ทุกวันนี้เราใช้ ‘e-Wallet’ บ่อยและถี่แค่ไหนในแต่ละวัน
ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า เดือนมีนาคม 2562 การทำธุรกรรมประเภทเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money มีจำนวนอยู่ที่ประมาณ 166,793,000 ครั้ง เพิ่มขึ้น 43% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (หมายเหตุ: นับรวมธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) แต่ไม่รวมบัตรประเภท Top Up)
หากมองในเชิงภาพรวมจะพบว่า คนไทยในวันนี้ยังคงนิยมใช้ ‘เงินสด’ ทำธุรกรรมเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 90% ขณะที่สัดส่วนการทำธุรกรรมออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น แต่แนวโน้มการขยายตัวของเทรนด์โดยรวมยังอยู่ในทิศทางที่ดี
หนึ่งในผู้เล่นที่อยู่ในสังเวียน e-Payment มานานกว่า 16 ปี (ก่อตั้งบริษัทปี 2546) มีฐานผู้ใช้งาน e-Wallet มากสุดในไทยที่ 8.4 ล้านราย (เฉลี่ยทั้งปี) และมียอดดาวน์โหลดแอปฯ มากกว่า 19.8 ล้านครั้ง คือ ‘TrueMoney Wallet’ โดยปัจจุบันให้บริการครอบคลุม 6 ประเทศ นับรวมกัมพูชา, เวียดนาม, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย (ส่วนใหญ่ในประเทศอื่นๆ ให้บริการในฐานะเอเจนต์รับจ่ายบิล, โอนและถอนเงิน)
ความจริงแล้ว TrueMoney Wallet เพิ่งจะเริ่มประเดิมให้บริการ ‘กระเป๋าสตางค์ออนไลน์’ ในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2016 หรือ 3 ปีที่แล้วโดยแอสเซนด์ มันนี่ จำกัด บริษัทภายใต้การร่วมทุนระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (C.P. GROUP) และ Ant Financial (Alipay) จากจีน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้ TrueMoney ได้ Role Model ที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบในการทำแคมเปญและฟีเจอร์ต่างๆ
ข้อมูลที่น่าสนใจในเชิงอินไซต์ผู้ใช้งานพบว่า คนใช้ TrueMoney Wallet ส่วนใหญ่ในวันนี้อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเท่าๆ กันที่ 51% และ 49% ตามลำดับ เป็นผู้ชาย 51% ผู้หญิง 49% อายุเฉลี่ย 27 ปี (กว่า 29% ของฐานผู้ใช้งานอยู่ในช่วงอายุ 22-29 ปี) โดยที่ 37% เป็นกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและ First Jobber
นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ทรู มันนี่ จำกัด ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ TrueMoney Wallet มีอัตราการเติบโตในเชิงการใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ เดือนจนทุกวันนี้มีจำนวนการทำธุรกรรมเกิดบนแพลตฟอร์มเฉลี่ย 8.8 ครั้ง/คน/เดือน มีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ย (Basket Size) อยู่ที่ 250-300 บาท/คน เป็นผลจากความนิยมของ 3 บริการหลัก ได้แก่ การเติมเงิน-ซื้อแพ็กเกจมือถือ, การซื้อดิจิทัล คอนเทนต์ และการใช้จ่ายที่ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven (30% ของผู้ใช้งานคือกลุ่มที่ไม่ได้ใช้บริการของ TrueMove)
โดยเฉพาะ 7-Eleven ที่เริ่มให้บริการเป็นช่องทางชำระเงินครั้งแรกปี 2560 แต่ถือเป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นชั้นดีที่ช่วยดึงดูดให้คนมาใช้งาน TrueMoney Wallet กันเพิ่มขึ้นคิดเป็นอัตราการเติบโตในเชิงการใช้งานเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 61%
ด้านกลยุทธ์หลักๆ ที่ TrueMoney Wallet จะเน้นต่อจากนี้คือการเดินหน้าสร้างพันธมิตรกับพาร์ตเนอร์กลุ่มออฟไลน์ ร้านค้าในกลุ่มรีเทล, 7-Eleven, ร้านอาหารชั้นนำหรือร้านโชห่วย โดยจะเร่งเพิ่มจำนวนจุดรับชำระในปัจจุบันของไทยจาก 200,000 จุดเป็น 300,000 จุดให้ได้ภายในสิ้นปี พร้อมๆ กับขยายความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ออนไลน์ในกลุ่มผู้ให้บริการดิจิทัล คอนเทนต์ และการเพิ่มช่องทางการเติมเงิน
ซึ่งในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา TrueMoney Wallet ได้เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถผูกบัตรเครดิตหรือเดบิตของ Visa, Mastercard และ JCB ได้แล้ว เพื่อแก้เพนพอยต์สำหรับคนที่ไม่ต้องการเติมเงินทิ้งไว้ใน Wallet โดยสามารถใช้จ่ายขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 20 บาท (ในอนาคตจะปรับให้ตัวเลขการทำธุรกรรมเริ่มต้นถูกกว่าเดิม)
อีกหนึ่งเป้าหมายใหญ่ของ TrueMoney Wallet ในปีนี้นอกจากการขยายจุดรับชำระยังรวมถึงการเร่งเติมฐานผู้ใช้งานจาก 8.4 ล้านราย เป็น 14 ล้านราย และการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในกลุ่มสินเชื่อรายย่อยและบริการ Lending ในอนาคต ทั้งบริการยืมเงินผ่านมือถือ (Hero Cash), Personal Loan ยืมเงินซื้อมือถือที่ True Shop และสินเชื่อรายย่อย เครดิตพร้อมใช้สำหรับผู้ประกอบการ SME เพื่อซื้อสินค้าที่แม็คโคร
“สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่าผู้เล่นในตลาด e-Wallet ที่ทำให้บริการของตัวเองมีฟีเจอร์การใช้งานครบครัน ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะในเกมนี้ โดยเป้าหมายของ TrueMoney Wallet คือการเป็นซูเปอร์แอปฯ (มียอดผู้ใช้เฉลี่ยอย่างน้อย 1 ล้านราย/วัน) มีบริการครอบคลุมไลฟ์สไตล์ผู้ใช้ พัฒนาบริการให้ใช้ได้ง่ายที่สุด ผมเชื่อว่าเรายังมีโอกาสเติบโตอีกมาก” นิรันดร์กล่าว
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ให้ข้อมูลทิ้งท้ายว่า รายได้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันของบริษัทยังคงมาจากการแบ่งค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรมผ่านร้านค้าเป็นหลัก
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า