×

ป่าเขตร้อนเข้าใกล้อุณหภูมิวิกฤต ใบไม้บางชนิดอาจไปถึงจุดสังเคราะห์แสงไม่ได้

โดย Mr.Vop
26.08.2023
  • LOADING...

ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นแอริโซนา นำโดย รศ.คริส โดตี (Chris Doughty) พบปัญหาโลกร้อนกำลังคุกคามป่าเขตร้อนอย่างหนัก อุณหภูมิของป่าเขตร้อนอาจเพิ่มสูงจนถึงจุดที่ใบไม้บางชนิดไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้อีกต่อไป

 

ด้วยข้อมูลจากกล้องถ่ายภาพความร้อนระดับความละเอียดสูงของสถานีอวกาศนานาชาติที่ทางทีมงานนำมาวิเคราะห์ ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดภาคพื้นดินในป่าเขตร้อนทั่วโลก ให้ผลออกมาว่า ใบไม้จำนวน 0.01% ในป่าเหล่านี้ไม่อาจสังเคราะห์แสงได้อีกต่อไปจากอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่สูงเกินจุดที่มันทนได้

 

อุณหภูมิเฉลี่ยที่ใบไม้สีเขียวจะยังคงสังเคราะห์แสงได้ต้องไม่เกิน 46.7 องศาเซลเซียส หากเกินกว่านี้ กระบวนการสังเคราะห์แสงของพืชก็จะเริ่มล้มเหลว

 

ปัญหาคืออุณหภูมิของป่าต่างๆ เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้มาก จากปัญหาโลกร้อน ผลที่ได้จากแบบจำลองทางวิทยาศาสตร์บอกเราว่า เมื่อใดที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน 3.9 องศาเซลเซียส ต้นไม้ในป่าเขตร้อนทั้งหลายก็จะประสบหายนะ

 

ผลจากการวัดค่าล่าสุด แม้พบว่าใบไม้ที่ประสบปัญหาความร้อนในป่าต่างๆ ยังมีจำนวนไม่มาก แต่มันคือสัญญาณเตือนมนุษย์ทั้งหลายว่า อันตรายกำลังคืบคลานเข้ามา เหมือนสำนวนที่กล่าวถึง ‘นกขมิ้นในเหมืองถ่านหิน’ (Canary in the Coal Mine)* นั่นเอง” รศ.คริส โดตี อธิบาย

 

“การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิใบไม้มันเป็นแบบก้าวกระโดดไม่เป็นแบบเชิงเส้น” รศ.โดตีกล่าวเสริม “พอทีมงานเราทดลองเพิ่มอุณหภูมิรอบใบไม้ขึ้นจาก 2 องศาเซลเซียส ไป 3 องศาเซลเซียส จนถึง 4 องศาเซลเซียส ปรากฏว่าอุณหภูมิที่ตัวใบไม้เองกลับพุ่งไปสูงถึง 8 องศาเซลเซียส นั่นทำให้เราแปลกใจมาก

 

“หากเรายังคงเพิกเฉยต่อปัญหาโลกร้อน ปล่อยให้อุณหภูมิของอากาศในป่าเขตร้อนเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 องศาเซลเซียส ผลก็คือใบไม้ในป่าอาจจะไปถึงจุดที่จะสังเคราะห์แสงไม่ได้และเริ่มตายลง เมื่อใบไม้ตายลงเป็นจำนวนมาก ต้นไม้ทั้งหลายก็อาจตายตาม ส่งผลถึงพันธุ์พืชทั่วป่าเขตร้อนทั้งหมด” 

 

ศ.มาเธียส ดิสนีย์ (Mathias Disney) มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนซึ่งอยู่นอกทีมงานวิจัยนี้ให้ความเห็นถึงงานของ รศ.คริส โดตี ว่ามีความสำคัญมาก “ความสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้คือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกที่มุ่งความสนใจไปที่ผลกระทบจากโลกร้อนต่อการสังเคราะห์แสงของใบไม้ในป่าเขตร้อน” ดิสนีย์กล่าว “แม้จะเจาะจงลงไปในมุมมองที่ค่อนข้างเฉพาะ แต่มันก็บอกเราได้ถึงผลกระทบที่จะแผ่ขยายไปในอนาคตอันใกล้ หากเราไม่ลงมือดำเนินการแก้ไขอะไรกับปัญหาสภาพอากาศโลกโดยเร็ว

 

“ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างน้อย 50% ของโลกเราเกิดการแลกเปลี่ยนผ่านใบไม้ในป่าเหล่านี้ ใบไม้ทำหน้าที่เหมือนส่วนควบคุมหลักให้กับสภาพภูมิอากาศ” ศ.ดิสนีย์กล่าวเพิ่มเติม

 

ศ.ไซมอน ลูวิส (Simon Lewis) จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม แนะนำถึงเรื่องนี้ว่า “ต้นทางของเรื่องนี้คือเราต้องเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่แรก เมื่อเราสามารถลดการเติมก๊าซเรือนกระจกเข้าไปในชั้นบรรยากาศ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเราก็จะไม่เพิ่มไปจนถึงจุดที่ใบไม้จะทนไม่ไหว”

 

กลับมาทางทีมวิจัย รศ.โดตี หัวหน้าทีมสรุปทิ้งท้ายว่า จากการทำงานของแบบจำลอง ทางทีมงานได้เบาะแสใหม่ที่จะต้องทำงานวิเคราะห์เพิ่มเติมว่า จริงๆ แล้วใบไม้แต่ละชนิดจะสามารถปรับตัวเองให้ไปสังเคราะห์แสงที่อุณหภูมิสูงกว่าขีดจำกัดได้แค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของป่าที่เราตรวจพบตามงานวิจัยชิ้นนี้ รวมถึงแบบจำลองที่เราใช้ ก็ยังไม่กำหนดตายตัวว่าโลกจะเลวร้ายลงจนไปถึงจุดที่แก้ไขอะไรไม่ได้ แน่นอนว่าหากเราเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ด้วยการร่วมมือกันลดความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ว่ากันตั้งแต่เรื่องง่ายๆ ขึ้นไป สุดท้ายป่าเขตร้อนก็ไม่ต้องไปพบจุดจบตามที่แบบจำลองบอกเราไว้” 

 

ทีมงานตีพิมพ์ผลการค้นพบครั้งนี้ลงในวารสาร Nature ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2023 www.nature.com/articles/s41586-023-06391-z

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

FYI
  • คนงานเหมืองถ่านหินมักจะคอยมองหานกขมิ้นในบริเวณนั้น หากนกเริ่มตายเมื่อใดแสดงว่าระดับก๊าซพิษในเหมืองไปถึงจุดที่เป็นอันตรายแล้ว ให้ออกจากเหมืองโดยทันที
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X