TRUE รายงานงบไตรมาสที่ 1 ปี 2566 มีรายได้รวม 3.9 หมื่นล้านบาท แต่ยังขาดทุนสุทธิจำนวน 492 ล้านบาท ระบุยอดผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นจากการยกระดับประสบการณ์เครือข่ายและนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย แต่ยังเผชิญกับการแข่งขันรุนแรง
นกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวว่า รายได้จากการให้บริการของบริษัทยังอยู่ภายใต้ภาวะ ARPU ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่อง โดยไตรมาสแรกรายได้รวมลดลง 2.0% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เนื่องจากการลดลงในส่วนของการให้บริการมือถือและออนไลน์
ทั้งนี้ รายได้จากการให้บริการมือถือลดลง 2.5% (YoY) เนื่องจาก ARPU ลดลง แม้ว่าจำนวนผู้ใช้บริการจะเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้จากบริการออนไลน์ลดลง 2.3% (YoY) จากยอดขายบรอดแบนด์ของลูกค้าที่ลดลงท่ามกลางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งชดเชยด้วยการเติบโตของยอดขายองค์กรภาคธุรกิจ ขณะที่รายได้จากการขายสินค้าลดลง 28.9% (YoY) เนื่องจากปริมาณการขายเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ลดลง และการเปิดตัว iPhone ที่เร็วขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2565
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ผู้ใช้บริการมือถือเพิ่มขึ้น 676,000 เลขหมาย ไปอยู่ที่ระดับ 50.5 ล้านเลขหมาย หรือเพิ่มขึ้น 1.4% จากไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ผู้ใช้บริการ 5G มีจำนวนถึง 6.3 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (QoQ) โดยมีปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และ 5G มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายต่อเดือน (ARPU) ที่เพิ่มขึ้น 10-15% ผู้ใช้งานดิจิทัลรายเดือน (MAU) สูงถึง 35.8 ล้านราย เพิ่มขึ้น 19% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ซึ่งได้แรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากแคมเปญ ‘ชีวิตดีกว่าเมื่อมีกันและกัน’ หรือ Better Together หลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ยอดผู้ใช้งานดิจิทัล (MAU) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 46.0 ล้านราย จากการถ่ายทอดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final 2022)
สำหรับทรู ดิจิทัล โซลูชัน มีรายได้เพิ่มขึ้น 92% (YoY) จากธุรกิจนวัตกรรมอัจฉริยะ (Smart Solutions) และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สามารถขยายไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจดิจิทัลเฮลท์ ยังสร้างรายได้เติบโต 62% (YoY) นำไปสู่การเติบโตอย่างรวดเร็ว และเสริมความแข็งแกร่งด้วยการสร้างระบบนิเวศร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่มผู้ประกอบการประกันภัยและผู้ให้บริการด้านสุขภาพ รวมถึงความร่วมมือกับโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ง่ายและสะดวกขึ้น
จากงบการเงินเสมือนสำหรับไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) ทั้งหมด ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (D&A) ลดลง 5.2% (YoY) จากมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อและต้นทุนค่าสาธารณูปโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับ EBITDA ในไตรมาสนี้ดีขึ้น 10.1% (QoQ) จากผลกระทบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (One-time Effect) จากการเจรจาสัญญาในไตรมาส 4 ปี 2565 การยุติข้อพิพาทที่กำลังดำเนินอยู่ที่เป็นผลในเชิงบวกในไตรมาส 1 ปี 2566 และการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ
ผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 492 ล้านบาท โดยได้รับผลกระทบเชิงบวกจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและการชำระค่าสินไหมทดแทนบางส่วน ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4 ปี 2565 ได้รับผลกระทบเชิงลบจากค่าใช้จ่ายรายการพิเศษ (Non-recurring Expenses) ประมาณ 8.5 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตัดจำหน่ายสินทรัพย์ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการควบรวมกิจการ และการด้อยค่าสินทรัพย์ประจำปี
ค่าใช้จ่ายลงทุน (CAPEX) ในไตรมาส 1 ปี 2566 มีจำนวน 17,565 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นในการยกระดับประสบการณ์ และการขยายความจุของเครือข่ายก่อนการควบรวมกิจการ
ทั้งนี้ จากการที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการเพิ่มเรตติ้งใหม่เป็น A+ จากทริสเรทติ้ง คาดว่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงจากการที่หนี้เก่าครบกำหนดและรีไฟแนนซ์ภายใต้อันดับเครดิตองค์กรใหม่
ตัวเลขสำคัญทางการเงินในไตรมาส 1 ปี 2566 (ตามงบการเงินเสมือน) มีดังนี้
- รายได้จากบริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) จำนวน 38,985 ล้านบาท ลดลง 2.0% (YoY)
- EBITDA อยู่ที่ 19,452 ล้านบาท ลดลง 8.7% (YoY)
- อัตรากำไร EBITDA (เมื่อเทียบกับรายได้รวม) อยู่ที่ 37.5%
- ขาดทุนสุทธิ จำนวน 492 ล้านบาท
คงประมาณการรายได้และ EBITDA
ด้าน มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวว่า สำหรับปี 2566 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) คาดการณ์การเติบโตคงที่สำหรับรายได้จากการให้บริการไม่รวมรายได้ค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) และการเติบโตคงที่ถึงการลดลงในอัตราร้อยละที่เป็นตัวเลขหลักเดียวในระดับต่ำ (Low Single-digit) สำหรับ EBITDA
ทั้งนี้ เงินลงทุนหรือ CAPEX ประมาณการไว้ที่ 25,000-30,000 ล้านบาท สำหรับแนวโน้มปี 2566 จะนับจาก 10 เดือนหลังจากที่ควบรวมเสร็จ ทั้งนี้ การคาดการณ์ของปีดังกล่าวยังอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมในภายหลัง เนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านธุรกิจของบริษัท และการดำเนินงานของบริษัทหลังการควบรวม ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการ
“ปี 2566 นับเป็นหมุดหมายของความสำเร็จครั้งสำคัญของบริษัท จากการควบรวมกิจการระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทที่ควบรวมใหม่ในนาม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มุ่งสู่การเป็นผู้นำของบริษัทเทเลคอม-เทคโนโลยี และยึดมั่นในมาตรฐานสูงสุดของบรรษัทภิบาล ในการขับเคลื่อนระบบนิเวศดิจิทัลครอบคลุมสำหรับทุกคน การรวมกันทำให้ลูกค้าทั้ง DTAC และ TRUE ได้รับประโยชน์จากคุณภาพเครือข่ายที่ดีขึ้น และเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยบริการ 5G บนคลื่น 2600 MHz และความครอบคลุมของเครือข่าย 4G/5G ที่ดีขึ้นบนคลื่น 700 MHz ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ลูกค้าของเรายังสามารถเพลิดเพลินกับผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายยิ่งขึ้น ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ ของทั้งสองแบรนด์ ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวเนื่อง (Cross-selling) และการเพิ่มยอดขาย (Upselling) ทั้งนี้ นับตั้งแต่การควบรวมเสร็จสมบูรณ์ ทรู คอร์ปอเรชั่นประสบความสำเร็จในการกำหนดโครงสร้างองค์กรและการทำงานที่รวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งจะช่วยให้เราดำเนินการตามแผนบูรณาการ และบรรลุผลตามแผนระยะสั้นในการทำงานร่วมกัน” มนัสส์กล่าว
ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังมุ่งหน้าเร่งสร้างการผนึกกำลังด้ายรายได้ โดยใช้โอกาสการเสนอขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของลูกค้าทั้งแบบ Cross-selling และ Upselling พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพในเชิงโครงสร้าง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- DTAC เปิด 5 เหตุผลสำคัญดีลควบรวม TRUE ย้ำผู้ถือหุ้นหลัก ‘ซีพี กรุ๊ป และเทเลนอร์ กรุ๊ป’ พร้อมหนุนการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของไทย
- อ่านมติบอร์ด ‘กสทช.’ ฉบับเต็ม หลังถกปมควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ยาวนานกว่า 11 ชั่วโมง
- เปิดมุมมองนักวิเคราะห์ ใครได้ใครเสีย? จากดีลควบรวมระหว่าง ‘TRUE-DTAC’ แบบมีเงื่อนไข