บทความในตอนนี้จะอธิบายต่อจากตอนที่แล้ว เพื่อให้เห็นประโยชน์ของข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบฟรีๆ หากท่านเข้าใจวิธีการอ่าน ก็จะช่วยทำให้เกิดความสนใจและสร้างความมั่นใจเพื่อตัดสินใจลงทุนได้
การอ่านข้อมูลค่าสถิติที่สำคัญ ยกตัวอย่างหุ้น : DRT
รูปที่ 1
ค่าสถิติที่สำคัญของ DRT
1. ราคาล่าสุด
จากรูปที่ 1 แสดงราคาปิดของหุ้น DRT ย้อนหลัง 4 ปี (2560-2563) และราคาปิดล่าสุด ณ วันที่ 2 มีนาคม 2564 แม้ว่าเราจะไม่ได้เห็นราคาที่เคลื่อนไหวแต่ละวัน แต่ก็พอจะเห็นข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นแบบยาวๆ ถึง 4 ปีย้อนหลัง จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าหุ้น DRT อยู่ที่ราคา 5.70 บาท ในปี 2560 และเพิ่มเป็น 6.25 บาท ในปี 2562 ถ้าเราถือหุ้น DRT ในช่วง 3 ปีนี้ ส่วนเปลี่ยนแปลงราคา (Capital Gain) ซึ่งเป็นผลตอบแทนของหุ้นชนิดหนึ่งจะมีอัตรา (6.25-5.70/5.70) เท่ากับ 9.64% สำหรับปี 2563 ราคาหุ้น DRT มีระดับลดลงเหลือ 5.85 บาท ซึ่งในปีนี้คงได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ วันที่ 2 มีนาคม 2564 ราคาหุ้น DRT ได้กลับมาอยู่ในระดับ 6.20 บาท ตามภาวะตลาดที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวหลังมีการวัคซีนรักษาโรค
แม้ว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น DRT ที่ไม่หวือหวานัก แต่ถ้าถือในระยะยาว แนวโน้มของราคาเป็นไปในทางอัปเทรนด์ ความไม่หวือหวาของหุ้นอาจมาจากขนาดของธุรกิจที่ไม่ได้มีการขยายตัวมากนัก ส่วนแบ่งการตลาดและยอดขายของธุรกิจจึงอยู่ในลักษณะอิ่มตัว ไม่จำเป็นต้องลงทุนขยายธุรกิจ (วิเคราะห์ผ่านข้อมูลผลประกอบการในตอนที่แล้ว) แต่สินค้าของบริษัทยังขายได้เรื่อยๆ สม่ำเสมอ มีกำไรที่ดี ธุรกิจแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีจุดขายที่ Asset Growth แต่ความน่าสนใจอยู่ที่ความมั่นคงของปัจจัยพื้นฐานเดิม ถ้าหากบริษัทมีกำไรดี จ่ายปันผลดี และสม่ำเสมอ หุ้นลักษณะนี้เข้าข่าย ‘หุ้นปันผล’ ได้ หากว่าใครที่ซื้อหุ้นตัวนี้มาในราคาที่ไม่แพงและติดตามมาตลอด คิดว่าน่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดีทีเดียว เช่น ข้อมูลการจ่ายเงินปันผลของ DRT ในปี 2563 เท่ากับ 0.40 บาท หากสมมติว่าเราเคยซื้อ DRT มา ตั้งแต่ราคา 4 บาท และยังไม่เคยขายออกเลย อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลจะเท่ากับ (0.40/4.00) หรือ 10% ต่อปี ซึ่งคือว่าน่าสนใจมากทีเดียวเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน
2. มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด
ข้อมูลนี้เกิดจากการนำราคาตลาดซึ่งเป็นราคาปิดของหุ้นคูณด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดในขณะนั้น ซึ่งมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดนี้จะเพิ่มได้ อาจมาจากราคาตลาดที่เพิ่มขึ้นและ/หรือจำนวนหุ้นสามัญที่เพิ่มขึ้น เช่น การเพิ่มทุน จากข้อมูลของ DRT จำนวนหุ้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าหลักทรัพย์จึงมาจากราคาตลาดเป็นสำคัญ
3. P/E (เท่า)
อัตราส่วนนี้มีประโยชน์สำหรับผู้ลงทุน สามารถนำมาเปรียบเทียบว่าหุ้นใดมีราคาแพงหรือราคาถูก เพราะไม่สามารถจะดูที่ราคา (P) ของหุ้นได้โดยตรง เนื่องจากหุ้นแต่ละตัวมีฐานของราคาต่างกัน เนื่องจากมี Par Value ที่ไม่เท่ากัน
เช่น
จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ราคาหุ้นอาจไม่เหมือนราคาสินค้าบริการในตลาดที่บอกได้ว่า 120 บาท แพงกว่า 30 บาท เพราะราคา Par ต่างกัน และสตอรีการเติบโตที่ผ่านมาก็มีประวัติที่ต่างกัน เวลาเปรียบเทียบ หากนำกำไรต่อหุ้นไปหารทั้ง 2 หุ้น ก็จะสามารถเปรียบเทียบได้ เพราะเมื่อหารเสร็จตัวหารจะมีค่าเป็น 1 เสมอ ดังนั้น P/E ของหุ้น A = 10:1 หรือ 10 เท่า อธิบายว่าใน 1 หน่วยของกำไร ผู้ลงทุนให้ราคาตลาดของหุ้น A เป็น 10 เท่าของกำไร ในขณะที่ P/E ของหุ้น B เท่ากับ 15:1 หรือ 15 เท่า อธิบายว่าผู้ลงทุนให้ราคาตลาดของหุ้น B เป็น 15 เท่าของกำไร
เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบใน 1 หน่วยของกำไรเหมือนกัน ใครที่มีค่า P/E สูงกว่าจะถือว่ามีราคาหุ้น (โดยเปรียบเทียบกับกำไร) ที่สูงกว่า ซึ่งอาจเทียบจากตนเองในอดีต หรือเปรียบเทียบกับคู่แข่งก็ได้
จากข้อมูล P/E ในช่วง 4 ปี ย้อนหลังของ DRT พบว่า P/E ของ DRT มีระดับที่ลดลง จาก 13.58 เท่าในปี 2560 เหลือประมาณ 9 เท่าในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับในอดีต ผู้ลงทุนสามารถนำ P/E ของ DRT นี้ไปเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือเทียบกับ P/E ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หาก P/E ของ DRT ต่ำกว่า ก็สรุปจากข้อมูลนี้ได้ว่าราคาหุ้น DRT มีระดับที่ถูกกว่า (โดยธรรมชาติ ผู้ลงทุนจะชอบของราคาถูกและดี) ซึ่งของถูกดูได้จาก P/E ที่ต่ำ แล้วค่อยไปค้นเพิ่มว่าเป็นของดีด้วยไหม
4. มูลค่าหุ้นตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share)
ต้องเริ่มกล่าวจาก Book Value หรือมูลค่าตามบัญชีของหุ้นก่อน Book Value คือส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินนั่นเอง ซึ่งมีที่มาจาก
Book Value = สินทรัพย์-หนี้สิน
ถ้าบริษัทหนึ่งมีสินทรัพย์ตามงบการเงิน ซึ่งถือว่าเป็นราคาตามบัญชีอยู่ ณ วันใดๆ แต่มูลค่าสินทรัพย์ตามบัญชีนี้มิใช่เป็นของผู้ถือหุ้นทั้งหมด เนื่องจากการได้มาซึ่งสินทรัพย์นี้อาจมาจากการกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ จึงเกิดหนี้สินที่บริษัทมีภาระผูกพันจะต้องจ่ายคืน ดังนั้นถ้าจะดูสินทรัพย์ในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น จึงต้องหักหนี้สินให้ได้สินทรัพย์สุทธิ ซึ่งถูกเรียกว่า Book Value
Book Value มีความสำคัญเพราะกลายเป็นมูลค่าพื้นฐานของธุรกิจ หากเราต้องการลงทุนซื้อหรือขายธุรกิจ ส่วนใหญ่จะใช้ Book Value เป็นจุดตั้งต้นขั้นต่ำว่าไม่ควรขายต่ำกว่านี้ มีแต่จะสูงกว่านี้เพราะ
- สินทรัพย์ที่มีอยู่ในงบการเงิน อาจมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่ามูลค่าตามบัญชี
- บริษัทอาจมีสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนอื่นๆ ที่มีมูลค่าแต่ยังไม่ถูกตีค่าในทางบัญชี เช่น ลิขสิทธิ์นวัตกรรม แบรนด์
- ผลประโยชน์สุทธิในอนาคตที่ธุรกิจอาจสร้างขึ้นมาได้
Book Value per Share (BV)
= Book Value / จำนวนหุ้นสามัญของบริษัท
= มูลค่าหุ้นตามบัญชีต่อหุ้น
5. P/BV (เท่า)
ผู้ลงทุนจำนวนมากมักใช้ Book Value ต่อหุ้น (BV) ไปเทียบกับราคาตลาดต่อหุ้น (P) เช่น สร้างเป็นอัตราส่วนที่เรียกว่า Price to Book Ratio (P/BV) และหาหลักการว่าถ้า P/BV มีค่าน้อย เมื่อเทียบกับในอดีต หรือเทียบกับคู่แข่งจะถือว่าหุ้นนั้นมีราคาถูก หลักการคล้ายกรณีที่อธิบายเรื่อง P/E เพราะเมื่อนำ BV มาเป็นตัวหาร หารเสร็จตัวส่วนจะมีค่าเป็น 1 ทำให้นำมาเปรียบเทียบได้ นอกจากนี้ยังสามารถอธิบายเพิ่มได้ว่า P/BV ที่มีค่าต่ำ และ P มีค่าใกล้ BV นั้น อาจเป็นเพราะว่า ค่า P ซึ่งมาจากราคาซื้อขายปัจจุบันในตลาดนั้น ผู้ลงทุนอาจยังมองไม่เห็นมูลค่าส่วนเพิ่มที่ธุรกิจนั้นจะทำได้ในอนาคต จึงให้ราคา P ใกล้ๆ กับมูลค่า BV ถ้าเราวิเคราะห์แล้วและมั่นใจว่าธุรกิจดี เขาซื้อตอนที่ P/BV มีค่าน้อย และในอนาคตหากธุรกิจที่เราว่าดีนั้นทำธุรกิจได้ดีจริง มีการเติบโตของรายได้และกำไร ก็จะทำให้ P และ P/BV ในอนาคตสูงขึ้น ผู้ที่ลงทุนซื้อในขณะที่ P/BV ปัจจุบันที่อยู่ในระดับต่ำก็จะได้ประโยชน์
จะเห็นได้ว่า หุ้น DRT เมื่อมองจากมุม P/BV เป็นหุ้นที่มีราคาไม่แพงเลย อยู่ในระดับ 2 เท่ากว่าๆ เมื่อเทียบกับ Book Value เราอาจมองว่า ราคา (P) ก็ไม่ค่อยไปไหน รวมทั้ง BV ก็ไม่ค่อยขยับไปไหนเหมือนกัน ดูจืดชืดไปไหม ถ้าเราย้อนกลับไปดูธุรกิจที่พบว่าไม่ต้องขยายการลงทุนมากแล้ว แต่มีกำไรและนำมาจ่ายปันผลได้อย่างสม่ำเสมอ จึงไม่จำเป็นต้องเก็บเป็นกำไรสะสมไว้มากเกินไป การลงทุนซื้อไว้ตอนราคาต่ำๆ (P/BV ที่ต่ำ) แบบนี้แหละที่จะได้ประโยชน์โดยเฉพาะจากเงินปันผล (Dividend) มากกว่าที่จะมองจากประโยชน์จากส่วนต่างราคา (Capital Gain)
6. อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield)
Dividend Yield = (Dividend / Price) x100 %
ข้อมูลอัตราส่วนเงินปันผลตอบแทนมีประโยชน์ในการใช้เป็นข้อมูลประมาณการว่า ถ้าเรานำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นตัวนี้ 100 บาท และเราถือไว้ 1 ปี โดยได้รับเฉพาะเงินปันผลเท่านั้น เราจะได้อัตราผลตอบแทนต่อปีเท่าไร เราอาจนำข้อมูลเหล่านี้ไปดูเปรียบเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร อาจทำให้เราสนใจที่จะลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ได้
จะเห็นได้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา Dividend Yield ของ DRT ให้อัตราผลตอบแทนดีมากอยู่ในช่วง 5-7% และจะยิ่งน่าสนใจเข้าไปอีก ถ้าผู้ลงทุนที่หาของดีราคาถูกมาตั้งแต่ต้น เช่น ลงทุนที่ต้นทุน 4 บาท โดยยังไม่ขายออกไป สมมติว่าบริษัทจ่ายปันผล 0.40 บาทต่อหุ้นมาอย่างสม่ำเสมอ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนสูงถึง 10% ต่อปี แบบนี้เขาเรียกว่า ‘หุ้นห่านทองคำ’ ที่ให้ไข่ทองคำแก่เราทุกปีสม่ำเสมอ เราเองก็ไม่จำเป็นต้องรีบขายห่านทองคำออกไป เก็บไว้กินไข่ก็ดีไม่ใช่น้อย
บทความตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของขุมทรัพย์บนเว็บ SET แต่ถือว่าเป็นจุดตั้งต้นให้ท่านที่สนใจสามารถเข้าไปดูข้อมูลหุ้นแบบฟรีๆ บน www.set.or.th โดยลองฝึกอ่านข้อมูลแบบย่อของหุ้นตามที่ผมอธิบาย อ่านแล้วพอใจหุ้นตัวไหน ลองไปค้นอ่านต่อเชิงลึกได้เลยครับ เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเหมือนเหมืองทองคำที่ใครรู้จักค้น รู้จักหา ก็สามารถเจอหุ้นทองคำดีๆ อีกจำนวนมากครับ
ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล