แม้จะดูไม่หวือหวามากหนัก แต่ภาพรวมการประมูลคลื่นความถี่ 5G ที่เพิ่งจบลงไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาของ True หรือบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชัน จำกัด ก็สามารถคว้าคลื่นความถี่มาครองได้ตามความต้องการและกลยุทธ์ของบริษัทที่ 2 คลื่นความถี่ ประกอบด้วย 2600 MHz และ 26 GHz ที่ 9 ล็อตความถี่และ 8 ล็อตความถี่ตามลำดับ โดยใช้เงินไปทั้งสิ้น 21,449.77 ล้านบาท
วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) กลุ่มทรูได้จัดงานแถลงความพร้อมของการให้บริการ 5G โดยชูจุดแข็งของการเป็นผู้ให้บริการที่ถือใบอนุญาตครอบคลุมมากที่สุดทั้งคลื่นความถี่ต่ำ กลาง และสูง ที่จำนวน 7 ย่านความถี่ โดยมีแบนด์วิธมากที่สุดด้วย ได้แก่ 700 MHz, 850 MHz (ทำร่วมกับ CAT สัญญาหมดปี 2568), 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz
ซึ่งจำนวนคลื่นความถี่ในย่านต่ำที่มีทั้ง 700 MHz, 850 MHz และ 900 MHz รวมทั้งหมดที่ 70 MHz ทรูบอกว่าเป็นจำนวนและตัวย่านความถี่ต่ำที่ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งจะสามารถให้บริการผู้ใช้งานกว่า 30.1 ล้านคนทั่วประเทศได้ดีกว่า (ข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 3/2562)
ขณะที่คลื่นความถี่ 2600 MHz และ 26 GHz ที่ทรูสามารถคว้ามาได้จากการประมูล 5G ล่าสุดที่ทาง กสทช. จัดขึ้นมานั้น กลุ่มทรูยืนยันว่าเป็นจำนวนคลื่นที่มีความเหมาะสมมากพอในการให้บริการ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เงินในการประมูลได้คุ้มค่าที่สุดตามกลยุทธ์ที่ประเมินเอาไว้
โดยทรูเตรียมจะเปิดให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสการทดลองสัญญาณ 5G บนคลื่น 2600 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวกับที่ชนะการประมูล (ตามใบอนุญาตที่ออกให้โดย กสทช.) ที่ทรูช้อปและทรูสเฟียร์ 11 สาขา ได้แก่ สยามสแควร์ ซอย 2, ซอย 3, สยามพารากอน, ดิจิทัลเกตเวย์, เซ็นทรัลเวิลด์, ไอคอนสยาม, เอ็มควอเทียร์ และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 4 สถานี (วัดมังกร, สามยอด, สนามไชย และอิสรภาพ)
สุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการพาณิชย์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับสื่อมวลชนว่าอีกหนึ่งจุดแข็งของทรูนอกเหนือจากการให้บริการและจำนวนคลื่นความถี่คือการมี ‘ระบบนิเวศดิจิทัล’ ครอบคลุมครบทุกไลฟ์สไตล์รวมถึงแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ทั้งความบันเทิง คอนเทนต์ การทำธุรกรรม สถานที่ และเดสทิเนชันที่ครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งจะเป็นหนึ่งใน Core Value ที่ยกระดับการใช้งานเทคโนโลยี 5G มากขึ้นไปอีกขั้น นอกเหนือจากการประยุกต์ไปใช้งานด้านการเกษตร การแพทย์ การศึกษา การดูแลรักษาความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาเมืองแบบ ‘สมาร์ทซิตี้’
“มาวันนี้ 5G ไม่ใช่แค่สัญญาณมือถือแล้ว แต่เป็นสัญญาณการยกระดับความสามารถและประสิทธิภาพของคนในประเทศ และ 5G ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้ให้บริการและโอเปอเรเตอร์เท่านั้น แต่เป็นยุคของการทำงานร่วมกับพันธมิตรด้วย”
สำหรับกำหนดการเปิดให้บริการ ทรูยังคงไม่เปิดเผย แต่แย้มเป็นนัยว่าเตรียมจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เร็วๆ นี้ โดยน่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนเพิ่มเติมหลังจากที่สามารถได้ใบอนุญาตมาครอง ซึ่งก็ต้องรอกระบวนการจากทีมการเงินของบริษัทในการดำเนินการ อย่างไรก็ดี การเริ่มเปิดให้บริการอาจจะต้องดูจากหลายปัจจัย เพราะอุปกรณ์ที่รองรับ ณ วันนี้ก็ยังมีไม่มากพอ โดยเฉพาะโทรศัพท์ที่รองรับการใช้งาน 5G ที่ยังไม่แพร่หลายมากนัก และมีต้นทุนการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูง
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์