×

TRUE-DTAC เดินหน้าลุยควบรวมกิจการ ดันมาร์เก็ตแคปบริษัทใหม่แตะ 3 แสนล้านบาท จับตาปัจจัยเสี่ยงฉุดรายได้ ทำต้นทุนพุ่ง

16.02.2023
  • LOADING...
TRUE-DTAC

TRUE-DTAC เดินหน้าควบรวมกิจการปิดดีลซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านเสร็จ พร้อมประกาศขึ้น SP หุ้นทั้ง 2 บริษัท ลุยจัดสรรหุ้นบริษัทใหม่ให้ผู้ถือหุ้นเดิม ส่วนวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ นัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมถกประเด็นควบรวม ด้านนักวิเคราะห์เสียงแตก ‘กสิกรไทย’ มองช่วยสร้าง Synergy ธุรกิจ ฟาก ‘ยูโอบี’ เห็นต่าง ชี้เสี่ยงรายได้ลด-ต้นทุนเพิ่ม

 

แผนการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 ทั้ง 2 บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า บริษัท ซิทริน เวนเจอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และ Citrine Investment SG Pte Ltd. ต้องการที่จะเป็นผู้รับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่ลงคะแนนเสียงไม่เห็นด้วยกับการควบรวมของทั้ง 2 บริษัท

 

โดยได้กำหนดระยะเวลารับซื้อหุ้นของทั้ง TRUE และ DTAC ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม – 9 กุมภาพันธ์ 2566 รวมเป็นระยะเวลา 14 วัน โดยมี บล.บัวหลวง เป็นตัวแทนในการรับซื้อ โดยกำหนดจะซื้อหุ้น TRUE รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนไม่เกิน 161 ล้านหุ้น ที่ราคา 5.15 บาทต่อหุ้น และรับซื้อหุ้น DTAC รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนไม่เกิน 223 ล้านหุ้น ที่ราคา 50.50 บาทต่อหุ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


ขณะที่ล่าสุด ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ผลการรับซื้อหุ้น TRUE ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 จากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ถือหุ้นที่คัดค้านขายหุ้นของบริษัทให้แก่ผู้รับซื้อหุ้นในจํานวนรวม 147.30 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.44% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด

 

นอกจากนี้ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วม ครั้งที่ 2 ระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท และผู้ถือหุ้นของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 น. เพื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการควบบริษัทระหว่าง TRUE และ DTAC

 

อีกทั้งวานนี้ (15 กุมภาพันธ์) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกาศขึ้นเครื่องหมายสั่งห้ามการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ (SP) หุ้น DTAC กับ TRUE ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2566 รวมเป็นระยะเวลา 9 วันทำการ ตามที่ทั้ง 2 บริษัทได้ขอ

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการจัดสรรหุ้นสามัญของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ DTAC และ TRUE และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำหุ้นสามัญของบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของ TRUE และผู้ถือหุ้นของ DTAC ครั้งที่ 2 และกระบวนการนำหุ้นของบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เสร็จสิ้น หลักทรัพย์ของบริษัทใหม่จะเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ แทนหลักทรัพย์ของบริษัท ซึ่งจะถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันเดียวกัน ดังนั้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงได้มีมติอนุมัติการเปลี่ยนแปลงชื่อย่อหลักทรัพย์ของบริษัทใหม่เป็น ‘TRUEE’ แทนชื่อเดิมที่ใช้ ‘TRUE’

 

ส่วน ณภัทร ธัญญกุลสัจจา เลขานุการบริษัท บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ระบุว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้รับซื้อหุ้นได้ดําเนินการรับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวมเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ถือหุ้นที่คัดค้านขายหุ้น DTAC ให้แก่ผู้รับซื้อหุ้นในจํานวนรวมทั้งสิ้น 78.65 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.32% ของจํานวนหุ้นทั้งหมด

 

บล.กสิกรไทย มองมุมบวก TRUE ควบรวม DTAC

ด้าน พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า กรณีที่ TRUE กับ DTAC ประกาศขึ้น SP หุ้นของทั้ง 2 บริษัท เป็นระยะเวลา 9 วัน ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2566 มีมุมมองว่าก่อนช่วงที่จะมีการพักการซื้อขายชั่วคราวดังกล่าว จะส่งผลให้หุ้น 2 บริษัทมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงเกิดส่วนลด (Discount) ถือเป็นโอกาสในการเข้าซื้อเพื่อแปลงเป็นหุ้นบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม โดยสามารถเลือกได้ทั้งหุ้น TRUE หรือ DTAC เพราะมีอัตราส่วนในการแปลงรับเป็นหุ้นของบริษัทใหม่ในอัตราที่เท่ากัน

 

“ช่วงก่อนขึ้น SP ถ้าหุ้น TRUE หรือ DTAC ราคาปรับลดลงมา เราแนะนำให้ซื้อเพื่อมาแปลงเป็นหุ้นบริษัทใหม่ สามารถเลือกซื้อได้ตัวใดตัวหนึ่ง เพราะตอนนี้มีสัดส่วนในการแปลงเป็นหุ้นใหม่เท่ากัน หรือถ้าหุ้นตัวไหนราคาลงมาเยอะกว่าก็ซื้อหุ้นตัวนั้น หรือหากราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวลงมาก็ยังมองเป็นโอกาสซื้อได้อยู่เพราะเห็น Synergy ร่วมของบริษัทใหม่ค่อนข้างมาก ที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าหุ้นได้ในอนาคต”

 

นอกจากนี้ให้ติดตามในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของ TRUE กับ DTAC ว่าจะมีการประกาศแผนการทำงานร่วมกัน (Synergy) ว่าจะออกมาอย่างไร และจะมีมูลค่าในเชิงของ Synergy โดยจะนำข้อมูลที่ออกมาวิเคราะห์เพิ่มเติมอีกครั้ง

 

สำหรับดีลการควบรวม TRUE กับ DTAC ในขณะนี้ยังมีมุมมองเป็นบวกด้วยเหตุผลดังนี้

  1. ส่งผลให้ในมุมผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมไอซีทีจะมีความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น
  2. เกิดมูลค่าเพิ่มจากการควบรวม เช่น การประหยัดต่อขนาดและการมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่เพิ่มสูงขึ้น
  3. บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมจะมีมาร์เก็ตแคปที่มีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนประมาณ 50% ของมาร์เก็ตแคป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ที่มีมาร์เก็ตแคปประมาณ 6 แสนล้านบาท ขณะที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับ ADVANC โดยหากTRUE กับ DTAC มี Synergy ที่ดีก็มีโอกาสที่จะเห็นรายได้และมาร์เก็ตแคปเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต
  4. หุ้นบริษัทใหม่ที่มีมาร์เก็ตแคปมีโอกาสได้รับความสนใจหรือมีเงื่อนไขคุณสมบัติที่เอื้อให้กองทุนขนาดใหญ่ในต่างประเทศเข้ามาลงทุนได้เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนต่อราคาหุ้นในอนาคต

 

ทั้งนี้ ให้ราคาเป้าหมายของหุ้นใหม่ที่เกิดจากการควบรวม TRUE กับ DTAC ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 10.32 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาหุ้นใหม่ที่จะเข้าซื้อขายแทน TRUE กับ DTAC เดิมนั้นวิธีคำนวณจะใช้ราคาปิดการซื้อขายวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 นำมาคำนวณเป็นมาร์เก็ตแคปของ 2 บริษัท นำมาบวกแล้วหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของทั้ง 2 บริษัท โดยหากใช้ราคาปิดการซื้อของภาคเช้าวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 นำมาใช้อ้างอิงหุ้นของบริษัทใหม่จะมีราคาเข้าซื้อขายในวันแรกที่ 8.20 บาทต่อหุ้น พร้อมทั้งคาดว่าหุ้นใหม่ของหุ้นบริษัทใหม่จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในวันที่ 3 มีนาคมนี้

 

บล.ยูโอบี ชี้ หุ้นใหม่ TRUE-DTAC มีปัจจัยเสี่ยงกดดันผลงาน

กิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) วิเคราะห์ว่า บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม TRUE กับ DTAC มีความเสี่ยงที่จะเห็นผลประกอบการออกมาลดลงกว่าเดิมจากหลายปัจจัยเสี่ยงที่จะมากระทบ ได้แก่

  1. รายได้มีความเสี่ยงลดลงด้วยเงื่อนไขในการควบรวมของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่กำหนดเงื่อนว่าต้องทำให้ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนออกมาว่าในทางปฏิบัติจริงจะต้องทำอย่างไร
  2. ปัญหาด้านต้นทุนเสี่ยงสูงขึ้น เพราะ กสทช. กำหนดให้ TRUE กับ DTAC ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกันเป็นระยะเวลา 3 ปี ส่งผลให้มีปัญหาในการใช้โครงสร้างพื้นฐานระหว่างกันได้ จึงอาจยังไม่เห็น Synergy ที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาดังกล่าว
  3. มีความเสี่ยงในด้านค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กร โดยอาจมีการลดตำแหน่งบุคลากรหรือลดจำนวนพนักงานที่มีความทับซ้อนกัน ดังนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในการจ่ายชดเชยให้กับพนักงาน

“คิดว่านักลงทุนที่ซื้อหุ้น TRUE หรือ DTAC หรือบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมต้องมีความอดทนพอสมควร เพราะมีความเป็นไปได้ที่ช่วงแรกๆ ผลประกอบการจะออกมาไม่ดี เนื่องจากมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามากดดัน รวมถึงมีตัวแปรที่ยังไม่แน่นอนที่จะมากระทบ ดังนั้นจึงมองว่ายังไม่น่าสนใจที่จะเข้าไปเก็งกำไรในทั้ง TRUE หรือ DTAC เพื่อรอถือหุ้นต่อในหุ้นบริษัทใหม่จึงแนะนำให้ Wait and See”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X