ห่างหายไปนานถึง 5 ปี สำหรับผู้กำกับลีลาสุดแพรวพราวอย่าง Ruben Ostlund ที่หลังจากผงาดคว้ารางวัลใหญ่จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์อย่างรางวัลปาล์มทองคำมาครองได้สำเร็จเมื่อปี 2017 จากภาพยนตร์จิกกัดวงการศิลปะอย่าง The Square (2017)
จนในปีนี้ Ruben Ostlund กลับมาอีกครั้งพร้อมกับผลงานที่ยังคงไว้ซึ่งฝีไม้ลายมือของตัวเองในการจิกกัด เสียดสี ที่สร้างเสียงหัวเราะพร้อมกับการตั้งคำถามถึงประเด็นนั้นๆ ได้อย่างคมคายและตรงไปตรงมา ซึ่งผลงานล่าสุด Triangle of Sadness ก็ได้เปิดตัวครั้งแรกในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปี 2022 แม้ในปีนี้จะมีผู้กำกับรุ่นใหญ่หลายคน โดยเฉพาะจากทางฝั่งเกาหลีและญี่ปุ่น เข้าร่วม แต่ถึงกระนั้นภาพยนตร์ก็ได้รับคำวิจารณ์ไปในทิศทางบวกอย่างล้นหลาม จนสุดท้ายก็สามารถคว้ารางวัลใหญ่ ‘ปาล์มทองคำ’ มาครองได้สำเร็จอีกครั้ง ส่งผลให้ชื่อของผู้กำกับลีลาแพรวพราวคนนี้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในวงกว้างจากทั้งสื่อภาพยนตร์และคนดู
Triangle of Sadness ว่าด้วยเรื่องราวของ คาร์ล (Harris Dickinson) และ ญาญ่า (Charlbi Dean Kriek) คู่รักผู้อยู่ในวงการแฟชั่นที่มีโอกาสเข้าร่วมทริปล่องเรือสำราญกับเหล่าบรรดาคนรวยมากอำนาจ แต่แล้วเรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเรือที่พวกเขานั่งอยู่ได้อับปางลง ทำให้พวกเขาบางส่วนที่ยังมีชีวิตรอดลอยกันมาถึงเกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเหล่าคนรวยที่รอดชีวิตก็จำเป็นต้องพึ่งพาสาวใช้บนเรือคนหนึ่งที่ลอยมาติดเกาะเช่นเดียวกับพวกเขา โดยเธอมีความสามารถในการหาอาหารและก่อไฟได้ แต่สาวใช้คนดังกล่าวก็เริ่มเปลี่ยนไป จนทุกอย่างพลิกผันกลายเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยคาดคิดมาก่อน
นิยามสั้นๆ อย่าง ‘ความเท่าเทียม’ เป็นหนึ่งในนิยามที่มักถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่เสมอในขณะที่ภาพยนตร์กำลังดำเนินอยู่ และนิยามดังกล่าวก็เป็นเหมือนเป้าประสงค์ที่ชี้ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า ชีวิตของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกันหรือเปล่า? แต่แล้วเมื่อภาพฉายที่ตัวผู้กำกับ Ruben Ostlund ซึ่งเผยให้เราทุกคนได้ดูนั้นกลับสวนทางกันเสียยิ่งกระไร เมื่อนิยามดังกล่าวไม่ได้มาจากคนจนเพียงอย่างเดียว แต่ดันออกมาจากปากของคนรวยที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไรด้วยเช่นกัน
และหากจะต้องควานหาจุดเด่นที่สุดของ Triangle of Sadness (เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำปีล่าสุดจากเวทีที่ใครหลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าดูยาก) คงจะต้องบอกว่า การที่ภาพยนตร์หยิบยกเอาเรื่องราวของชนชั้น ขั้วอำนาจ หรือกระทั่งความเท่าเทียม ออกมาเล่าในรูปแบบของการจิกกัดนั้นทำให้สารที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อชัดเจนและเห็นภาพมากยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันผู้กำกับก็ไม่ได้ทิ้งลายของตัวเองแม้แต่นิดเดียว หรือว่ากันตามจริง สิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาบนจอยิ่งตลกมากเท่าไร มันก็ยิ่งจริงมากขึ้นเช่นกัน
โดยประเด็นหนึ่งที่เป็นเหมือนแกนหลักและคำถามสำคัญในช่วงกลางไปจนถึงท้ายเรื่องอาจเป็นคำถามง่ายๆ เช่น ตัวเราจะเปลี่ยนไปไหมหากมีเงินหรืออำนาจมากขึ้น? ซึ่งตัวของผู้กำกับเองก็ได้หยิบยกเอาคำตอบของคำถามนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองด้วยเช่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจนักหากจะบอกว่า Triangle of Sadness ก็เป็นเหมือนการจำลองคอกสัตว์ (เรือยอชต์และเกาะภายในเรื่อง) ที่คนมีอำนาจสามารถชี้นิ้วใส่คนที่มีสถานะด้อยกว่าตนให้ทำตามที่ตัวเองต้องการได้ โดยที่คนคนนั้นต้องทำตามคำสั่งเพียงอย่างเดียว
แต่จะอย่างไร สิ่งหนึ่งที่มักจะถูกสะท้อนออกมาผ่านเรื่องราวเหล่านั้นคือ ความไม่แน่นอนของขั้วอำนาจในคอกเอง คนรวยอาจมีอำนาจเพราะเงินตรา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งคนจนก็อาจมีอำนาจได้เช่นกันในวันที่เงินไม่มีค่าอะไร แล้วอะไรคือสิ่งที่เป็นตัววัดคุณค่าของมนุษย์คนหนึ่ง เงินตรา อำนาจ หรือมนุษย์ด้วยกันเอง?
คำถามที่น่าขบคิดจริงๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็น ‘ตัวตนและจิตใจของมนุษย์ในวันที่ตัวเองมีอำนาจทางสังคม’ ซึ่งสิ่งที่ว่าอาจไม่ใช่เรื่องเงินทั้งหมดทีเดียว เพราะบางครั้งสิ่งที่ว่าก็อาจเป็นประสบการณ์ชีวิตได้เช่นกัน เพียงแต่เมื่อถึงวันที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของอำนาจ ตัวตนของมนุษย์คนนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน หรือแท้จริงแล้วเมื่อมีอำนาจทั้งคนจนและคนรวยเองก็อาจไม่ต่างกัน เพราะเมื่อมีอำนาจก็อยากจะรักษาอำนาจนั้นต่อไปไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหนก็ตาม
หรืออีกนัยหนึ่ง จุดโฟกัสจริงๆ ของ Triangle of Sadness อาจไม่ได้เป็นเรื่องของชนชั้น ความเท่าเทียม หรืออำนาจทางสังคม เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันเอง เพราะหากพูดกันตามความตรง ทั้งเรื่องของชนชั้นและอำนาจทางสังคมต่างก็เป็น ‘เครื่องมือ’ ที่ทำให้มนุษย์คนหนึ่งสามารถปลดปล่อยธาตุแท้ของตัวเองออกมาสู่โลกภายนอกได้โดยที่ไม่ต้องวิตกกังวลต่อสิ่งใดจนกว่าอำนาจนั้นจะหายไป
แต่เมื่อพูดอย่างถี่ถ้วนแล้ว สิ่งที่เรียกว่าความเท่าเทียมอาจไม่มีอยู่จริงตามที่ถูกบอกเล่าออกมาในภาพยนตร์ก็เป็นได้ เพราะความเท่าเทียมสามารถนิยามได้หลากหลายรูปแบบ หลายวาระ และหลายสถานการณ์ เหมือนกับที่ภาพยนตร์ได้ฉายให้เห็นถึงความเท่าเทียมระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ความเท่าเทียมระหว่างกัปตัน ลูกเรือ และคนใช้ หรือกระทั่งความเท่าเทียมระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งทั้งหมดสามารถพลิกกลับไปกลับมาเหมือนเหรียญได้เสมอขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และถ้าเป็นเช่นนั้น คำว่าเท่าเทียมก็อาจเป็นเพียงแค่คำปลอบใจที่เอาไว้ใช้ในวันที่ตัวเองมีสถานะด้อยกว่าเท่านั้นเอง
นอกจากเนื้อหาที่ชวนตั้งคำถามได้อย่างน่าขบคิดแล้ว อีกสิ่งที่พิเศษของภาพยนตร์คือ การหยิบฉวยจังหวะที่ผู้ชมคาดไม่ถึงมาส่งเสริมการเล่าเรื่อง หลายครั้งจังหวะและภาพเหล่านั้นไม่เพียงแค่ทำให้คนดูหัวเราะเพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เห็นถึงความน่าสะอิดสะเอียนและความไร้อำนาจอีกด้วย เหมือนกับที่ครึ่งค่อนชั่วโมงหลังของภาพยนตร์ที่ตัวละครส่วนใหญมักต้องอยู่ในสภาพ ‘จำยอม’ ต่ออำนาจที่ตัวเองไม่สามารถขัดขืนได้
อย่างไรก็ตาม ข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งของ Triangle of Sadness คือการที่ภาพยนตร์ไม่เพียงแค่บอกเล่าเรื่องราวของชนชั้น ความเท่าเทียม และอำนาจทางสังคม เพียงอย่างเดียว แต่ยึดโยงไปถึงเรื่องของการเมืองที่เป็นเหมือน ‘รากฐาน’ และเพศสภาพที่เป็นเหมือน ‘มายาคติ’ ที่คอยตัดสินถึงคุณค่าและตัวตนของมนุษย์ ซึ่งบางครั้งสิ่งเหล่านั้นก็เป็นตัวหล่อหลอมทัศนคติและค่านิยมกดขี่หรือไม่แยแสมนุษย์ด้วยกันเองขึ้นมา และเป็นตัวของมนุษย์เองที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่จากสิ่งเหล่านั้นมากดขี่ บังคับ ขู่เข็ญ มนุษย์ด้วยกันเอง ราวกับเป็นสัตว์หรือสิ่งของตลอดเวลา
กล่าวโดยรวม แม้ Triangle of Sadness จะเป็นภาพยนตร์ที่มีหน้าฉากเป็นภาพยนตร์ตลกร้าย แต่วิธีการนำเสนอกลับให้ความรู้สึกเหมือนกำลังอ่านหนังสือที่มีตัวละครหลักเป็นผู้ดำเนินเรื่องแตกต่างกันออกไป ซึ่งในแต่ละช่วงก็ได้ทิ้งคำถามที่น่าสนใจไว้ให้คนดู โดยที่เรื่องราวทั้งหมดยังครอบคลุมอยู่ในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเสียดสีระบบชนชั้น ความเท่าเทียม ไปจนถึงอำนาจทางสังคม ด้วยลูกเล่นอันแพรวพราวของตัวผู้กำกับ ก็ทำให้ภาพยนตร์เจ้าของรางวัลปาล์มทองคำเรื่องนี้สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชมได้อย่างไม่ขาดสายตั้งแต่ต้นจนจบ
และสำหรับผู้เขียนแล้ว Triangle of Sadness ถือเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากบนเวทีประกาศผลรางวัลออสการ์ที่จะเกิดขึ้นต้นปีหน้าเลยทีเดียว
Triangle of Sadness มีกำหนดเข้าฉายในไทยอย่างเป็นทางการวันที่ 3 พฤศจิกายนนี้
รับชมตัวอย่างได้ที่