ดร.ปุณยวัจน์ ศรีสิงห์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า SCB EIC ปรับลดประมาณการการขยายตัวของ GDP ในปี 2025 ของไทยลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.7% เหลือ 2.4% โดยปัจจัยหลักที่กดดันคือผลกระทบจากนโยบายในยุค Trump 2.0 หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าดำรงประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่อย่างเป็นทางการในปีหน้า ซึ่งจะดำเนินนโยบายโดยเฉพาะการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าที่จะกดดันภาคการค้า การลงทุนของโลก
โดยประเมินว่านโยบายในยุค Trump 2.0 จะสร้างผลกระทบต่อการส่งออก การค้า การลงทุน ระหว่างประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยให้มีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้น SCB EIC ปรับลดประมาณการการอัตราขยายตัวของการส่งออกในปี 2025 ของไทยลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.8% เหลือ 2% อีกทั้งนักลงทุนบางส่วนน่าจะยังชะลอการลงทุน เพื่อรอติดตามความชัดเจนจากนโยบายของทรัมป์หลังเข้าดำรงประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ด้านประเด็นเศรษฐกิจของจีนคาดว่าจะโดนผลกระทบจากนโยบายในยุค Trump 2.0 ค่อนข้างมาก แต่สถานการณ์เศรษฐกิจจีนในยุค Trump 2.0 ถือว่าต่างจากในยุค Trump 1.0 ค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันจีนลดการพึ่งพาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก โดยหันไปส่งออกสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าอัตราการเติบโตในอดีต
จับตายุค Trump 2.0 สินค้าจีนทะลักเข้าไทยรุนแรงขึ้น
ประเมินว่าผลกระทบจากนโยบายในยุค Trump 2.0 จะสร้างผลกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีนด้วยเช่นกัน โดยสถานการณ์นี้จะเปลี่ยนแปลงจากในอดีตที่ไทยได้รับประโยชน์จากยุคที่สหรัฐฯ ทำสงครามการค้า (Trade War) กับจีน แต่ปัจจุบันจีนส่งออกสินค้ามายังไทยค่อนข้างสูง ดังนั้นการที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยกดดันให้จีนจำเป็นต้องหาตลาดใหม่เป็นแหล่งเร่งระบายสินค้าส่งออกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายตลาดหลักของจีนคือไทย จึงมีความเสี่ยงที่ไทยจะเผชิญกับภาวะสินค้านำเข้าจากจีนทะลักเข้ามาค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ไทยยังมีความเสี่ยงที่จะส่งออกได้ยากขึ้น เนื่องจากเผชิญกับกำแพงภาษีที่เพิ่มสูงขึ้นจากสหรัฐฯ รวมทั้งการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นจากประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่ง จึงมองว่าจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการภาคเอกชนส่วนใหญ่ของไทย
ทั้งนี้ มีความเสี่ยงที่จะเห็นภาพการส่งออกสินค้าจากจีนทะลักเข้ามาตีตลาดไทยรุนแรงและชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้หลายกลุ่มสินค้าของไทยแข่งขันกับสินค้าจากจีนที่นำเข้ามาไม่ได้ เช่น เหล็ก ปิโตรเคมี และพลาสติก
อีกทั้งยังมีผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงต่อผู้ผลิตและส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้า เช่น แผงวงจร เซมิคอนดักเตอร์ ที่อยู่ในซัพพลายเชนของจีน โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐฯ สั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากจีน
“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีหน้าแน่นอนว่ามีผลกระทบเชิงลบทั่วโลก การค้า การลงทุนของโลกจะชะลอตัว ส่วนไทยในรอบนี้ก็จะลำบากด้วย เพราะจะโดนผลกระทบผ่านการค้าที่ชะลอตัว ส่วนการลงทุนก็อาจดีเลย์ออกไปจากความไม่แน่นอนจากนโยบายของทรัมป์ สุดท้ายคือภาคการผลิตของไทยที่จะฟื้นตัวและเติบโตได้ช้าลงไปอีก เนื่องจากจะมีผลกระทบจากสินค้าของจีนที่ทะลักเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้นจากเดิมและรุนแรงขึ้น”
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมของไทยที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของทรัมป์ยังมีบ้างแต่มีสัดส่วนไม่มาก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เช่น กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคลังสินค้า และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลประโยชน์เชิงบวกจากการย้ายฐานการผลิตจากหลายประเทศมายังไทย
สัญญาณเงินเฟ้อโลกเสี่ยงเร่งตัวขึ้น
ขณะที่ประเมินว่าการดำเนินนโยบายในยุค Trump 2.0 ยังไม่ง่ายและอาจเผชิญความท้าทายหลายด้านมากกว่าในสมัยแรกที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยสาเหตุมาจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งปัจจัยอัตราเงินเฟ้อของโลก ประกอบกับนโยบายการเงินที่อัตราดอกเบี้ยของโลกอยู่ในระดับค่อนข้างสูงกว่าเดิม ส่งผลให้นโยบายการค้าหรือนโยบายการตั้งกำแพงภาษีมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อให้มีโอกาสเร่งตัวขึ้นได้ค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงมีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อในยุค Trump 2.0 จะอยู่ในระดับสูงกว่ายุค Trump 1.0
ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวต่อว่า ประเมินว่าทรัมป์จะยังไม่ใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบสุดโต่งตามที่เคยประกาศไว้ว่าจะปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในอัตรา 60% ในสินค้าทุกประเภทหรือจัดเก็บภาษีแบบทันที โดยประเมินว่าทรัมป์น่าจะประกาศนโยบายกำแพงภาษีสินค้านำเข้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20% กับจีน และใช้กำแพงภาษีเฉลี่ยอีก 10% กับประเทศคู่ค้าอื่นๆ ทั่วโลก
ขณะที่ประเทศที่เป็นคู่ค้าของสหรัฐฯ ก็จะตอบโต้โดยการปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ เช่นเดียวกันในอัตราเฉลี่ยประมาณ 10%
การบริโภคของไทยในปีหน้าเสี่ยงชะลอตัว เหตุหนี้ครัวเรือนยังสูง
นอกจากนี้ ประเมินว่าการบริโภคภายในประเทศในปี 2025 จะยังชะลอตัวจากผลกระทบของระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบัน หากมองในเชิงตัวเลขมองว่าเป็นขาลง หรือสัดส่วนหนี้ต่อ GDP กำลังอยู่ในแนวโน้มขาลง อีกทั้งมีโอกาสที่จะเห็นแนวโน้มดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025
อย่างไรก็ดี หากดูรายละเอียดจะพบว่าการลดลงของหนี้ครัวเรือนต่อ GDP มาจากหลายสาเหตุ ทั้งการก่อหนี้ที่ลดลง หรือ GDP ที่มีแนวโน้มเติบโตได้เร็วขึ้น แต่สาเหตุที่หนี้ครัวเรือนลดลงในรอบนี้มาจากหนี้ใหม่ที่ไม่เติบโต โดยยอดหนี้คงเหลือของไทยในขณะนี้ขยายตัวเติบโตต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือขยายตัวเพียงระดับ 1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 สะท้อนว่ามีการเข้าถึงสินเชื่อหรือพิจารณาปล่อยสินเชื่อน้อยลง ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อหลายประเภทของธนาคารพาณิชย์ลดลงต่อเนื่อง
พร้อมประเมินว่าภาพของเศรษฐกิจไทยในปี 2025 ยังฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศที่ลดลงส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจช้าลง ขณะที่ล่าสุดเครดิตบูโรรายงานตัวเลขหนี้เสียหรือ NPL ในไตรมาส 3 ออกมาที่ระดับ 8.8% ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ความตึงตัวหรือความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อจะยังคงน้อยลงอย่างต่อเนื่อง
“สิ่งที่เรากลัวคือหนี้ในระบบลดจริง แต่เป็นการลดลงแบบที่สุขภาพไม่ค่อยดี ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงไปด้วย”
สำหรับ GDP ของไทยในไตรมาส 3 ค่อนข้างดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการบริโภคภาคเอกชนรวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้ดี
ดร.ปุณยวัจน์ กล่าวต่อว่า ประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2025 จะมีปัจจัยบวกจากการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการใช้จ่ายเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการบริโภคจากภาครัฐจะยังสามารถขยายตัวได้ค่อนข้างดี
ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนในปี 2024 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตติดลบ แต่คาดว่าในปี 2025 จะยังขยายตัวกลับมาเป็นบวกได้บ้าง โดยสาเหตุหลักมาจากยอด BOI ที่มีตัวเลขเติบโตขึ้นเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นจึงคาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในปีหน้าค่อนข้างดี
ส่วนการลงทุนในภาครัฐที่ชะลอตัวไปก่อนหน้านี้เริ่มกลับมาสามารถเบิกจ่ายได้ปกติมากขึ้น หลังจากมีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ประกอบกับภาคการส่งออกในไตรมาส 3 ขยายตัวได้ค่อนข้างดี โดยปัจจัยหนุนที่ดีขึ้นค่อนข้างชัดเจนคือการลงทุนจากภาครัฐและภาคการส่งออก และน่าจะยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่องในไตรมาส 4
ดังนั้น SCB EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จากเดิมที่ประเมินว่าจะอยู่ที่ระดับ 2.5% เป็น 2.7% โดยสาเหตุหลักมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการแจกเงิน 10,000 บาทในช่วงไตรมาส 3 อีกทั้งน่าจะยังมีผลลัพธ์ต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4
ภาพ: Phil Mistry / Shutterstock