×

ก่อนสร้าง ‘ทีมหมูป่า The Movie’ ลองมาดู True Story ของการทำหนัง Based on True Stories

20.08.2018
  • LOADING...

เรื่องราวของทีมหมูป่าติดถ้ำในเดือนที่ผ่านมานั้นโด่งดังไปทั่วโลก ความรู้สึกหนึ่งที่เกิดขึ้นร่วมกันของคนในสังคมคือ ทุกคนต่างร่วมเอาใจช่วยให้เด็กๆ ทั้ง 13 คน หาทางออกจากถ้ำมาให้ได้ ทุกเช้าหลายคนต้องเข้าแฮชแท็กของเหตุการณ์นี้ เพื่อติดตามว่าพวกเขาออกมาได้หรือยัง บางคนแทบจะดูอัปเดตแบบเรียลไทม์ และบางคนติดตามเพราะมันเรียล น่าติดตามเพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

 

เซนส์ของความจริงให้สิ่งนี้กับเราเสมอ มันมอบเซนส์แห่งการคาดเดาไม่ได้ มันทำให้เรื่องที่เหลือเชื่อดูเมกเซนส์และจริงขึ้นมาได้ ซึ่งฟังดูแล้วอะไรแบบนี้มันคือทุกอย่างที่หนังเรื่องหนึ่งควรจะมี แล้วทำไมเราถึงไม่ทำหนังที่สร้างจากความจริงไปเลยละ นี่คงเป็นความคิดของโปรดิวเซอร์คนแรกๆ ที่คิดจะผลิตหนังที่สร้างจากเรื่องจริง

 

แต่แน่นอนว่า การทำหนังที่สร้างจากเรื่องจริง หรือจะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากเรื่องจริง คงจะยุ่งยากไม่น้อย อะไรที่พัวพันกับเรื่องจริงมันยากเสมอ เพราะมันคือสิ่งที่เราจินตนาการเอาเองไม่ได้ และหลายครั้งก็ควบคุมไม่ได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังสัมพันธ์กับบุคคลที่มีชีวิตอยู่ องค์กรที่ยังไม่ได้สูญหายไป เราทำได้แค่คุมมันให้ดีและรัดกุมที่สุด

 

 

หากใครสักคนมีไอเดียจะทำหนังจากเรื่องจริงสักเรื่องหนึ่ง สิ่งที่ต้องคิดก่อนง่ายๆ คือ บุคคลที่เราจะทำหนังเกี่ยวกับเขานั้นเป็น Public Figure หรือ Private Figure เช่นว่า ถ้าเราอยากทำหนังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ทุกคนรับรู้ เช่น หนังว่าด้วยฮิตเลอร์, ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีต่างๆ แบบนี้ก็สามารถทำได้สบายๆ ไม่ต้องขออนุญาตใคร เป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในโลก ยกเว้นแต่ว่าถ้าเราเกิดไปอ่านเจอบทความที่ให้ไอเดียที่แตกต่าง เช่น รู้ไหมว่าจริงๆ แล้ว โดนัลด์ ทรัมป์ มีมุมโรแมนติก หรือซัดดัมอาจจะมองเห็นผี แบบนี้เราอาจต้องซื้อลิขสิทธิ์บทความจากผู้เขียนคนนั้น เพราะมันเป็นการซื้อไอเดียนักเขียน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงอีกแล้ว

 

ถ้าลงลึกมาอีกหน่อย เราเกิดอยากทำหนังประวัติ บ๊อบ ดีแลน, อลัน ทัวริง, สตีเฟน ฮอว์คิง อันนี้ต้องเริ่มติดต่อขออนุญาตให้เรียบร้อย แต่ถ้าคนนั้นเสียชีวิตไปแล้ว ก็ต้องขอคนที่เกี่ยวข้องรอบๆ แทน เราเรียกสิ่งนี้ว่า การซื้อลิขสิทธิ์ Life Rights ซึ่งถ้าซื้อไปทำหนังจะมีเรตอยู่ที่ประมาณ 100,000 เหรียญฯ (แล้วแต่ตกลง) ข้อดีของการซื้อคือ เราอาจมีแหล่งข้อมูลอินไซด์จากเจ้าตัวมาเพิ่มเติม เช่น ไดอะรีส่วนตัว หรือภาพถ่ายที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และการซื้อนั้นก็ทำให้เรามีสิทธิ์ดัดแปลงเรื่องราวหรือเพิ่มเสริมแต่งเรื่องราวจากความจริงเข้าไปได้อย่างเต็มที่ ไม่น่าแปลกที่เขาจะเรียกหนังประเภทนี้ว่า ‘Based on True Stories’ เพราะมันแค่ Based on นะ คือคร่าวๆ นะ ไม่ใช่ว่าต้องเป๊ะจริงทั้งหมด

 

The Theory of Everything (2014)

 

แต่ถ้าในกรณีที่เจ้าตัวเขาไม่ให้ อาจด้วยเหตุผลว่าเรียกเงินสูงไป หรือเจ้าตัวต้องการมีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสินใจเรื่องบทและหนัง ซึ่งตัวคนทำหนังอาจไม่สะดวก สิ่งที่ต้องทำต่อไปก็คือ เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนสถานที่บางอย่างให้ไม่ตรงกับตัวตนจริงๆ ของเขา ซึ่งถ้าทำแบบนี้ได้แล้ว เราก็ไม่ต้องเสียเงิน แต่แค่จะไม่สามารถอ้างชื่อตัวบุคคลจริงๆ ได้ในหนัง ซึ่งบางโปรเจกต์ก็ทำแบบนี้ได้ (หากตัวหนังไม่ได้ต้องการอ้างอิงบุคคลหนักๆ แต่อาจจะอ้างอิงเหตุการณ์ที่บุคคลนั้นกระทำมากกว่า เช่น หนังว่าด้วย Mass Shooting ในโรงเรียน เป็นเรื่องจริงที่ตัวเหตุการณ์ใหญ่กว่าตัวบุคคล)  

 

แต่หนังบางเรื่อง ถ้าไม่สามารถอ้างชื่อได้ หนังอาจจะเบาหรือไม่เมกเซนส์ ตัวอย่างเช่น I, Tonya (2017) ที่ยังไงก็ต้องอ้างชื่อตัวทอนย่า เพราะเธอเป็นคนดังที่มีลักษณะเฉพาะตัวมาก แถมก่อนฉายหนังยังต้องบอกคนดูอีกรอบว่า เหตุการณ์ในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงทั้งหมดจริงๆ นะ แม้ว่ามันจะดูโอเวอร์และไม่น่าเชื่อ แต่เรื่องจริงมันก็เป็นแบบนั้น คือถ้าไม่อ้าง อาจจะดูเป็นหนังติ๊งต๊องไปเลย เพราะตัวละครแต่ละตัวทำในสิ่งที่ยากจะเชื่อ ถ้าหากไม่บอกว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

 

I, Tonya (2017)

 

แม้ว่าจะฟังดูไม่ยากอย่างที่คิด แต่การฟ้องร้องต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่คนทำหนัง Based on True Stories จะต้องเจอกันตามปกติ แม้จะทำเรื่องที่เป็น Public Figure แล้ว บางทีก็ยังโดนฟ้องจากหน่วยไหนหน่วยหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เช่น หนังทริลเลอร์มาเฟียบางเรื่องก็โดนหน่วยงานแนว FBI หรือ CIA ฟ้องร้อง ในฐานะที่ทำให้ภาพลักษณ์เสีย หรือบางทีแม้ว่าที่ปรึกษาบทหนังจะเป็นบุคคลในหนังก็ตาม

 

สุดท้ายสิ่งที่อยู่ในบทและบนจอหนังบางทีก็มีความแตกต่างกัน บางคนก็ยอมไม่ได้ที่การดัดแปลงบางอย่างทำให้ตัวเขาเองเป็นคนอีกแบบ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลที่สตูดิโอต้องจ่ายเงินซื้อประกัน Errors & Omissions (E&O) Insurance ที่มีไว้สำหรับเวลาโดนฟ้องแล้วแพ้ ประกันนี้ก็จ่ายให้ (เป็นการทำประกันที่ประหลาดมาก) เพราะในอีกหลายๆ เคสที่เราจะไม่ใช้ชื่อของบุคคลนั้นแล้ว แต่บุคคลนั้นก็อาจจะออกมาฟ้องร้องได้อยู่ดีว่า เขาหรือเธอคือแรงบันดาลใจของหนังเรื่องหนึ่งๆ แต่ไม่ได้รับการจ่ายเงินสักบาท เหมือนที่เคยมีแม่ชีคนหนึ่งออกมาฟ้องดิสนีย์ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยอ้างว่า เธอคือต้นแบบของตัวละครแม่ชีในหนังเรื่อง Sister Act (1992) หรืออีกเคสคือ หนังเรื่อง The Hurt Locker (2008) ที่มีนายทหารออกมาฟ้องว่า ตัวละครพระเอกที่ เจเรมี เรนเนอร์ แสดงนั้นสร้างขึ้นจากตัวเขา ก็ฟ้องกันไปฟ้องกันมาอยู่สักพัก สุดท้ายตัวนายทหารก็แพ้คดีไป

 

การทำหนัง Based on True Stories นั้นจึงซับซ้อนซ่อนเงื่อน เกี่ยวพันกับบุคคลมากมาย ไม่เถียงเลยว่า ความจริงนั้นมีพลังกว่าเรื่องแต่งเสมอ แต่ราคาที่เราต้องจ่ายเพื่อมันก็สูงเหลือเกิน

 

The Hurt Locker (2008)

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X