×

TRIS Rating เตือน ปีนี้อาจเห็นการดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว

17.06.2024
  • LOADING...
TRIS Rating

TRIS Rating เตือน ปีนี้อาจเห็นการดาวน์เกรดเครดิตเรตติ้งเพิ่มขึ้น หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว หลังจากปีก่อนมีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือผู้ออกบอนด์ไปถึง 25 ราย เทียบกับการอัปเกรดเพียง 12 รายในปี 2023 ท่ามกลางความเสี่ยงผิดนัดชำระหุ้นกู้ในไทยที่มีต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี

 

ดร.สุชาดา พันธุ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดอันดับเครดิต บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) สถาบันจัดอันดับเครดิตในไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้น่าจะมีการดาวน์เกรดค่อนข้างเยอะ โดยอาจจะใกล้เคียงหรือมากกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากครึ่งปีแรกมีการดาวน์เกรดไปค่อนข้างเยอะแล้ว

 

สำหรับปัจจัยที่ทำให้มีการปรับลดอันดับเครดิต ดร.สุชาดา เปิดเผยว่า ส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกไม่ค่อยดีเท่าไร เนื่องจากขาดการเบิกจ่ายจากรัฐบาล ดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น ท่ามกลางภาระหนี้ที่ค่อนข้างสูง บริษัทต่างๆ เผชิญความยากลำบากในการรีไฟแนนซ์หนี้จากความเชื่อมั่นในตลาดที่ลดลง

 

ทั้งนี้ ในรายงาน Default Statistics and Rating Transition Rates in Thailand ประจำปี 2023 ระบุว่า ในปีดังกล่าว มีผู้ออกบอนด์ (Issuer) เพียง 12 รายที่ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิต ขณะที่ 25 รายถูกปรับลด และ 2 รายผิดนัดชำระ จากผู้ได้รับการจัดอันดับในปีนั้นทั้งหมด 215 ราย

 

สะท้อนว่า โดยสัดส่วนการปรับลดอันดับเครดิต (Downgrade) ต่อการเพิ่มอันดับเครดิต (Upgrade) สูงกว่าอยู่ที่ประมาณ 2 เท่าในปี 2023

 

อย่างไรก็ดี ดร.สุชาดา ระบุว่า จำนวนดังกล่าวยังน้อยกว่าช่วงปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ โดยหลังจากปี 2020 การปรับลดอันดับเครดิตก็อยู่ระดับปกติ

 

“ในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันตลาดบอนด์คือ ความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากสภาพคล่อง (Liquidity) ในตลาดบอนด์หายไปค่อนข้างเยอะ หลังคนขาดความเชื่อมั่น นำไปสู่ปัญหาในการรีไฟแนนซ์ ดังนั้นหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว คนกลับมาเชื่อมั่นอีกครั้ง สถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น” ดร.สุชาดา ระบุในงาน S&P Global Ratings and TRIS Rating Thailand Credit Spotlight

 

เปิดแนวโน้มช่วงครึ่งหลังของปี 

 

ดร.สุชาดา ยังคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยภาพรวมจะดีขึ้น เนื่องจากจะมีการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งล่าช้ามาค่อนข้างนานในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้รัฐบาลอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมถึงมาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้ เช่น มาตรการลดค่าโอนและค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์

 

“เราคิดว่า ถ้าเศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้น ทำให้คนมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยภาพรวมครึ่งปีหลังก็น่าจะไปได้ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคอสังหา ถ้าภาคอสังหาดีก็ช่วยให้ธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องไปได้ด้วย” ดร.สุชาดา กล่าว

 

มูลค่าออกหุ้นกู้ 5 เดือนแรกปีนี้ทรุดกว่า 20%

 

ดร.สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มูลค่าการออกหุ้นระยะยาวของบริษัทเอกชนในช่วง 5 เดือนแรก หรือเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 399,908 ล้านบาท ลดลง 21.68% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) เป็นตามที่คาดการณ์ไว้ จากระดับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และบอนด์ยีลด์ที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

ส่วนตัวค่าหุ้นกู้ที่มีปัญหาเอกชนตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงปัจจุบัน (Year to Date) ในปี 2567 ทั้งผิดชำระหรือเลื่อนจ่าย มีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ทั้งผิดชำระหรือเลื่อนจ่ายนั้นมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรนั้น ขณะนี้ ThaiBMA กำลังรวบรวมตัวเลขประกอบการแถลงข่าวที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ 

 

สำหรับสถานการณ์ตลาดหุ้นกู้ในช่วงที่เหลือของปี 2567 ประเมินว่ายังคงเห็นดีมานด์ในหุ้นกู้คุณภาพดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหุ้นกลุ่ม ESG Bond ได้รับความสนใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการมีกองทุน Thai ESG ที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้โดยทั่วไปซัพพลายของหุ้นกู้มีปัจจัยหลักที่สำคัญคือ ความต้องการระดมทุนจากบริษัทผู้ออกและสภาวะของตลาดการเงิน การครบกำหนดของหุ้นกู้เดิมมักมีผลต่อการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม

 

TRIS Rating

ข้อมูลมูลค่าการออกหุ้นกู้ระยะยาวช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567

 

อย่างไรก็ตามผู้ออกหุ้นกู้ก็ยังคงมีทางเลือกของการระดมทุนให้พิจารณา รวมทั้งการกู้จากธนาคารด้วย ก่อนหน้านี้ตลาดคาดการณ์ว่าจะเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และของไทยในปีนี้ 

 

แต่จะเห็นได้ว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมาการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยและของสหรัฐฯ มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันคือ การคาดการณ์การลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั้งถูกเลื่อนไกลออกไป ดูได้จากสัดส่วนของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่โหวตคงอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5 ใน 7 เสียง เพิ่มเป็น 6 ใน 7 เสียงในรอบการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายนที่ผ่านมา และโดยรวมการประชุมคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รอบนี้คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ว่าอาจลดลงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยยังมีคอมเมนต์เรื่องอัตราเงินเฟ้อว่ายังคงสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายอยู่ 

 

ทั้งนี้ โดยทั่วไปหากอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง แต่มีความหวังว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่จะลดลงได้ในปีนี้ บริษัทบางแห่งก็อาจเลือกใช้การกู้เงินจากธนาคารก่อนเพื่อรอออกหุ้นกู้ในภายหลัง เราได้เห็นการจัดประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอเจรจาผ่อนปรนการจ่ายคืนเงินต้นเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ ซึ่งดูเหมือนกับกลไกการเรียนรู้ของผู้ออกหุ้นกู้ ผู้ถือหุ้นกู้ และตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้ ในการประสานการเจรจาดูมีประสิทธิภาพขึ้น 

 

อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่า ผู้ลงทุนโดยรวมมีประสบการณ์มากขึ้นทั้งในส่วนของผลตอบแทนที่ดีและส่วนของความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหรือการเลื่อนการชำระของหุ้นกู้บางตัว ในภาพรวมนักลงทุนยังไม่ได้ตระหนกจนเกินไป แต่มีความตระหนักในผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยงที่ดีขึ้น เลือกลงทุนด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่องมากขึ้น

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising