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ สัดส่วน 17% ดังนั้นหากรัฐบาลทรัมป์ขึ้นภาษีกีดกันการค้าในอัตราสูง ใครพึ่งพาสหรัฐฯ มากก็จะเจ็บมาก ย่อมทำให้เวียดนามได้รับผลกระทบหนักกว่าไทย นอกจากนี้เวียดนามอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มากอันดับ 3 (มากกว่าไทย) ย่อมจะมีความเสี่ยงมากกว่า 

 

ประการที่สาม ด้านการพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) พบว่า มูลค่าของการลงทุน FDI ในเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 6-8% ของ GDP เวียดนาม ในขณะที่ไทยมีการลงทุน FDI คิดสัดส่วนประมาณ 3-4% ของ GDP ไทย ทำให้เวียดนามพึ่งพาการลงทุน FDI มากกว่าไทย และ FDI ในเวียดนามส่วนใหญ่เน้นการผลิตเพื่อการส่งออก เศรษฐกิจเวียดนามจึงมีความเสี่ยง หากผลของมาตรการทรัมป์ 2.0 ทำให้การค้า/การลงทุนชะลอตัว หรือมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่ย้ายฐานได้ง่าย

 

นอกจากนี้ เวียดนามพึ่งพาการลงทุนจากบริษัทอเมริกันหลายแห่ง ทั้งกลุ่มบิ๊กเทค เช่น Intel และ Apple และกลุ่มอื่นๆ เช่น Nike หากบริษัทเหล่านี้ย้ายฐานผลิต/ชะลอไม่ขยายการผลิต เนื่องด้วยนโยบายของทรัมป์ที่จะดึงการลงทุนกลับไปสหรัฐฯ เพื่อจ้างงานคนอเมริกัน ก็ย่อมสร้างความไม่แน่นอนด้าน FDI ในเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่นๆ ของเศรษฐกิจเวียดนาม 

 

ในแง่โครงสร้าง FDI พบว่า การลงทุน FDI ในเวียดนามส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น สมาร์ทโฟน) ซึ่งเชื่อมโยงผูกพันกับห่วงโซ่ระดับโลกมากกว่ากรณีของ FDI ในไทยที่ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ รวมทั้งภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และการเงิน ดังนั้นหากมาตรการของทรัมป์ 2.0 มีผลทำให้กระแส FDI เปลี่ยนทิศ การลงทุนของต่างชาติในเวียดนามอาจจะชะลอตัว และกระทบเวียดนามมากกว่าไทย 

 

ที่สำคัญเวียดนามกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่แข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐฯ เวียดนามเป็นฐานผลิตสำคัญของจีน หากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนรุนแรงขึ้น เวียดนามย่อมมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการเชื่อมโยงกับสองมหาอำนาจ

 

ประการที่สี่ ด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) แม้ว่าจะเป็นปัจจัยที่ไม่ใช่ด้านเศรษฐกิจโดยตรง แต่ก็มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เวียดนาม โดยเฉพาะความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Importance) ของเวียดนามในสายตาสหรัฐฯ เพื่อใช้คานอำนาจจีน สหรัฐฯต้องการ ‘สร้างความเป็นมิตร’ กับเวียดนาม เพื่อสกัดอิทธิพลจีน รัฐบาลไบเดนเพิ่งจะยกระดับความสัมพันธ์สหรัฐฯ-เวียดนามขึ้นเป็น ‘หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ในทุกด้าน’ (Comprehensive Strategic Partnership) เวียดนามจึงมีความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับสหรัฐฯ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์อาจจะเบามือ/ไม่ขึ้นภาษีอย่างหนักหน่วงกับเวียดนาม เพราะไม่ต้องการผลักให้เวียดนามยิ่งเอนเอียงไปพึ่งพาจีน

 

นอกจากนี้ทรัมป์ยังมีผลประโยชน์ทางธุรกิจส่วนตัวในเวียดนามผ่านการลงทุนของครอบครัวทรัมป์ (Trump Organization) ในโครงการลงทุนมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสร้างสนามกอล์ฟและโรงแรมในเมืองบ้านเกิดของ โต เลิม เลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงฮานอย

 

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าหลังจากที่สหรัฐฯ สถาปนาความสัมพันธ์กับเวียดนามตั้งแต่ปี 1995 ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ทุกคน (บิล คลินตัน, จอร์จ บุช, บารัก โอบามา, ทรัมป์ และ โจ ไบเดน) ต่างก็เดินทางไปเยือนเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประธานาธิบดีทรัมป์ในสมัยแรกเดินทางไปเวียดนามบ่อยถึง 2 ครั้ง 

 

การเปรียบเทียบความเสี่ยงจากผลกระทบของทรัมป์ 2.0 ต่อเวียดนามและไทย สรุปในตาราง

 

ตารางสรุปความเสี่ยงของผลกระทบทรัมป์ 2.0 ต่อเวียดนามและไทย

 

 

 

 

โดยสรุป รัฐบาลทรัมป์ในสมัยที่สองทำให้ทั้งไทยและเวียดนามต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันการค้า ความตึงเครียดทางการค้า ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และปัจจัยที่ไม่แน่นอนอื่นๆ

 

ในแง่เศรษฐกิจ เวียดนามมีความเสี่ยงมากกว่าไทย เนื่องจากเวียดนาม (1) มีการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนของต่างชาติ FDI ในสัดส่วนสูงกว่า (2) มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมแปรรูปซึ่งเชื่อมโยงกับห่วงโซ่โลกที่เปราะบาง (3) มีความอ่อนไหวต่อความขัดแย้งทางการค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานมากกว่า ดังนั้นหากเกิดสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น การค้า/การลงทุนชะลอตัว เวียดนามย่อมจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหนักกว่าไทย 

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ เวียดนามมีความสำคัญเป็นพิเศษในสายตาสหรัฐฯ และทรัมป์ไม่ต้องการผลักเวียดนามให้เอนเอียงไปหาจีน ดังนั้นเพื่อรักษาความเป็นมิตรกับเวียดนาม ทรัมป์อาจจะไม่เก็บภาษีในอัตราที่สูงมาก และไม่ใช้มาตรการกีดกันการค้ากับเวียดนามที่รุนแรงมากเกินไป

 

สำหรับบทเรียนจากความเสี่ยงของสงครามการค้าครั้งใหม่ ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และกระจายความเสี่ยง เร่ง Diversify กระจายตลาดส่งออกใหม่ๆ ให้มากขึ้น หันมาค้าขายกันเองในประเทศเอเชีย และประเทศในภูมิภาคโลกขั้วใต้ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ/มีกำลังซื้อมากขึ้น พร้อมกันนี้ จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งจากภายในอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก เร่งสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง (เช่น เน้นเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการผลิต และส่งเสริมการลงทุนด้านเทคโนโลยีและพัฒนานวัตกรรม) เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

ภาพ: Kevin Lamarque / Reuters, motioncenter via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising