×

เปิดโรดแมปทรัมป์ 2.0: การเนรเทศครั้งใหญ่ ภาษี ยูเครนและอิสราเอล นโยบายที่อาจได้เห็นในปี 2025

16.12.2024
  • LOADING...
trump-2-0-roadmap-2025-policies

โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไปต่อจาก โจ ไบเดน โดยจะเริ่มนับหนึ่งยุคทรัมป์ 2.0 อย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม พร้อมกับชุดนโยบายที่เขาพร้อมจะเดินหน้าผลักดันให้เป็นจริงตามที่หาเสียง ตั้งแต่ช่วง 100 วันแรกของการนั่งทำงานในทำเนียบขาว รวมถึงตลอด 1 ปีแรกในเทอมที่ 2 ของเขา

 

การที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย รวมถึงพิชิตรัฐสมรภูมิทั้ง 7 สนาม และเป็นผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันคนแรกในรอบ 20 ปีที่สามารถเอาชนะคะแนนดิบหรือ Popular Vote เหนือผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตนั้น ทำให้ทรัมป์มีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าได้รับความไว้วางใจจากชาวอเมริกันเต็มที่

 

ยิ่งไปกว่านั้น พรรครีพับลิกันของเขายังพลิกกลับมาครองเสียงข้างมากทั้งที่สภาผู้แทนราษฎร (220 ที่นั่ง) และวุฒิสภา (53 ที่นั่ง) ทำให้เขาสามารถที่จะผ่านกฎหมายและงบประมาณต่างๆ ได้ตามที่ต้องการ โดยที่พรรคเดโมแครตไม่มีเสียงมากพอที่จะหยุดยั้งความต้องการของเขาในสภาคองเกรส อย่างน้อยก็ในช่วง 2 ปีแรก ก่อนจะถึงการเลือกตั้งกลางเทอม

 

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปวิเคราะห์ถึงนโยบายหลักที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้ และความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงในช่วงปีแรกภายใต้รัฐบาลสมัยที่ 2 ของเขา

 

การเนรเทศครั้งใหญ่

 

ทรัมป์ให้คำมั่นสัญญาไว้ว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดีอีกรอบจะกวาดล้างผู้ลักลอบเข้าเมืองมาทำงานอย่างผิดกฎหมายครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกใจฐานเสียงกลุ่มชนใช้แรงงานผิวขาวของเขามาก เพราะฐานเสียงของเขามองว่าผู้ลักลอบเข้าเมืองมาทำงานอย่างผิดกฎหมายเหล่านี้คือผู้มาแย่งงานและทำให้ค่าจ้างของพวกเขาต้องตกต่ำลง

 

อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายนี้อาจทำได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะประมาณการกันว่าในปัจจุบันมีผู้ลักลอบเข้าเมืองมาทำงานอย่างผิดกฎหมายในสหรัฐฯ จำนวนหลายล้านคน ทำให้รัฐบาลของทรัมป์ไม่น่าจะมีจำนวนเจ้าหน้าที่เพียงพอที่จะไปจับกุมผู้ลักลอบเข้าเมืองเหล่านี้ได้หมด รวมถึงค่าใช้จ่ายและปัญหาทางโลจิสติกส์ในการที่จะเนรเทศกลุ่มคนเหล่านี้กลับคืนประเทศตัวเอง

 

ยิ่งไปกว่านั้น แรงงานผิดกฎหมายเหล่านี้กลายเป็นแรงงานหลักของหลายกลุ่มธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเกษตรและการบริการ (ที่มีรายได้ต่ำและชาวอเมริกันเองไม่นิยมที่จะทำ) การเนรเทศครั้งใหญ่อาจทำให้ธุรกิจหลายชนิดไม่สามารถดำเนินการต่อได้ จนส่งผลเสียหายต่อห่วงโซ่อุปทานและเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจตามมา

 

ลดภาษี

 

หนึ่งในนโยบายที่เป็นที่ถูกอกถูกใจฐานเสียงกลุ่มชนใช้แรงงานผิวขาวของทรัมป์คือนโยบายยกเลิกการเก็บภาษีจากรายได้ในรูปแบบของทิปส์ ซึ่งทำให้เขาได้ภาพความเป็นฮีโร่ของผู้ใช้แรงงาน นโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั้ง สส. และ สว. ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งก็น่าจะทำให้กฎหมายนี้ผ่านทั้งสองสภาได้อย่างไม่ยากเย็น

 

นอกจากการลดภาษีเพื่อเอาใจฐานเสียงของพรรคแล้ว ทรัมป์ก็ยังมีนโยบายจะต่ออายุการลดภาษีนิติบุคคลของบริษัท ที่เขาผ่านเป็นกฎหมายไว้ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรกและจะหมดอายุในปี 2028 ซึ่งนี่ก็เป็นนโยบายที่ถูกอกถูกใจบรรดานายทุนของพรรค

 

กำแพงภาษี

 

อีกนโยบายหลักที่ทรัมป์หาเสียงไว้คือการตั้งกำแพงภาษีนำเข้า (Tariff) โดยเฉพาะกับคู่ค้าหลักอย่างแคนาดา เม็กซิโก และจีน ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ หลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ทรัมป์มองว่าการตั้งกำแพงภาษีจะเป็นการช่วยปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ อันจะเป็นการเพิ่มการจ้างงาน และทรัมป์จะเอาภาษีนำเข้านี้มาเป็นรายได้ทดแทนภาษีรายได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาที่เขาจะลดดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

อย่างไรก็ดี การตั้งกำแพงภาษีนี้จะส่งผลกระทบตามมามากมายอย่างแน่นอน อย่างแรกเลยก็คือชาวอเมริกันจะต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้น เพราะผู้นำเข้าย่อมต้องขึ้นราคาสินค้าเพื่อชดเชยกับภาษีที่จ่ายออกไป นั่นจะทำให้ปัญหาข้าวยากหมากแพงที่ชาวอเมริกันกำลังประสบอยู่นั้นแย่ลงกว่าเดิม นอกจากนั้น ประเทศคู่ค้าก็คงไม่ยอมให้สหรัฐฯ กระทำอยู่เพียงฝ่ายเดียว และคงจะตั้งกำแพงภาษีกลับไปบ้าง จนทำให้ธุรกิจส่งออกของสหรัฐฯ มีปัญหาได้

 

ว่ากันตามจริง นโยบายกำแพงภาษีนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด ทรัมป์เคยหาเสียงด้วยนโยบายนี้ตั้งแต่ปี 2016 แต่เมื่อเขาชนะการเลือกตั้งก็ไม่สามารถทำได้จริงทั้งหมดในการเป็นประธานาธิบดีในสมัยแรก เพราะประเทศคู่ค้าขู่จะตั้งกำแพงภาษีคืนอย่างที่กล่าวไปในข้างต้น

 

ยูเครนและอิสราเอล

 

ทรัมป์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของไบเดนมาตลอดว่าให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการทหารกับยูเครนมากเกินไป เขามองว่าสหรัฐฯ ไม่ควรทำตัวเป็นตำรวจโลกไปยุ่งวุ่นวายกับความขัดแย้งของคนอื่น (หรือที่เรียกกันว่าแนวคิดแบบ Isolationism) การไปช่วยเหลือยูเครนจึงเป็นเรื่องของความสิ้นเปลืองที่สหรัฐฯ ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรตอบแทนกลับมา

 

ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าเราอาจได้เห็นการยุติสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย โดยที่ยูเครนจำเป็นต้องกลืนเลือด ยอมสูญเสียดินแดนบางส่วนให้รัสเซียตามที่ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียต้องการ เพราะยูเครนจะไม่มีลูกพี่ใหญ่อย่างสหรัฐฯ ให้การหนุนหลังต่อไปอีกแล้ว

 

ในทางตรงข้าม เราอาจได้เห็นการสนับสนุนอิสราเอลที่มากขึ้นจากรัฐบาลของทรัมป์ ทรัมป์เองนั้นหาเสียงไว้กลางๆ ว่า เขาจะนำสันติภาพมาสู่ตะวันออกกลาง แต่รัฐมนตรีที่เขากำลังจะแต่งตั้งนั้นเป็นสายโปรอิสราเอลอย่างเต็มตัว เช่น มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พีท เฮกเซธ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ เอลลิส สเตฟานิก ผู้แทนประจำองค์การสหประชาชาติ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่ารัฐบาลของทรัมป์จะให้ท้ายรัฐบาลของ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล มากกว่ารัฐบาลของไบเดน จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์มากกว่าเดิม

 

อนึ่ง การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มตัวนั้นไม่ถือว่าเป็นการละเมิดหลัก Isolationism ของทรัมป์แต่อย่างใด เพราะในสหรัฐฯ นั้นมีชาวอเมริกันเชื้อสายยิวหลายล้านคน ซึ่งการช่วยเหลืออิสราเอลก็เหมือนเป็นการช่วยเหลือญาติพี่น้องของชาวอเมริกันกลุ่มนี้ ซึ่งถือว่ามีอิทธิพลต่อทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครต ทั้งในฐานะโหวตเตอร์และนายทุนของพรรค

 

ภาพ: Allison Robbert / Pool / AFP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising