×

ความพ่ายแพ้สมัยแรกของ ปุ๊น-ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส กับเพื่อไทยพลัส รีฟอร์มใหม่หลังเลือกตั้ง

07.08.2019
  • LOADING...
ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ปุ๊น-ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ สมัยแรกในนามพรรคเพื่อไทย แม้จะหาเสียงอย่างหนัก แต่ก็พ่ายแพ้ สุดท้ายได้นำบทเรียนหลังวันที่ร้องไห้อย่างหนักเปลี่ยนมาเป็นพลังเพื่อทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่
  • เพื่อไทยพลัส คือการรีฟอร์มพรรคเพื่อไทยหลังศึกเลือกตั้ง โดยรวมเอาคนรุ่นใหม่ที่หลากหลายมาทำงานให้ประชาชน เชื่อมโยงสู่การแก้ปัญหาผ่าน ส.ส. ของพรรคในสภา

ผ่านมาเกือบ 5 เดือนนับตั้งแต่วันเลือกตั้ง 24 มีนาคม วันนี้ ปุ๊น-ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส อดีตผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย บอกกับ THE STANDARD ว่าแม้จะไม่ได้เข้าไปนั่งในสภา แต่เขาคือผู้แทนของ 24,000 คนที่เลือกตนเองมา ส่วนผู้ที่ชนะเลือกตั้งคือผู้แทนของ 27,000 คน ถึงตัวเลขนี้จะเป็นการบอกว่าใครเป็นผู้ชนะในการเข้าไปนั่งในสภา แต่เขายืนยืนว่าจะไม่หยุดทำงานในพื้นที่เพื่อสะท้อนปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

 

นอกจากบทบาทนักการเมืองที่ต้องทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่องแล้ว ตรีรัตน์ยังสวมหมวกอีก 2 ใบ หนึ่งคือโฆษกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ และอีกใบคือเลขาธิการของทีมเพื่อไทยพลัส เครือข่ายทำงานคนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเขาเปิดเผยถึงแนวทางการทำงานต่อเนื่องนับจากนี้ว่าเป็น ‘สะพานเชื่อมปัญหาของประชาชนสู่ ส.ส. ในสภา’ 

วันนี้ผมไม่ได้ขอคะแนนเสียงเขา ไม่ได้มาบอกว่าพี่ต้องเลือกผม แต่วันนี้เขาจะรู้แล้วว่าใครที่อยู่กับเขาในวันที่เขาลำบากจริงๆ

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

 

ก่อนจะไปที่งานปัจจุบัน ย้อนถามถึงความรู้สึกตอนเลือกตั้งที่ผ่านมาก่อน ความรู้สึกหลังจากที่ต่อสู้มาเป็นอย่างไร

ถ้าระหว่างผมกับไอติม (พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้สมัคร ส.ส. เขตบางกะปิ-วังทองหลาง พรรคประชาธิปัตย์) ผมก็รู้สึกว่าถ้าแพ้ไอติม ผมโอเคนะ เพราะเราต่างทุ่มเทกันมาก แต่มันมีกลไกพิเศษเข้ามาในการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีความผิดปกติตามที่เราไปร้องเรียน มีการกระทำหลายๆ อย่างที่เป็นการเอาเปรียบทางการเมืองชัดเจน ความรู้สึกที่เกิดคือการที่เราอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน แต่การดูแลไม่เท่ากัน ทำให้รู้สึกว่ามันไม่แฟร์ รู้สึกว่านี่หรือการเลือกตั้งที่รอมา 5 ปี

 

เรารู้สึกผิดหวังกับกติกา รู้สึกทั้งเสียใจและดีใจปนๆ กัน วันที่นับคะแนน สิ่งที่เกิดขึ้นคือตอนแรกหลายหน่วยคะแนนเป็นอนาคตใหม่นำเพื่อไทย แล้วเพื่อไทยก็นำอนาคตใหม่ จนถึงคะแนนก้นหีบสุดท้าย ตอนแรกผมก็คิดในใจว่าอาจจะแพ้ให้อนาคตใหม่ เพราะคะแนนผมนำเขาแค่ 200 คะแนน แล้วเราก็เชื่อในการตัดสินใจของชาวบ้าน จนสุดท้ายคะแนนก็พลิกอย่างที่เห็น ก็เสียใจอยู่ 5 วัน หลังวันเลือกตั้ง คุณหญิงสุดารัตน์นัดประชุมที่พรรค เรารู้สึกว่าทำดีที่สุดแล้ว มันรู้สึกเสียใจที่เราลงสมัครในพื้นที่คุณหญิงสุดารัตน์ แต่เราไม่สามารถเอาเก้าอี้ ส.ส. มาให้เขาได้ มันรู้สึกเสียใจที่ทำให้เขาผิดหวัง เสียใจที่พรรคคาดหวังในตัวเรามาก เป็นความรู้สึกที่เรารู้ว่าทำดีที่สุดแล้ว แต่เรากลัวว่าพรรคจะผิดหวังในตัวเรา

 

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

 

ณ เวลานี้ในการทำหน้าที่นอกสภา อยากจะทำอะไรต่อ หรือวางเป้าหมายการทำงานไว้อย่างไร 

ตอนนั้นผมพูดกับคุณหญิงว่าผมขอทำงานในพื้นที่ต่อให้ดีที่สุด วันนั้นถึงวันนี้ผมไม่เคยหยุดทำหน้าที่สักวัน ทีมงานของผม 15 คนยังทำงานในพื้นที่ต่อเนื่องทุกวัน สำนักงานทุกอย่างยังมีอยู่ รถแห่ที่ใช้ในการหาเสียงยังใช้อยู่เหมือนเดิม ผมมีรายงานการทำงานในพื้นที่ประจำสัปดาห์ลงในเฟซบุ๊กโพสต์ ฉีดยุงกี่ชุมชน ลอกท่อกี่ชุมชน ประสานเรื่องร้องเรียน เราสรุปออกมาหมดว่าทำอะไรบ้าง ทุกวันเราลงพื้นที่รับฟังปัญหา เรามีแบบสอบถามว่าเขามีเรื่องร้องเรียนอะไรบ้าง เรารวบรวมเรื่องร้องเรียนในแบบสอบถามทุกวันศุกร์ แล้วยื่นให้ฝ่ายพัฒนาชุมชนทุกวันจันทร์ เราติดตามผลทุกวันพุธ นี่คือสิ่งที่เราทำกันเป็นประจำ เพราะเราจะนิ่งเฉยไม่ได้ เขามีเรา ความเป็นอยู่เขาต้องดีขึ้น เราประสานงานเรื่องกล้อง CCTV ในจุดบอด ประสานงานเรื่องทางม้าลาย สะพานลอย เหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องทำ 

 

แต่แน่นอน ประสานไปก็ใช่ว่าเขตจะทำให้ทุกเรื่อง บางอย่างต้องใช้ทุนทรัพย์ อย่างที่ผ่านมาประสานแล้วไม่มีใครทำ ผมก็ซื้อปูน ซื้อไม้แผ่นไปทำกันเอง ตอกกันเอง ได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่เราต้องทำ เพราะคิดว่านี่คือบ้านของเรา ทีมงานผมทำงาน 7 วัน นี่คือการทำงานอย่างเข้มแข็งในพื้นที่ และเราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยผมไม่สนใจว่าจะเลือกตั้งสัปดาห์หน้า เดือนหน้า อีก 1 ปี หรือ 4 ปี เพราะประชาชนรอความหวังจากเราอยู่ วันนี้รัฐบาลทำอะไรกันอยู่ ความเดือดร้อนของประชาชนแก้กันหรือยัง เราไม่รู้ ฉะนั้นวันนี้เราต้องทำงาน นี่คือเป้าหมายของผม

ณ วันนี้เราจะทำตามสโลแกน ‘ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ’ เราจะเดินอย่างนี้ เราจะไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

 

ฟีดแบ็กจากการทำงานที่ผ่านมา คนรู้จักคุณมากน้อยขนาดไหน มุมมองที่เปลี่ยนไปจากวันแรกในสายตาชาวบ้านเป็นอย่างไร

เรามี Line@ ซึ่งเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านก็เข้ามาทางนี้ เราก็สนิทกับเขามาก ต้องเรียนว่าไปหลายงานเขาก็เรียกเราว่า ส.ส. เราก็ไปบอกว่า พี่ครับ ผมไม่ใช่ ส.ส. เขาบอกว่าเดี๋ยวก็เป็น เพราะเขาเลือกเรามา หลายชุมชนคะแนนก็ห่างจริงๆ เพราะฉะนั้นเราก็ได้เห็นมุมที่อยู่ด้วยกัน เขาก็มาถ่ายรูปกับเรา เขารู้ว่าผมชอบกินข้าวต้มมัดมากก็เอาข้าวต้มมัดมาฝากที่สำนักงานเรา ถ้าเทียบกับวันแรก เรามาขอเขา เรามาขายของ วันนี้ผมไม่ได้มาขายอะไรเขาเลย พี่ไม่ต้องมาเลือกเบอร์ 5 วันนี้เราจับมือกัน ในวันที่เราทุกข์หรือลำบากก็ยืนอยู่เคียงข้างกัน วันนี้ผมไม่ได้ขอคะแนนเสียงเขา ไม่ได้มาบอกว่าพี่ต้องเลือกผม แต่วันนี้เขาจะรู้แล้วว่าใครที่อยู่กับเขาในวันที่เขาลำบากจริงๆ

 

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

 

ขยับมาคุยเรื่องในพรรคบ้าง พรรคเปลี่ยนหัวหน้าพรรคใหม่แล้ว และเพื่อไทยมีคนรุ่นใหม่ รุ่นใหญ่ รุ่นกลาง มีการรีฟอร์มพรรค มีเพื่อไทยพลัสที่ชูความเป็นคนรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย แล้วคนรุ่นใหม่ของเพื่อไทยเป็นอย่างไร

ต้องบอกว่าคนรุ่นใหม่ในสายตาพวกเราไม่ใช่อายุ คนรุ่นใหม่ในสายตาพรรคเพื่อไทยคือคนที่เข้าใจคนรุ่นใหม่ เข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจบริบทสังคมวันนี้ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นวันนี้ ที่เกิดผลกระทบ วันนี้เพื่อไทยพลัสก็คือการฟอร์มทีมขับเคลื่อนในพรรค ขยับขึ้นไปทำอะไรให้มากขึ้น เรามีสรรพกำลังเยอะมาก ในพรรคเราไม่ได้แยกกันว่าคนสอบตกไม่ต้องมายุ่งกัน เรามารวมกัน มีฝ่ายวิชาการ มีฝ่ายคิดนโยบาย 6 หัวข้อใหญ่ ฝ่ายสถิติข้อมูล ฝ่ายที่ปรึกษา ฝ่ายโฆษก ฝ่ายกิจกรรม อย่างฝ่ายที่ปรึกษาเราไม่ได้ตั้งมามั่วซั่ว เพราะเรามีที่ปรึกษางานในสภาให้กับคนรุ่นใหม่ เช่น อภิปรายต้องเตรียมตัวอย่างไร มีที่ปรึกษาด้านภาพลักษณ์ ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์หรือฝ่ายนโยบาย เรามีหัวข้อวัฒนธรรม ดนตรี เรามีกลุ่มสมาร์ทฟาร์ม กลุ่มเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ กลุ่มคมนาคม การใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี 

 

กลุ่มเพื่อไทยพลัสมีอยู่ 70 กว่าคน เราจะเป็นพื้นที่ทำงาน เสมือนพรรคในพรรค ล้อไปกับนโยบาย อย่างเรารับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เช่น เรื่องอีสปอร์ต เขาบอกว่าอยากให้รัฐสนับสนุนเรื่องนั้นเรื่องนี้ เกมไทยมีเพียง 15% ที่เหลือเป็นเกมต่างชาติหมดเลย อยากทำเกมเอง ไม่มีเงินทุน เราไปรับฟังปัญหามาแล้ว ในกลุ่มเราที่ไปฟังก็มีทั้งทีม ส.ส. ที่จะเอาเรื่องนี้ไปตั้งกระทู้ถามในสภา ถามรัฐมนตรี ส่วนทีม ส.ส. สอบตกก็ทำนโยบายเชิงยั่งยืน ทำเสวนาต่อเนื่อง ได้ข้อมูลมาก็แชร์กันต่อกับทีม ส.ส. ในสภาเพื่อตั้งกรรมาธิการ แล้วก็เอาทีมสอบตกเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในกรรมาธิการ เอาเรื่องนี้เข้าไปพูดในกรรมาธิการต่อ ฉะนั้นเรามีช่องทางการทำงานที่ชัดเจนไปสู่รูปธรรม

 

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

 

แล้วเพื่อไทยพลัสในต่างจังหวัดจะขยับการทำงานแบบนี้อย่างไร

ใน 70 กว่าคน เรามาจากทั่วประเทศ ส.ส. ขอนแก่น เชียงราย อุดรธานี มีหมด และเราจะมีโครงการออกไปรับฟังปัญหาโดยใช้ชื่อว่า My Home 2025 บ้านของฉันในอนาคตที่อยากเห็น เราจะไม่โฟกัสกับคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง เราจะโฟกัสเด็กมัธยมเลยว่าเขาอยากเห็นบ้านของเขาเป็นอย่างไรบ้าง นี่คือสิ่งที่หนึ่ง เราจะทำอย่างนี้ไปทุกจังหวัด บ้านของฉันในมุมมองเด็กที่อยู่อำนาจเจริญ บ้านของฉันในมุมเด็กที่อยู่ยะลา เราจะเก็บข้อมูลนี้เป็นบิ๊กดาต้าเพื่อให้เห็นความต้องการของประเทศไทยในปี 2025 จะเป็นอะไรบ้างในการทำนโยบาย 

 

ณ วันนี้เราจะทำตามสโลแกน ‘ประชาชนคิด เพื่อไทยทำ’ เราจะเดินอย่างนี้ เราจะไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะเราไม่สามารถมองเห็นปัญหาได้เท่าคนที่ประสบปัญหา ส.ส. ในพื้นที่ก็เช่นกัน ปัญหาแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน พื้นที่ตรงนี้แล้ง แต่ตรงนั้นไม่แล้ง อันนี้ราคาดี อันนี้ราคาไม่ดี เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือทำทุกจังหวัด นี่คือกระบวนการทำงานอย่างสมเหตุสมผล การรับฟังปัญหา การแก้ปัญหาฉุกเฉิน อย่างภัยแล้ง หนอนกระทู้ อุทกภัย ตลอดจนการแก้ปัญหาเชิงยั่งยืน เพราะผมไม่เชื่อว่าการตั้งกระทู้ถามในสภาจะทำให้รัฐมนตรีมาออกนโยบายตามที่เราต้องการ ก็ได้แค่เสียงที่เขาพูดในสภา แต่วันนี้ชาวบ้านต้องการรู้ว่าเราจะทำอะไรให้เขาบ้าง

ก็จะทำให้รู้สึกว่าสภาเป็นของประชาชน ไม่ใช่ว่าผู้แทนอยากจะพูดอะไรก็พูด แต่จะพูดสะท้อนความต้องการของประชาชน จับต้องได้แน่นอน

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

 

เพื่อไทยพลัสเรียกว่าเป็นการรีฟอร์มเพื่อไทยไหม

คุณหญิงสุดารัตน์ให้การสนับสนุนเต็มที่ เรามีความอิสระมาก นี่คือสิ่งที่เราต้องการ การทำโครงสร้างนี้เราแอ็กชันได้เร็ว เรามีฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเราเอง หัวหน้าของเราก็คือ คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ที่มีประสบการณ์ในสภา 3 สมัย เรามีฝ่ายวิชาการที่มีหลักสูตรอบรมบุคลากรภายในพรรค สร้างเสริมศักยภาพทีม เรามีทีมภายในคือ Next Gen ที่อบรมหลักสูตรภายใน และเราจะเปิดอบรมบุคคลภายนอก เปิดพื้นที่คุย โดยพรรคเพื่อไทยจะทำพื้นที่ด้านล่างเป็น Co-working Space เสวนาเรื่องต่างๆ เปิดช่องทางทำ Internship Program เป็นสะพานเชื่อมทั้งหมด เราจะไม่เป็นพรรคที่รู้สึกจับต้องไม่ได้อีกต่อไป แต่จะเป็นพรรคที่เปิดกว้างกับทุกคน นี่คือเป้าหมาย

 

เพื่อไทยพลัสมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับนโยบายอย่างไรบ้าง

ในตอนแถลงนโยบาย ทีมเพื่อไทยพลัสได้มีส่วนร่างแถลงของผู้นำฝ่ายค้าน นำปัญหาที่เราเห็นร่วมร่างแถลง และเราก็มี ส.ส. คนรุ่นใหม่ได้อภิปรายคือ คุณน้ำ-จิราพร สินธุไพร จากร้อยเอ็ด เรื่องเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การเสียโอกาสทางการค้า ส่วนหลังจากนี้ก็จะได้เห็นเพื่อไทยพลัสพูดทีละคนๆ แน่นอนว่าเราจะเปิดช่องทางให้ได้พูดสะท้อน โดยเราจะทำการเมืองสร้างสรรค์ พูดเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อน เราจะเป็นภาพใหม่ๆ

 

ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส เพื่อไทยพลัส

 

นอกจากเพื่อไทยพลัสแล้วจะมีการรีฟอร์มพรรคเพื่อไทยอย่างไรอีกบ้างที่ประชาชนจะได้เห็นนับจากนี้

อันดับหนึ่งคือช่องทาง คุณได้เห็นเราแน่ผ่านช่องทางที่เรานำเสนอ เราจะเพิ่มช่องทางสื่อสารให้ประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด เราจะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้มากที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ทุกๆ สัปดาห์เราจะมีนิทรรศการใหญ่ให้พี่น้องได้เห็นแน่นอน เร็วๆ นี้จะเปิดแพลตฟอร์มชื่อว่า Change Bangkok เป็นศูนย์รวมเรื่องร้องทุกข์ออนไลน์ อยู่ที่ไหนก็ร้องเรียนได้ จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างปัญหากับพรรค และเข้าไปในสภา เข้าไปในกรรมาธิการต่างๆ เชื่อมสู่กัน เราจะบอกว่าเราทำอะไรให้คุณบ้าง 

 

เราจะทำโครงการที่ชื่อว่า ‘ไปสภากับ ส.ส. เพื่อไทย’ คือในรายสัปดาห์จะบอกประเด็นมา เช่น เปิดมาด้วยเรื่องเกษตร ทุกคนมีอะไรเกี่ยวกับเรื่องเกษตรก็พูดมา ส่งมาภายในวันศุกร์ วันเสาร์เราก็จะประชุมกันแล้วทำเป็นหัวเรื่องย่อยๆ พอเปิดสภาวันพุธก็พูดอภิปรายเลย ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้คนรู้สึกว่าเขาเข้าสภาไปกับเรา พี่น้องไม่ได้เข้าสภา แต่อยากฝากหมอชลน่านไปพูด ก็จะทำให้รู้สึกว่าสภาเป็นของประชาชน ไม่ใช่ว่าผู้แทนอยากจะพูดอะไรก็พูด แต่จะพูดสะท้อนความต้องการของประชาชน จับต้องได้แน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising