×

ขุมทรัพย์บนเว็บ SET (ตอนที่ 2)

16.02.2021
  • LOADING...
ขุมทรัพย์บนเว็บ SET (ตอนที่ 2)

บทความตอนนี้จะแสดงให้เห็นว่า ข้อมูลแค่บางหน้าบนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็อาจทำให้รู้สึกตื่นเต้นและอยากที่จะเริ่มลงทุน แค่เรารู้ข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทจดทะเบียนนั้นก็สามารถบอกได้ถึงความมั่นคง แนวโน้มการเติบโต และความเข้มแข็งของธุรกิจ โดยจะขอยกตัวอย่างการอ่านข้อมูลแบบต่างๆ ดังต่อไปนี้

 

การอ่านข้อมูลงบการเงิน / ผลประกอบการ ยกตัวอย่างหุ้น : DRT

ก่อนอื่นขอชี้แจงก่อนว่าผู้เขียนไม่มีเจตนาเชียร์หุ้นอะไรเป็นพิเศษ แค่ต้องการนำข้อมูลที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ มาเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ลงทุนและผู้สนใจลงทุนเพื่อใช้เป็นแนวทางพิจารณา ตัดสินใจ และค้นหาข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

 

 

ตัวอย่างที่ผมยกมาจากตอนที่แล้ว คือ บริษัท ผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีตัวย่อหลักทรัพย์ว่า DRT สมมติเรารู้แค่ว่าบริษัทนี้เป็นธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เช่น กระเบื้องมุงหลังคาตรา ‘เพชร’ แต่ยังไม่รู้ว่าธุรกิจนี้น่าสนใจอย่างไร ผมจึงขอแนะนำให้เริ่มจากหน้านี้ก่อน เพราะเป็นข้อมูลสำคัญที่สะท้อนถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานแบบย่อย้อนหลังไปประมาณ 3 ปี โดยตัวอย่างนี้แสดงข้อมูลของปี 2560, 2561, 2562 และงบ 9 เดือนล่าสุดของปี 2563 (ข้อมูล ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563) ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยทำให้เราประเมินและเห็นการเปลี่ยนแปลงของบริษัทที่สะท้อนผลการดำเนินธุรกิจทั้งในมุมบวกและมุมลบ ไปเริ่มที่ส่วนข้อมูล ‘บัญชีการเงินที่สำคัญ’ กันก่อนครับ

 

1. สินทรัพย์รวม, หนี้สินรวม, ส่วนของผู้ถือหุ้น และทุนชำระแล้ว

ในส่วนแรกมาจากรายการสำคัญจากงบดุลหรืองบแสดงฐานะทางการเงิน

  • สินทรัพย์รวม 

กิจการจะทำธุรกิจได้ต้องมีสินทรัพย์ เช่น โรงงาน เครื่องจักร สินค้าคงเหลือ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการผลิต การขาย รายได้ ยอดขาย ค่าใช้จ่าย ซึ่งทำให้ธุรกิจมีกำไรหรือขาดทุน โดยสินทรัพย์สะท้อนถึง ‘ขนาดของกิจการ’ แม้ว่ากิจการที่มีขนาดใหญ่จะแสดงถึงการมีกำลังและโอกาสสร้างรายได้หรือกำไรได้มากกว่าก็จริง แต่หากบริหารจัดการสินทรัพย์ไม่ดีหรือไม่มีคุณภาพ ก็อาจไม่ช่วยเพิ่มกำไรให้กิจการได้มากนัก ในทางตรงกันข้าม บริษัทที่มีขนาดของสินทรัพย์ที่น้อยกว่า แต่มีคุณภาพดี เพียงพอต่อกำลังการผลิต เหมาะสมกับการเติบโตและขนาดตลาด ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันและสร้างกำไรได้มากกว่า

 

 

จากข้อมูลของ DRT พบว่า ณ 30 กันยายน 2563 บริษัทมีขนาดของสินทรัพย์ประมาณ 3.4 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีขนาดเพียง 3 พันล้านบาท โดยมีการเติบโตปีละประมาณ 100 ล้านบาท แสดงให้เห็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี น่าคิดนะครับว่า DRT ขยายสินทรัพย์เพราะอะไร เพราะสินค้าขายได้เพิ่มหรือไม่ สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรมหรือไม่ หรือเพราะมีฝีมือแบบทั้งเก่งทั้งเฮงหรือเปล่า แม้เราจะยังไม่รู้ตอนนี้ก็ไม่เป็นไรครับ เก็บภาพข้อมูลสินทรัพย์ของ DRT เอาไว้ก่อน

 

  • หนี้สินรวม ส่วนของผู้ถือหุ้น และทุนชำระแล้ว

ภาษาบัญชีบอกว่า สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น สำหรับภาษาของนักการเงินจะอธิบายว่า เงินที่เอาไปลงทุนสินทรัพย์นั้นเอามาจากไหน ไปกู้มา (หนี้สิน) หรือใช้เงินทุนจากภายใน (เพิ่มทุน หรือใช้จากกำไรของกิจการ) การไปกู้มาก็คือไปยืมเงินคนอื่นเพื่อนำไปลงทุน ถ้าผลประกอบการดี จ่ายคืนดอกเบี้ยและเงินต้นได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าจ่ายไม่ได้ก็จะเกิดปัญหาหนี้สินตามมาได้ 

 

ส่วนการใช้เงินทุนจากภายใน ถ้าเอามาจากการเพิ่มทุน ผู้ถือหุ้นที่ยอมเพิ่มทุนย่อมจะคาดหวังว่าในอนาคตกิจการบริหารเงินทุนนี้ได้ดี ประสบความสำเร็จจนมีผลประกอบการดี เงินปันผล และราคาหุ้นอาจสูงขึ้นในอนาคต แต่หากใช้กำไรของกิจการไปลงทุนในสินทรัพย์ อาจทำให้การจ่ายเงินปันผลในงวดนั้นลดลง ผู้ถือหุ้นย่อมคาดหวังว่า หากกิจการบริหารเงินทุนได้ดี เงินปันผลและราคาหุ้นที่สูงขึ้นอาจทำให้ได้ผลตอบแทนที่รอคอยสูงกว่าก็ได้

 

 

จากข้อมูลข้างต้นชี้ให้เห็นว่าระหว่างปี 2560-2562 หนี้สินของ DRT แทบไม่เปลี่ยนแปลง อยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านบาท ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น และทุนเรียกชำระแล้วไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง สะท้อนว่าเงินทุนที่นำไปใช้ลงทุนในสินทรัพย์มาจากกำไรของกิจการในแต่ละปี ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการคุมระดับหนี้สินให้ไม่สูงเกินไป แต่หากเมื่อดูข้อมูลในปี 2563 (9 เดือน) DRT มีหนี้สินเพิ่มขึ้นประมาณ 500 ล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์เพิ่มขึ้นเพียง 70 ล้านบาท จึงน่าติดตามว่า DRT สร้างหนี้สินเพื่อทำอะไร อย่างไรก็ดี สภาพดังกล่าวยังไม่น่าทำให้เกิดความเสี่ยงมากนัก เนื่องจาก DRT ยังคงมีระดับหนี้สินที่ต่ำกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ (1,554.16 < 1,848.76)

 

1. รายได้รวม กำไรสุทธิ และกำไรต่อหุ้น

ตัวเลขสำคัญ 3 รายการนี้ สะท้อนถึงผลการดำเนินงาน โดยข้อมูลรายได้บอกว่าสินค้าและบริการของบริษัทยังได้รับความนิยมจากลูกค้ามากน้อยเพียงใด ส่วนกำไรสุทธิสะท้อนว่า เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ บริษัทยังคงเหลือรายได้สุทธิเป็นบวกหรือไม่ ซึ่งยิ่งมากก็ยิ่งดีสำหรับกำไรต่อหุ้น เอาไว้ใช้เปรียบเทียบว่าในหน่วย 1 หุ้น บริษัททำกำไรได้กี่บาท อาจไว้ใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงานของบริษัทอดีตหรือคู่แข่งในอุตสาหกรรม (ขึ้นอยู่กับ ราคา Par และจำนวนหุ้นของแต่ละกิจการด้วย) นอกจากนี้ กำไรต่อหุ้นยังใช้ประมาณการว่าจะมีโอกาสได้รับเงินปันผลต่อหุ้นเท่าใด ยิ่งกำไรต่อหุ้นสูงและบริษัทอยู่ในช่วงเติบโตเต็มที่แล้ว ไม่ต้องขยายตัวมากแล้ว โอกาสที่นำกำไรมาจ่ายเงินปันผลก็จะมากขึ้นด้วย

 

 

 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่าในช่วง 3 ปี (2560-2562) DRT มียอดขายเพิ่มขึ้นโดยตลอดเฉลี่ยปีละประมาณ 300-400 ล้านบาท โดยยอดขายในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 4.8 พันล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดโรคระบาด COVID-19 แต่บริษัทยังคงทำยอดขาย 3 ไตรมาส ได้ถึงประมาณ 3.4 พันล้านบาท จึงคาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก

 

สำหรับกำไรสุทธิของ DRT ในปี 2560 และ 2561 ซึ่งหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ค่าใช้จ่ายทางการเงินต่างๆ มาแล้ว DRT มีกำไรเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 411 และ 422 ล้านบาทตามลำดับ และมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 571 ล้านบาทในปี 2562 แสดงถึงความสามารถที่เข้มแข็งในการทำกำไรที่ดีมาโดยตลอด โดยในช่วง 9 เดือนของปี 2563 DRT มีกำไรสุทธิแล้ว 462 ล้านบาท เมื่อพิจารณากำไรต่อหุ้นของ DRT ในช่วงปี 2560-2562 เพิ่มขึ้นโดยตลอดจาก 0.43 บาทต่อหุ้น เป็น 0.45 บาท และ 0.60 บาทต่อหุ้นตามลำดับ และช่วง 9 เดือนของปี 2563 บริษัทมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.51 บาทต่อหุ้น

 

จากนั้นผมขอแนะนำต่อให้กดไปที่แถบ ‘สิทธิประโยชน์’ ของหุ้น DRT เราจะเจอข้อมูลแบบนี้ครับ

 

 

ผมพบข้อมูลที่ชวนตื่นเต้นก็คือ ในปี 2563 DRT จ่ายเงินปันผล 2 ครั้ง ครั้งละ 0.20 บาท รวม 0.40 บาท ถ้าเราคำนวณคร่าวๆ ว่า จากกำไรต่อหุ้นที่มี 0.60 บาท การจ่ายเงินปันผลนี้คิดเป็น 67% ของกำไรที่ถือว่าสูงใช้ได้ ใครที่ชอบหุ้นที่จ่ายเงินปันผลดีและสม่ำเสมอ หุ้นลักษณะแบบนี้ก็สามารถค้นหาได้ด้วยตัวเองครับ

 

เห็นไหมครับ เริ่มจากข้อมูลแค่ 7 บรรทัด ถ้าเรารู้วิธีอ่านก็สามารถเห็นภาพอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ จากเดิมที่เบลอๆ ไม่ทราบจะเริ่มต้นอย่างไร ในตอนต่อไป ผมจะพาท่านอ่านข้อมูลแบบย่อนี้ต่อในส่วนที่เหลือของข้อมูลการเงินอีก 10 บรรทัด เพื่อเป็นประโยชน์ก่อนตัดสินใจไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกของหุ้นต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X