หลายท่านคงจะเคยได้ยินคำว่า กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ (Trigger Fund) กันบ้างแล้ว แต่บางท่านอาจจะยังสงสัยว่ามันคืออะไร และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร เรามาดูกัน
กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ คือ กองทุนรวมทั่วไปประเภทหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นมาด้วยนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ แต่สิ่งที่แตกต่างจากกองทุนทั่วไปคือ การกำหนดเงื่อนไขผลตอบแทนภายใต้กรอบระยะเวลา โดยถ้าสามารถสร้างผลตอบแทนได้ตามเวลาที่กำหนด หรือที่เรียกกันว่า ‘Trigger’ ก็จะเลิกกองทุน (ปิดกองทุน) แล้วทำการคืนเงินตามที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวนพร้อมผลตอบแทนให้ผู้ลงทุน ในขณะเดียวกัน หากกองทุนสร้างผลตอบแทนไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด หรือเรียกว่า ‘ไม่ Trigger’ ทางบริษัทจัดการที่ออกกองทุนก็จะมี 2 ทางเลือกให้ผู้ลงทุน นั่นคือ ปิดกองทุนแล้วคืนเงินตามราคา ณ วันที่ปิด หรือแปลงสภาพเป็นกองทุนเปิด เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถถือหน่วยลงทุนต่อไป
กองทุนประเภทนี้มักกำหนดกรอบการลงทุนในระยะเวลาสั้นๆ โดยส่วนใหญ่ไม่เกิน 1 ปี ด้วยเป้าหมายผลตอบแทนในระดับที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันบริษัทจัดการต่างๆ ก็นิยมออกกองทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงปรับฐานและมีโอกาสปรับขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้น กองทุนประเภทนี้จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่มีเป้าหมายชัดเจน เพราะรู้ระยะเวลาลงทุนและผลตอบแทนที่คาดไว้ เมื่อถึงเป้าหมายหรือระยะเวลาที่กำหนด กองทุนจะปิดและขายหน่วยลงทุนออกไปโดยอัตโนมัติ
นอกจากเป็นกองทุนที่มีนโยบายในการสร้างผลตอบแทนให้ถึงตามเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้วนั้น ยังมีการเสนอขายหลากหลายรูปแบบอีกด้วย เช่น กองทุนทริกเกอร์ ฟันด์ ที่อ้างอิงกับตราสารทั้งในและต่างประเทศ เช่น หุ้นไทย หุ้นจีน หรือสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น น้ำมัน เป็นต้น โดยขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ยังมีกองทุนประเภทนี้ประเภทที่อ้างอิงกับดัชนีรายกลุ่มด้วยเช่นกัน สำหรับการปรับตัวขึ้น-ลงของราคาหน่วยลงทุนก็ขึ้นอยู่กับตราสารที่ใช้อ้างอิงด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ตราสารอ้างอิงก็มักจะไม่ซับซ้อนมากนัก เช่น หากเป็นกองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ หุ้นไทย ก็อาจจะอ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) โดยมีผู้จัดการกองทุนเป็นผู้บริหารกองทุนเพื่อให้ถึงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม กองทุนประเภทนี้ทำความเข้าใจได้ไม่ยากนัก แต่นักลงทุนควรทำความเข้าใจในประเด็นหลักๆ ก่อนเริ่มลงทุนก่อน ได้แก่
1. นักลงทุนต้องเข้าใจก่อนว่ากองทุนประเภทนี้มักมีการกำหนดเป้าหมาย 2 เป้าหมาย คือ ผลตอบแทน หรือมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) ที่ตั้งเป้าและระยะเวลาไว้ โดยหากกองทุนถึงเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งก่อน ก็จะทำการขายคืนหน่วยลงทุนให้กับผู้ลงทุน แต่หากยังไม่ถึงเป้าหมาย จะต้องถือหน่วยลงทุนจนกว่าจะครบระยะเวลาที่กำหนด จึงจะขายหน่วยลงทุนออกมาได้
2. จังหวะการลงทุน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการตัดสินใจลงทุน โดยแนะนำให้เลือกกองทุนที่ตราสารอ้างอิงมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น มีปัจจัยบวกสนับสนุน และมีปัจจัยลบในวงจำกัด
3. นักลงทุนจะต้องเข้าใจในตราสารที่กองทุนนั้นลงทุน ซึ่งหากเป็นกองทุนที่ใช้ราคาหุ้นอ้างอิงจะไม่ซับซ้อนนัก แต่หากเป็นกองทุนน้ำมันจะใช้สัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงทำให้มีความซับซ้อนและผันผวนมากขึ้น
ปัจจุบันได้มีบริษัทจัดการหลายแห่งได้เปิดเสนอขายกองทุนประเภทนี้ เพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ในขณะนี้ ทั้งยังเป็นทางเลือกการลงทุนระยะสั้นอีกประเภทหนึ่งด้วย ถึงแม้กองทุนรวมทริกเกอร์ ฟันด์ จะเป็นอีกทางเลือกที่ดี แต่ก็เหมาะกับผู้ลงทุนบางประเภท
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน ควรศึกษาให้ชัดเจนก่อนว่าตนเองเหมาะกับกองทุนประเภทนี้หรือไม่ รวมถึงศึกษารายละเอียดในหนังสือชี้ชวนให้ละเอียดรอบคอบก่อนลงทุน เพราะหากเราเลือกลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ของเราแล้ว โอกาสการสร้างผลตอบแทนจากกองทุนประเภทนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากอีกต่อไป
เนื่องจากกองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุน หรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้ ควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน ความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ บลจ.ไทยพาณิชย์ โทร. 0 2777 7777 กด 0 กด 6 www.scbam.com
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล