×

คลังฟื้น LTF พยุงตลาดหุ้น – แจกเงินเข้าพร้อมเพย์สู้โควิด-19

โดย efinanceThai
05.03.2020
  • LOADING...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลังจ่อชงมาตรการแสนล้านสู้โควิด-19 เข้าคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ 6 มีนาคมนี้ เล็งปรับสิทธิ SSF ให้ใช้เกณฑ์เดียวกับ LTF ฟื้นตลาดทุน – แจกเงินลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบผ่านพร้อมเพย์ 1,000-2,000 บาทต่อคน – ลดเงินนำส่งประกันสังคม   

  

อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าในวันที่ 6 มีนาคมนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ชุดที่ 1 เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และหากเห็นชอบจะให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติทันทีในวันที่ 10 มีนาคมนี้ โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านบาท

 

โดยมาตรการดูแลภาคตลาดทุน โดยเฉพาะการปรับสิทธิประโยชน์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหุ้น เช่น ขยายวงเงินลดหย่อนภาษีให้มากกว่า 2.5 แสนบาท

    

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กรมสรรพากร, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หารือกันเพื่อปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ให้ใช้เหมือนกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่ได้ยกเลิกไปแล้ว เพื่อช่วยเหลือตลาดทุนที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ร่วงลงไปอย่างมาก ส่วนจะเพิ่มวงเงินลงทุนได้ 5 แสนบาทและระยะเวลาการถือครอง 7 ปีเหมือนเดิมหรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณา

  

“ก่อนหน้านี้ที่กระทรวงการคลังออก SSF ตอนนั้นยังไม่มีผลกระทบจากไวรัส แต่เมื่อตอนนี้มีปัจจัยลบเข้ามาเพิ่มก็จะต้องพิจารณาปรับปรุงใหม่เป็นการชั่วคราว และทุกอย่างจะได้ข้อสรุปและเข้าคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์หน้า” อุตตมกล่าว

   

ขณะที่มาตรการช่วยเหลือประชาชน ห้างร้าน โรงงาน ธุรกิจบริการ ท่องเที่ยว เอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วง 3-4 เดือน โดยเฉพาะลูกจ้างแรงงานทั้งพนักงานประจำ เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงอาชีพอิสระที่ถูกเลิกจ้างงาน ไม่มีงานทำ หรืออยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐเป็นรายเดือน โดยผ่านระบบพร้อมเพย์ให้นำไปใช้จ่าย เบื้องต้นประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อคน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้ประโยชน์ประมาณ 14 ล้านคน   

   

ขณะเดียวกันจะมีมาตรการดูแลเจ้าของธุรกิจเพื่อไม่ให้เลิกจ้างลูกจ้างแรงงาน โดยนำค่าแรงหรือเงินเดือนไปหักเป็นค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 1 เท่า รวมถึงการลดเงินนำส่งเงินประกันสังคม การขยายเวลายื่นภาษีนิติบุคคล และการออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) วงเงินแสนล้านบาท เพื่อให้ธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ไปปล่อยกู้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยมีรัฐบาลเข้าไปชดเชยดอกเบี้ย

 

“กระทรวงการคลังไม่ใช่ซานตาคลอสที่จะมาแจกเงิน เพราะถ้าสถานการณ์ปกติเราก็ไม่ทำ แต่ในขณะนี้ผลกระทบจากโควิด-19 มีค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องออกมาตรการมาดูแลผู้เดือดร้อนแบบเร่งด่วน แต่ครั้งนี้จะไม่มีมาตรการชิมช้อปใช้หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าไป ซึ่งจะต้องรอหลังสงกรานต์” อุตตมกล่าว

  

ส่วนกรณีธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบพิเศษ 0.5% เป็นแนวทางที่เห็นด้วย เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่ผลกระทบของไทยเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยยังติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะตัดสินใจว่าจะปรับลดดอกเบี้ยเร่งด่วนหรือไม่

   

ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างใกล้ชิดเพื่อให้เห็นภาพชุดมาตรการทั้งหมดว่ากระทรวงการคลังจะดำเนินการอย่างไรบ้าง เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำไปพิจารณาต่อว่าจะดำเนินนโยบายการเงินออกมาอย่างไร ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่มีกำหนดวันที่ 25 มีนาคมนี้ เชื่อว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยคงติดตามดูเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องแน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์  

เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising