×

ภาคท่องเที่ยวประเมินปาบึกกระทบระยะสั้น SME Bank พักหนี้ธุรกิจพื้นที่ประสบภัย 3.2 พันล้านบาท

โดย THE STANDARD TEAM
07.01.2019
  • LOADING...

แม้จะผ่านพ้นไปแล้วสำหรับพายุปาบึก แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นถือเป็นการบ้านใหญ่ในขณะนี้ที่ต้องเร่งแก้ไข ทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง โดย นพดล ภาคพรต รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินสถานการณ์พายุปาบึกกระทบภาคการท่องเที่ยวพื้นที่ภาคใต้ระยะสั้น ซึ่งทาง ททท. ได้ให้ทีมทำงานพิจารณาการส่งเสริมการตลาด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเพิ่มเติม เพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวกลับมาโดยเร็วให้ทันกับช่วงเทศกาลสำคัญอย่างเทศกาลตรุษจีนหรือวันวาเลนไทน์ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคใต้ของไทย สร้างรายได้สูงแตะ 8 แสนล้านบาทในปี 2561 และเติบโต 13-14% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีรายได้จากการท่องเที่ยว 7.81 แสนล้านบาท และปี 2559 ที่ 6.92 แสนล้านบาท  

 

ขณะที่ สุรวัช อัครวรมาศ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) คาดการณ์ว่า พายุปาบึกจะสร้างความเสียหายต่อภาคท่องเที่ยวไทยในวงจำกัด เพราะเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น สอดคล้องกับความเห็นของสมาคมโรงแรมไทยที่ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานยกเลิกการจองห้องพักจากโรงแรม โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เตรียมตัวค่อนข้างดีอยู่แล้ว

 

สำหรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการไปยังพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ที่ประสบเหตุจากพายุโซนร้อนปาบึก ให้ติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน และแจ้งผู้ผลิตสินค้าให้กระจายสินค้าให้กับพื้นที่ประสบภัย เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

 

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประเมินผลกระทบจากพายุปาบึกใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา พบว่า มีโรงงานได้รับผลกระทบเกือบ 2 พันแห่ง ประเมินความเสียหายเบื้องต้นที่ 200 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ส่วนมาตรการช่วยเหลือประกอบด้วย การสนับสนุนการทำความสะอาดโรงงาน เครื่องจักร ตรวจเช็กรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และจะยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี 5 ปี แก่โรงงานที่ได้รับความเสียหาย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank จะพักชำระหนี้ให้ลูกค้า 3.2 พันล้านบาท และเพิ่มวงเงินให้อีกรายละ 1-5 ล้านบาทในอัตราดอกเบี้ย 0.415% ต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีมาตรการช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising