“สังคมไทยเละเทะมาก ผมเคยรู้สึกเกลียดนักการเมือง รู้สึกว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญของบ้านเมือง เกลียดที่คุณทำอะไรให้มันดีขึ้นไม่ได้เลย”
“นักการเมืองส่วนหนึ่งไม่เอาลูกเข้าโรงเรียนรัฐ โรงเรียนวัด ซึ่งมันสะท้อนว่าการศึกษาไทยยังดีไม่พอ”
นี่ไม่ใช่คำพูดจากรายการช่วง 2 ทุ่มเย็นวันศุกร์ แต่เป็นความคิดเห็นของคนทำงานการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคเพื่อไทย
‘ปุ๊น-ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส’ จะอายุ 28 เดือนหน้านี้ เขาจบการศึกษาจากโรงเรียนนานาชาติเอกมัย สอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่อายุ 16 ปี ในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เอกเปียโน
มีบทบาทเป็นนักแต่งเพลง ทำงานเบื้องหลังให้ศิลปินค่ายอาร์เอสไว้มากมาย และด้วยสำนึกต่อสังคม ทำให้ปุ๊นหันมาก่อตั้งบริษัท เปเปอร์กรีน จำกัด (Paper Green Co., Ltd) ในฐานะผู้ให้บริการผลิตภัณฑ์กระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งแรกในประเทศไทย
จนเป็นหนึ่งในตัวแทนผู้นำเยาวชนโลก One Young World Summit 2014 ที่กรุงดับลิน และ One Young World Summit 2015 ที่กรุงเทพมหานครเป็นเจ้าภาพ
แต่วันนี้ เขาเป็นหนึ่งในคนที่เลือกมาทำงานการเมืองร่วมกับเหล่า ‘นักการเมือง’ ซึ่งเป็นอาชีพที่เขาเองก็เคยปรามาสมาก่อนว่าไม่ได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม
ชีวิตวัยขาสั้น กับงานประกวดดนตรี
แม้จะมีต้นทุนชีวิตที่ดีในระดับหนึ่งจากครอบครัว ซึ่งปุ๊นได้บอกว่าครั้งหนึ่งคุณพ่อคุณแม่เคยคิดจะฆ่าตัวตาย ประกอบกับมีพี่ชายที่ร่างกายไม่ครบสามสิบสอง
แต่ถึงอย่างไร ทุกคนก็ฝ่าฟันมาจนสร้างโอกาสทางการศึกษาให้ปุ๊น ได้เรียนโรงเรียนนานาชาติ มุมมองความคิดของปุ๊นที่ถูกหล่อหลอมมาจากทั้งอุปสรรคและโอกาส จึงเป็นต้นทุนที่นำมาต่อยอด เพื่อเลือกที่จะมีความสุขไปกับสิ่งที่ทำ หารายได้โดยไม่ต้องขอพ่อแม่ ซึ่งผู้เป็นพ่อได้บอกตลอดว่าอยากได้เงินต้องทำงาน ต้องทำยอดขายให้ได้มากถึงจะได้เงิน
เช่นเดียวกับการแข่งประกวดดนตรีสมัยมัธยมของ วัน-ทู-คอล ที่ได้เงินรางวัลที่ 1 มา และเส้นทางสายเบื้องหลังของวงการเพลงก็เป็นอีกช่องทางของการสร้างเนื้อสร้างตัวของปุ๊น ไม่ว่าจะเป็นร่วมทำคอนเสิร์ตกามิกาเซ่ วงซีควินท์ วง ETC โดยทุกวันนี้ก็ยังรับทำอยู่ ซึ่งปุ๊นบอกว่า “ทำด้วยใจรัก จึงไม่มีวันทิ้ง”
ความเชื่อว่า ‘คนเราต้องเก่งสักด้านหนึ่ง’ Season Change คือแรงบันดาลใจ
ความสามารถด้านธุรกิจ ปุ๊นเชื่อว่าเป็นความสามารถที่เรียนรู้ภายหลังได้ แต่ ณ วันนั้น การเล่นเปียโนและการแต่งเพลง คือสิ่งที่ปุ๊นเก่งที่สุด สาขาที่เลือกในระดับอุดมศึกษาจึงเลือกเป็นนักแต่งเพลง ซึ่งคุณค่าสำคัญจากการเป็นศิลปินคือการเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะต้องรู้ว่ากระแสสังคมต้องการเพลงแบบไหน อะไรคือเทรนด์ที่กำลังมา “เราต้องรู้จักฟัง มอบในสิ่งที่เขาอย่างฟัง และมอบอย่างตั้งใจ”
การเล่นดนตรีคือการถามตอบ
“ไม่ใช่เพียงร้องเก่ง คุณต้องเลือกบางสิ่งแสดงออกไป เลือกเพื่อมอบความสุขให้คนฟัง การใช้ชีวิตของปุ๊นจึงเป็นไปเพื่อความสุขที่ยั่งยืน นี่คือแพสชัน”
เปเปอร์กรีน แนวคิดธุรกิจรักษ์โลกของคนหนุ่ม
ด้วยวัยเพียง 21 ปี แต่เพราะใจอยากทำธุรกิจที่มีส่วนสร้างความยั่งยืนและเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปุ๊นดำเนินกิจการขายกระดาษกรีนรี้ด ตอนเย็นเลิกเรียน ปุ๊นเปลี่ยนหัวเข็มขัดมหิดลเป็นเข็มขัดธรรมดา สะพายเป้แล้วคว้าสูท หยิบกระดาษไปขายให้กับหลายสำนักพิมพ์ เช่น Happening, Bioscope, a day เป็นต้น
ประสบการณ์อาสาสมัครตำรวจตั้งด่าน ในวันที่ตำรวจขาดศรัทธาจากผู้คน
จากที่ได้พบเห็นผู้คนด่าตำรวจ ด่าคนบังคับใช้กฎหมายกันเยอะมาก ปุ๊นเลือกเดินไปเป็นอาสาตำรวจถึง สภ.บางปู หลังจากรับรู้เรื่องราวผ่านคนขับแท็กซี่ที่เป็นอาสาตำรวจเช่นกัน ต่อจากนั้นก็ได้ไปเป็นอาสาตำรวจที่ สน.พลับพลาไชย 2 อีก จึงเห็นปัญหาสังคม ได้เห็นจุดบกพร่องของกฎหมาย เช่น รับรู้มุมอื่นๆ ที่มองว่ากฎหมายรังแกคน อย่างกรณีจำกัดหนทางการทำมาหากินของคนที่ประสงค์จะขับอูเบอร์ ก็เป็นอีกด้านหนึ่งที่ปุ๊นได้รับรู้ผ่านการเป็นอาสาตำรวจ
One Young World โอกาสที่ได้รับจากการเป็นผู้ประกอบการรักษ์โลก
ปุ๊นพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าต้องขอบคุณทาง กทม. ภายใต้การบริหารของอดีตผู้ว่าสุขุมพันธ์ุ บริพัตร ทำให้ปุ๊นได้เข้าร่วมเวที One Young World ที่มีทั้งอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ โคฟี อันนัน รวมถึงอดีตผู้นำหลายชาติ
บทเวทีปุ๊นได้พูดถึงเรื่องการศึกษา ไม่ใช่ว่าคุณต้องทำการศึกษาให้สามารถผลิตคนจบด็อกเตอร์หรือคนจบโทหลายใบ โดยที่พวกเขาเหล่านั้นกลับเขี่ยบุหรี่ทิ้งลงถนน ไปเที่ยวทะเลก็ทำลายปะการัง ถ้าแบบนี้มีการศึกษาไปก็เท่านั้น แต่สิ่งที่รัฐบาลควรโฟกัสคือการสร้างจิตสำนึก เหมือนกับที่เกิด CSR ในภาคบริษัทเอกชน การศึกษาต้องทำให้คนตระหนักว่าจะทำอย่างไรให้สังคมมันดีขึ้น ตระหนักถึงสิ่งที่ตามมาจากผลการกระทำของตน
คนรุ่นใหม่ที่เลือกจะบวชด้วยสำนึกตนเองหลังเรียนจบ
หลังจบการศึกษาจากมหิดล ปุ๊นบอกเราอย่างภูมิใจว่าเขาเลือกจะบวช โดยไม่ต้องให้พ่อแม่มาขอ หลังจากที่บวชก็ได้ไปช่วยงานภายในวัดและได้พบกับผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ทำให้มีโอกาสสนทนาถึงประสบการณ์ต่างๆ ที่ปุ๊นเคยทำ ทั้งเรื่องธุรกิจ เรื่องการได้ขึ้นเวที One Young World และได้เข้ามาเป็นคนรุ่นใหม่ในพรรคเพื่อไทยวันนี้
จุดหักเหของคนดนตรีที่เบนมาสู่งานการเมืองคืออะไร
“สังคมไทยเละเทะมาก ผมเคยรู้สึกเกลียดนักการเมือง รู้สึกว่าเป็นตัวถ่วงความเจริญของบ้านเมือง เกลียดที่คุณทำอะไรให้มันดีขึ้นไม่ได้เลย”
“นักการเมืองส่วนหนึ่งไม่เอาลูกเข้าโรงเรียนรัฐ โรงเรียนวัด ซึ่งมันสะท้อนว่าการศึกษาไทยยังดีไม่พอ”
“ประเทศไทยเราเติบโตได้เพราะเอกชน ไม่ใช่เพราะภาคการเมืองเลย”
ข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนจากสิ่งที่พรั่งพรูออกมา แต่ยังมีอีกหลายวาทะที่สะท้อนความคิดสอดรับกับความเห็นของผู้คนอีกมากมายในสังคมไทย ไม่ว่าจะเรื่องทางเท้าไม่เรียบร้อย ที่จอดรถรับส่งคนพิการถูกคนไม่พิการใช้จอด จนหลายคนก็คงมีครั้งหนึ่งที่ตั้งคำถามขึ้นมาในใจว่า จะเสียภาษีไปเพื่ออะไร ในสังคมที่เละเทะแบบนี้
‘อย่าเก่งแค่หลังคีย์บอร์ด’ มุมคิดที่เป็นจุดพลิกเส้นทางชีวิต
หลังจากได้เป็นอาสาสมัครตำรวจจนทำให้รู้ว่าตำรวจก็ไม่ใช่ผู้ออกกฎหมาย ปัญหาสังคมจึงไม่ได้แก้แค่ที่ตำรวจ ทว่านักการเมืองคืออีกคนที่มีบทบาทสำคัญ
นักการเมืองที่ผ่านมาทำไม่ถูกใจจนสังคมยังเละเทะ แต่ทำไมยังเลือกทำการเมืองกับเพื่อไทย
“เคยได้ยินคำว่า ถ้ากลัวอะไร ไม่ชอบอะไร ต้องมาทำสิ่งนั้นไหม”
“ต้องบอกว่าผมชอบนโยบายไทยรักไทย แน่นอนว่าผมรู้สึกชอบในแง่พรรคนี้เป็นพรรคประชาชน อันนี้เป็นสิ่งแรกเลย แล้วนักการเมืองที่เราต้องปัดกวาดก็คือนักการเมืองของเพื่อไทย คือนักการเมืองเพื่อไทยดีๆ ก็มีเยอะ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่มากและใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด พูดอย่างนี้ก็ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่เกิดทุกวันนี้ เราก็อยากไปมีส่วนร่วมแก้ไขตรงนี้ ร่วมทำประเทศไทยให้เป็นประเทศไทยที่คนรุ่นใหม่ต้องการ”
ที่ทางของคนรุ่นใหม่ คนหน้าใหม่ๆ ไม่ใช่ทายาทนักการเมือง ตระกูลการเมืองในการเมืองไทยวันนี้ยังเป็นไปได้อยู่ไหม แล้วคนใหม่ๆ จะไปรอดไหม
ปุ๊นย้อนไปถึงสมัย 14 ตุลาคม 2516 โดยมองว่านักศึกษาก็ออกมาด้วยอุดมการณ์ มีสิ่งที่อยากเห็น อยากให้เป็น การที่คนรุ่นใหม่ออกมาก็คือการจุดไฟให้นักการเมืองรุ่นเก่ากลับมามีอุดมการณ์อีกครั้งเพื่อก้าวออกไปจากการเมืองแบบเก่า
คิดว่าเพื่อไทยที่เราเข้าร่วมจะเปลี่ยนแปลงได้สักครึ่งของที่เราอยากให้เป็นไหม เช่นในเชิงโครงสร้าง หรือมีการรับฟังมากขึ้น
“ผมเชื่อว่าจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ ทั้งโครงสร้าง ทั้งการสื่อสารกับประชาชน พรรคนี้เป็นพรรคที่อยู่กับประชาชนมาตลอดอยู่แล้ว ใกล้ชิดอยู่แล้ว เทคโนโลยีในวันนี้จะยิ่งให้เราใกล้ชิดประชาชนยิ่งขึ้นไปอีก”
นักการเมืองคือกระบอกเสียง เป็นผู้แทนไปเป็นปากเสียงประชาชน ซึ่งตอนนี้ปุ๊นกำลังทำแพลตฟอร์มที่จะรวบรวมปัญหา เรื่องร้องเรียน แล้วจะเห็นลำดับความสำคัญ เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้ตรงขึ้น
แต่พรรคเพื่อไทยถูกรุกไล่อยู่ตลอด ทั้งประเด็นทักษิณ ประชานิยม ถูกรัฐประหาร
“ก่อนอื่น ประชานิยม หรือคำอื่นจะอะไรก็ตาม มันก็ต้องประชานิยม มันไม่ได้แย่ในตัวเอง ประชาชนเลือกเรามา หน้าที่เราคือทำให้คนจนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นำภาษีจากคนรวยมายกระดับให้คนจนดีขึ้น นโยบายก็ต้องทำให้คนชั้นล่างมีเครื่องมือทำมาหากินได้ดีขึ้น สิ่งนี้จะเรียกมันว่าประชานิยมหรือเปล่า สำหรับผม ผมเรียกว่า การตอบแทนความต้องการของประชาชนหมู่มาก ซึ่งคนที่มีทุกอย่างครบแล้ว คุณไม่ได้เผชิญปัญหาร่วมกับเขา หรือคนในเมืองก็ประสบปัญหาความลำบากอีกแบบหนึ่งก็ต้องช่วย
สำหรับเรื่องที่สอง พรรคมีใครเป็นเจ้าของ ผมมองเหมือนกับพรรคคุณธนาธร พรรคคุณสุเทพ ก็มีคนที่อยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงในสังคมมาทำด้วยอุดมการณ์ คุณทักษิณก็ทำให้นโยบายประสบความสำเร็จตั้งหลายอย่าง โอทอป, กองทุนหมู่บ้าน, 30 บาทรักษาทุกโรค ผมมองว่าพรรคนี้ก็มี ส.ส. เยอะ มีพี่ๆ ที่ทำงานหลายท่าน ซึ่งคำถามว่าทักษิณเป็นเจ้าของหรือไม่ ผมว่าไม่สำคัญ แต่ถามว่าเราจะผลิตอะไรให้กับสังคมได้ ให้กับคนที่เขาเลือกเราได้จะดีกว่า แต่หากจะคิดจริงๆ ว่าทักษิณเป็นเจ้าของพรรคหรือไม่ ถามว่ามีอะไรที่บอกว่าเขาเป็นเจ้าของพรรค ผมยังไม่รู้สึกว่ามีนโยบายอะไรที่ทำเพื่อเอื้อหนุนเขาคนเดียว
สำหรับเรื่องพรรคโดนรัฐประหารบ่อย หากพรรคที่คนเลือกมาบริหารได้ห่วยแตก อีก 4 ปีข้างหน้าพรรคก็จะไม่ได้รับเลือก นี่คือประชาธิปไตยที่แท้จริง คนที่ประชาชนเลือกมาไม่ควรถูกใครที่ไหนจู่ๆ มาลากออกไป แต่พอเป็นแบบนั้นมันถึงเกิดเสื้อเหลืองเสื้อแดง ประชาชนออกมาเพราะตระหนักว่าทำไมต้องยอมกับอะไรแบบนี้ ซึ่งหากจะไม่ให้มีอะไรแบบนี้ การสร้างภูมิคุ้มกันต้องมีเรื่องสิทธิ ว่าประชาชนมีสิทธิอะไร สิทธิในการตรวจสอบรัฐบาล เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่เป็นระบบที่ช่วยเหลือคนหมู่มากได้ดีที่สุด เป็นระบบที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน มีฝ่ายค้าน มีองค์กรอิสระมาตรวจสอบ มีศาล ไม่ใช่เป็นอย่างทุกวันนี้ ที่องค์กรอิสระไม่มีอิสระ ระบบมันพังไปหมด”
ถ้ามีเรื่องหนึ่งที่สามารถแก้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร อยากแก้เรื่องใด
“แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทันที ทุกอย่างต้องมาจากประชาชน ตำแหน่งในรัฐสภา ส.ส. และ ส.ว. ต้องมาจากประชาชน ไม่ใช่มี ส.ว. มาจากอะไรไม่รู้แล้วมาคุมประเทศไทย เพราะประชาชนคือลูกค้าของเรา ประเทศนี้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้นในรัฐสภา ทุกคนมาแข่งกันเพื่อประชาชน รัฐธรรมนูญ 2560 ออกมาแบบนี้ ประชาชนอยู่ที่ไหน เช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เขากล้าดีอย่างไรมาบอกว่าอนาคตต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อ 8 ปีก่อนเฟซบุ๊กยังไม่ฮิต ขายของออนไลน์ยังไม่มีเลย ผมเดินซื้อของยังเดินไนท์บาซาร์อยู่เลย วันเสาร์วันอาทิตย์ไปเดินเจเจ แต่สมัยนี้ซื้อขายออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก คุณจะไปรู้อนาคตได้อย่างไร คนที่ออกกฎหมายอยู่ทุกวันนี้ ยังมีเรื่องที่คุณบอกจะทำ แต่คุณยังทำไม่สำเร็จอยู่เลย คุณบอกจะมีภาษีที่ดิน ยังทำไม่ได้เลย แล้ว 20 ปีอนาคตจะเป็นอย่างไร”
ในสายตาของเราคนแบบไหนจะมานำพาชาติต่อไป ผู้นำควรมีคุณสมบัติแบบไหน
“คนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา แก้ก่อน 80% แล้วพัฒนาอีก 20% แก้อะไร เข้ามาปรับโครงสร้าง ปรับแนวคิดของข้าราชการ ใช้คนให้น้อยลง มีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ไขระบบสวัสดิการสังคมให้ดีขึ้น
ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ รู้ความต้องการของสังคม รู้เรื่องเศรษฐกิจ รู้เรื่องเกษตร ซึ่งจะเป็นการหาเงินเข้ามาในประเทศชาติ ช่วยเหลือเกษตรกรให้ไม่ถูกกดขี่
สำหรับผม ภารกิจของผมไม่ใช่สิ่งที่จะสำเร็จใน 4 ปี มันเป็นภารกิจระดับชีวิต ไม่ใช่ว่า 4 ปีจะเพียงพอ”
แล้วผู้นำเพื่อไทย คนที่จะมาเป็นหัวหน้าพรรค ควรเป็นอย่างไร
“เปิดรับสิ่งใหม่ๆ เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว รู้จักเรียนรู้ตลอดเวลา คอยดูบริบทสังคม กระแสโลกว่าไปทิศทางไหน และเก่งเรื่องเศรษฐกิจกับเรื่องเกษตร ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีคนเก่งเยอะ”
ที่บอกว่า 4 ปีไม่พอ ต้องเป็นทั้งชีวิต แต่ว่าการเมืองไทย จากนักธุรกิจ คนที่ทำงานแสงสี มาเจอความเสี่ยงการเมือง เสี่ยงติดคุก ไม่กลัวเหรอ คุกนะ
“ผมคิดว่าหากวันหนึ่งต้องตาย ถ้าตายด้วยการทำอะไรดีๆ ก็ยอมตาย ผมไม่กลัว คำว่าคุกไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกล้าไม่กล้าในการมาเล่นการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีส่วนที่จะบอกว่าทิศทางประเทศควรไปทางไหน เรื่องกลัวติดคุก ขนาดนักศึกษาที่ออกมาเรียกร้องเลือกตั้งเขายังไม่กลัวเลย”
แต่ในวันที่ผู้คนหมดหวังกับการเมือง กับนักการเมือง จะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความหวัง
“การที่เราหมดความหวัง ก็เท่ากับเรายอมแพ้ต่ออนาคตของประเทศเรา วันนี้เรามีเทคโนโลยีที่จะสื่อสารกับนักการเมืองได้มาก ใช้ตรงนี้เป็นเครื่องมือ บอกในสิ่งที่ประชาชนต้องการ และเลือกคนที่จะเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ อย่ายอมแพ้กับอนาคต อย่างผม ผมจะอยู่เฉยๆ ทำธุรกิจดีอยู่แล้ว ไม่เล่นการเมืองเลยก็ได้ แต่ว่าเมื่อมีโอกาสมา เราก็อยากมาทำให้มันดีขึ้น ประชาธิปไตยคือเราทุกคนมาทำให้สังคมดีขึ้นไปด้วยกัน การเมืองคือเรื่องของทุกคน มันจะเดินไปไม่ได้ ถ้าทุกคนยอมแพ้หมด”