หลังควบบริษัทและจัดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งน่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/65 บริษัทใหม่ของ ‘TRUE และ DTAC’ จะจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน (Joint Venture) มูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 6.6 พันล้านบาท เพื่อลงทุนในเทคฯ สตาร์ทอัพของไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพื่อร่วมพัฒนาระบบนิเวศด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม และก้าวเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมดิจิทัลระดับภูมิภาค สู้กับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีการสื่อสารในระดับโลก
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE กล่าวว่า ด้วยภาพรวมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecom Landscape) ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเทคโนโลยีใหม่และตลาดที่เปิดกว้างต่อการแข่งขัน โดยผู้ประกอบการจากอุตสาหกรรมดิจิทัลขนาดใหญ่ในระดับภูมิภาคเข้ามาเสนอรูปแบบบริการดิจิทัลมากขึ้น
นอกเหนือจากการพัฒนาการให้บริการเครือข่าย (Connectivity) ให้เป็นอัจฉริยะแล้ว ยังต้องเสริมศักยภาพและความรวดเร็วในการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) จากโครงข่ายการสื่อสาร และส่งมอบเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้การปรับโครงสร้าง (Transformation) ของบริษัทไทยสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี ให้สามารถแข่งขันกับผู้เล่นชั้นนำระดับโลกได้นั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และการร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง DTAC เพื่อปรับโครงสร้างทางธุรกิจ ก็เป็นทางเลือกในการปรับตัวที่เหมาะสมที่สุด
โดยการปรับโครงสร้างสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีครั้งนี้ ธุรกิจโทรคมนาคม (Telecom) จะยังคงเป็นธุรกิจหนึ่งของโครงสร้าง แต่จะต้องพัฒนาธุรกิจเพิ่มเติมในส่วนที่มุ่งเน้นด้านเทคโนโลยี รวมไปถึง AI, Cloud, IoT, อุปกรณ์อัจฉริยะ, เมืองอัจฉริยะ รวมถึงดิจิทัลมีเดียโซลูชัน และปรับโครงสร้างเพื่อให้สนับสนุนการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี (Tech Startup)
โดยบริษัทใหม่ที่จัดตั้งหลังปรับโครงสร้างจะจัดตั้ง Venture Capital มูลค่าราว 200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6.6 พันล้านบาท เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพไทย และสตาร์ทอัพต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะศึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) เพื่อนำมาปรับใช้กับธุรกิจ ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดกว้างกรอบความคิดในการทำนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบันเรามองเห็นว่าผู้ประกอบการโทรคมนาคมมาถึงจุดที่เพิ่มมูลค่าได้น้อยมาก ถ้าลองมองว่าในเรื่องการเพิ่มมูลค่าในวิถีชีวิต รวมถึงสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่องค์กร จะพบว่ากลุ่มโทรคมนาคมมีบทบาทน้อยลงเรื่อยๆ จนถูกเรียกว่า Dump Pipe คือถูกมองเป็นเพียงท่อส่งอย่างเดียว แต่การปรับโครงสร้างครั้งนี้เป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว โดยหวังว่าจะเป็นส่วนเสริมพลังให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งหมด และสร้างงานด้านเทคโนโลยี ในการเติมเต็มและดึงเอาศักยภาพ ให้เป็นผู้ประกอบการที่ส่งมอบมูลค่าเพิ่มผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมดิจิทัลที่ล้ำสมัยนี้” ศุภชัยกล่าว
ซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า จากประกาศเรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจเมื่อเช้าวันนี้ (22 พฤศจิกายน) เบื้องต้นคาดว่าการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะทางธุรกิจ (Due Diligence) น่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1/65 จากนั้นในช่วงไตรมาส 2/65 จะสามารถลงนามในสัญญาข้อตกลงที่มีผลทางกฎหมาย และเข้าสู่กระบวนการทางตลาดหลักทรัพย์ คือการทำคำเสนอซื้อ เพื่อรวมกิจการทั้ง 2 บริษัทเข้าด้วยกัน จากนั้นก็น่าจะเริ่มจัดตั้งกองทุนเพื่อการร่วมทุน และเริ่มลงทุนในสตาร์ทอัพ
โดยบริษัทใหม่ที่จะก่อตั้งนั้น เครือเจริญโภคภัณฑ์และกลุ่มเทเลนอร์จะถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน และเมื่อรวมกันแล้วจะส่งผลให้มีความแข็งแกร่ง ที่จะเดินหน้าลงทุนในนวัตกรรมระดับโลก รวมถึงบริการและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคคนไทย รวมถึงบริษัทใหม่จะมีขนาดที่ใหญ่มาก
ในเบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2.17 แสนล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 8.3 หมื่นล้านบาท รวมถึงจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดในเชิงรายได้ราว 40% ใกล้เคียงกับผู้เล่นรายใหญ่อย่าง AIS (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC) โดย AIS ยังคงเป็นผู้นำและผู้เล่นรายใหญ่อยู่ แต่เราจะเรียนรู้จาก AIS ไปด้วย
“กลุ่มเทเลเนอร์เชื่อมั่นว่าประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเชื่อว่าจะสามารถเท่าทันและต่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในระดับโลกได้” ซิคเว่กล่าว