×

คลังแจงที่ประชุม ส.ว. กู้เงิน 5 แสนล้าน เป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล มีเงินทุนสำรองไม่พอแก้โควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
14.06.2021
  • LOADING...
กู้เงิน 500 แสนล้าน

วันนี้ (14 มิถุนายน) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้นำเสนอพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาท แก่ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคระบาดที่มีความรุนแรงมากที่สุดในรอบหลายปี มีการแพร่ระบาดไปในวงกว้างอย่างรวดเร็วทั่วโลกและประเทศไทยนับตั้งแต่ต้นปี 2562 ซึ่งไม่สามารถที่จะคาดการณ์การสิ้นสุดได้ ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกและของประเทศไทยในปี 2563 หดตัวรุนแรงมากที่สุดในรอบ 23 ปี นับแต่วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 

 

ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 ว่าจะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 1.5-2.5 เท่านั้น

 

นอกจากนี้คาดว่าการท่องเที่ยวซึ่งเป็นตัวกระตุ้นหลักของเศรษฐกิจไทยจะยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะลดลงจากเดิมประมาณร้อยละ 53 และรายได้จากนักท่องเที่ยวจะลดลงกว่า 440,000 ล้านบาท หรือ 2.76 ของ GDP ในปี 2563 ดังนั้นรัฐบาลตระหนักถึงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทางด้านการท่องเที่ยวจึงได้วางกันแนวทางในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพท่องเที่ยวสูง และได้รับวัคซีนครบแล้วจากประเทศการเสี่ยงต่ำและปานกลางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยจะเริ่มจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง 

 

อาคม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องผ่านแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ ทั้งการจัดสรรงบกลาง ผ่านการกู้เงิน แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสำหรับการโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้นก็ไม่สามารถที่จะทำได้ เนื่องจากเอกสารงบประมาณลงไปยังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐตามแผนที่กำหนดไว้หมดแล้ว จึงทำให้รัฐบาลไม่มีงบประมาณเหลือสำหรับการโอนงบประมาณได้ ขณะเดียวกันเงินทุนสำรองจ่ายที่มีอยู่ก็มีไม่เพียงพอเช่นเดียวกัน และสำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณรายจ่าย 2564 รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 มีข้อจำกัดและได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากจะรองบประมาณจากการจัดเก็บในปี 2565 นั้นก็ไม่สามารถที่จะรอได้ ประมาณต่อการเดินหน้าแก้ปัญหาโควิด-19 ในประเทศ ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับมาสู่สภาวะปกติโดยเร็ว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนในการแก้ปัญหาสถานการณ์และหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งงบประมาณกู้ครั้งนี้จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล 

 

อย่างไรก็ตาม การกู้เงิน 500,000 ล้านบาทครั้งนี้ รัฐบาลจะนำงบประมาณไปใช้ตามแผนงานที่มีวัตถุประสงค์ด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดสรรงบประมาณไว้กว่า 30,000 ล้านบาทเพื่อรองรับการจัดหาวัคซีน การเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ และการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และนำไปเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ นำไปใช้ช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยประชาชนในทุกสาขาอาชีพจำนวน 300,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเยียวยาและชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในทุกสาขาอาชีพอย่างทั่วถึง และเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ นอกจากนั้นรัฐบาลจะมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลให้สามารถประคับประคองการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานพนักงานต่อไปได้

 

แผนงานสุดท้ายรัฐบาลจะนำไปใช้ในโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จำเป็นจะต้องเร่งฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติที่ 170,000 ล้านบาท

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising