ดีลการควบรวมกันระหว่าง TRUE และ DTAC เป็นมหากาพย์ดีลยักษ์ใหญ่ของวงการโทรคมนาคมของไทยใกล้จะเสร็จสมบูรณ์เต็มทีแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลาร่วมเกือบ 1 ปีเต็มกว่าจะหาข้อสรุปกันได้ โดยล่าสุดบอร์ดของ กสทช. ก็เคาะผลการประชุมที่ยืดเยื้อมากว่า 11 ชั่วโมงของวันที่ 20 ตุลาคม 2565 ว่ารับทราบผลการควบรวมกันระหว่าง TRUE และ DTAC และได้ออกมาตรการเงื่อนไขกำกับดูแล
โดยมีมาตรการเฉพาะที่สำคัญ เช่น เงื่อนไขเกี่ยวกับอัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ, เงื่อนไขเกี่ยวกับการเข้าสู่ตลาด การขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย, เงื่อนไขเกี่ยวกับการรักษาคุณภาพบริการ, เงื่อนไขการถือครองความถี่ และการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน, เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- DTAC เปิด 5 เหตุผลสำคัญดีลควบรวม TRUE ย้ำผู้ถือหุ้นหลัก ‘ซีพี กรุ๊ป และเทเลนอร์ กรุ๊ป’ พร้อมหนุนการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของไทย
- อ่านมติบอร์ด ‘กสทช.’ ฉบับเต็ม หลังถกปมควบรวม ‘TRUE-DTAC’ ยาวนานกว่า 11 ชั่วโมง
- ก.ล.ต. แจง ทรู ดีแทค จะรับซื้อหุ้นจากผู้ที่คัดค้านได้ ต้องรอความชัดเจนจาก กสทช. ก่อน
THE STANDARD WEALTH ได้ทำการสำรวจความเห็นจากเหล่านักวิเคราะห์ชั้นนำของวงการตลาดหุ้นไทย โดยนักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่าเงื่อนไขที่ทาง กสทช. ประกาศออกมาอย่างเป็นทางการนั้น ออกมาดีกว่าเนื้อข่าวก่อนหน้านี้ที่อาจบังคับให้คืนคลื่น มองเป็นบวกต่อทั้ง TRUE และ DTAC อีกทั้งจะไม่กระทบกับ Synergy ของการลดต้นทุนราว 1-2 หมื่นล้านบาทต่อปี
ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า มาตรการต่างๆ ที่ กสทช. ออกมา มองว่าส่วนใหญ่น่าจะเป็นเงื่อนไขที่ TRUE และ DTAC ยอมรับได้ แต่อาจจะต้องศึกษาทำความเข้าใจให้ตรงกันกับ กสทช. ก่อน โดยประเด็นสำคัญคือการที่จะต้องลดราคาค่าบริการเฉลี่ย 12% และการห้ามลด Cell Site ซึ่งเรื่องค่าบริการที่จะลดลง มองว่าน่าจะชดเชยได้ด้วยการประหยัดต่อขนาดที่จะเกิดขึ้นหลังการควบรวม ขณะที่เรื่อง Cell Site ก็เป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่จะลดต้นทุนได้
ส่วน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) ยังคงกังวลใน 3 มาตรการ ซึ่งคงมีความไม่แน่นอนอยู่ มาตรการแรกคือ คณะกรรมการ กสทช. กำหนดให้ลดค่าธรรมเนียมบริการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักโดยผู้ใช้บริการลง 12% ซึ่งเราไม่ทราบแน่ชัดว่า หมายถึง 1. ลดลง 12% จาก ARPU มือถือปัจจุบัน (เชิงลบ) หรือ 2. เพดานราคาปัจจุบันลดลง 12% (ไม่มีผลกระทบต่อตัวดำเนินการ)
ประการที่สองคือ กสทช. ไม่ได้กล่าวถึงรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับการรวมคลื่นความถี่ภายใต้นิติบุคคลเดียว หรือการโรมมิ่งเครือข่ายในบริษัทย่อยของบริษัทใหม่ หากอนุญาตให้รวมคลื่นความถี่หรือการโรมมิ่งเครือข่าย การคาดการณ์การประหยัดต้นทุนจากการใช้โครงข่ายร่วมกัน (1.77 หมื่นล้านบาทต่อปี จากปี 2570 เป็นต้นไป) จะไม่เปลี่ยนแปลง และประเด็นสุดท้าย กสทช. ออกคำสั่งห้ามไม่ให้ลดจำนวนสถานีฐาน (Cell Site) ของทั้งสองบริษัทลงจากเดิม ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อกำไรของบริษัทใหม่ใน 3 ปีแรก
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย