×

ขุมทรัพย์บนเว็บ SET (ตอนที่ 1)

15.01.2021
  • LOADING...
ขุมทรัพย์บนเว็บ SET

เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (www.set.or.th) เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายในหมู่นักลงทุนและผู้สนใจเรียนรู้การลงทุน เพราะนอกจากจะมีข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในตราสารที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการวางแผนการเงินการลงทุนในหุ้นสามัญ ตราสารหนี้ กองทุนรวม และตราสารอนุพันธ์ เรียกได้ว่าคิดอะไรไม่ออกเกี่ยวกับการลงทุน เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือหนึ่งในดวงใจที่คนจำนวนมากจะเข้ามาค้นหาคำตอบ

 

สำหรับผมในฐานะที่เคยเป็นผู้สอนในรายการห้องเรียนนักลงทุนของตลาดหลักทรัพย์ฯ จำได้ว่าเคยแนะนำให้ผู้เรียนที่ต้องการค้นหาหุ้นดีและถูกใจคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่ล่ะ เพราะทั้งฟรีและง่ายด้วย มีข้อมูลแบบเข้าใจง่าย ซึ่งหากรู้วิธีก็จะช่วยประหยัดเวลาและเป็นตะแกรงในการค้นหาหุ้นดีในเบื้องต้นก่อน เมื่อเราเข้าใจและสนใจมากขึ้นค่อยไปเจาะหาข้อมูลเชิงลึกต่อไป

 

บทความตอนนี้จึงอยากแบ่งปันวิธีการที่ผมมักใช้อยู่เสมอเวลาที่อยากค้นหาหุ้นดีๆ เผื่อผู้ที่สนใจลองนำไปใช้ และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเว็บไซต์เกี่ยวกับการลงทุนอยู่มากมายที่มีกูรูให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์การลงทุน ซึ่งช่วยประหยัดเวลาได้เช่นกัน แต่ผมคิดว่าเวลาจะลงทุนจริง แค่ฟังจากคนอื่นคงยังไม่พอ คล้ายๆ สุภาษิตโบราณที่ว่า ‘สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ’ ดังนั้นวิธีการคลำของเรา หากรู้เทคนิคก็จะช่วยให้คลำถูกและเกิดความมั่นใจในการลงทุนได้

 

1. ขอแค่รู้ชื่อย่อของหุ้นก็เริ่มต้นได้


บริษัทจดทะเบียนที่นำหุ้นสามัญเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะต้องมีชื่อย่อ เช่น PTT, BTS เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้ในระบบการซื้อขาย แต่ถ้าเราจำชื่อหุ้นไม่ได้ เพราะหุ้นที่จดทะเบียนตอนนี้ทั้งในตลาด SET และ mai มีมากกว่า 700 ตัว ให้ลองทำตามนี้ครับ

 

1.1 เข้าไปที่ www.set.or.th หน้าแรกจะปรากฏดังนี้

 

 

 

1.2 แตะไปที่ชื่อย่อบริเวณมุมขวาบนของเว็บไซต์จะปรากฏภาพดังนี้

 

 

บนหน้าจอนี้เราสามารถค้นหาหุ้นต่างๆ ได้ทุกตัว ระหว่างที่เราดูรายชื่อของหุ้นแต่ละตัวนั้น บางตัวเราอาจรู้จักหรืออาจไม่รู้จักว่าเขาทำธุรกิจอะไร ธุรกิจนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมไหน เขาเก่งหรือไม่ หรือฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ดังนั้นเวลาเริ่มต้นเราอาจเลือกจากสิ่งที่เราคุ้นเคย รู้สึกชอบ รู้สึกเข้าใจ ซึ่งอาจมาจากประสบการณ์ของเราก็ได้ เช่น คนที่ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจอาหาร เวลาทำความเข้าใจเกี่ยวกับหุ้นบริษัทในอุตสาหกรรมอาหารก็จะทำได้ด้วยความรวดเร็วและคุ้นเคย หรืออาจค้นหาหุ้นที่ฟังจากนักวิเคราะห์หรือกูรูมาประกอบการตัดสินใจก็ได้

 

2. เลือกหุ้นแล้วกดเข้าไปดูด้วยตนเอง

 

ผมขอชี้แจงก่อนว่าเป็นการสมมตินะครับ ไม่ได้ชี้นำแต่อย่างใด สมมติผมเลือกหุ้นมาหนึ่งตัวเพื่อทำการศึกษา เช่น DRT (บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร) ไปดูรหัส D และหา DRT เมื่อเจอแล้วกดเข้าไปจะเจอหน้าจอแบบนี้ครับ

 

 

บนหน้านี้จะมีแถบข้อมูลพื้นฐานของบริษัท เช่น สรุปข้อมูลสารสนเทศ งบการเงินแบบย่อ สถิติราคา สิทธิประโยชน์ (เช่น การจ่ายเงินปันผล) รวมทั้งข่าวสารต่างๆ ที่บริษัทรายงานมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ ถัดลงไปเราจะเห็นข้อมูลสำคัญที่ให้ดาวน์โหลดได้ เช่น รายงานประจำปี แบบ 56-1 งบการเงิน ข้อมูลพวกนี้ถือเป็นขุมทรัพย์ใหญ่ที่หากเราศึกษาเบื้องต้นแล้วเป็นหุ้นที่สนใจก็ค่อยใช้เวลาลงรายละเอียดกับข้อมูลเหล่านี้

 

3. สแกนหุ้น…เริ่มตรงนี้ก่อน: ข้อมูลการเงินแบบย่อ 

 

เมื่อมาถึงหน้าของหุ้นที่ผมสนใจแล้ว จุดแรกที่ผมคิดว่าจะคลิกเข้าไปคือแถบงบการเงิน/ผลประกอบการ ที่จะช่วยให้เราเห็นข้อมูลการเงินที่สำคัญแบบย่อ ตามรูปที่เห็นบนหน้าจอต่อไปนี้

 

 

 

ข้อมูลบนรูปนี้ถือว่ามีความสำคัญมากในการเริ่มทำความรู้จักกับหุ้นตัวนั้น ซึ่งข้อมูลที่แสดงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

 

  • ส่วนที่ 1 แสดงข้อมูลการเงินที่สำคัญ จากงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินที่เป็น Key Ratios ซึ่งถ้าอ่านเป็นก็จะเห็นถึงขนาดของกิจการ ภาระหนี้สิน ผลการดำเนินงาน และการเติบโตของกิจการผ่านยอดขาย รวมถึงการวัดความสามารถในการทำกำไร ช่วยทำให้เห็นภาพย่อของบริษัทว่ามีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานน่าสนใจไหม

 

  • ส่วนที่ 2 แสดงข้อมูลด้านราคาของหลักทรัพย์ย้อนหลัง 3-4 ปี พอให้มองเห็นว่าราคาหลักทรัพย์มีการเคลื่อนไหวอย่างไร ทั้งนี้ การขึ้นลงของราคาหุ้นอาจมีหลายปัจจัยที่สัมพันธ์กับผลประกอบการ โดยที่แสดงไว้ในส่วนที่ 1 เป็นปัจจัยภายใน แต่ก็อาจมีปัจจัยภายนอกด้วย เช่น ภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการแสดงราคาในลักษณะเปรียบเทียบ เช่น P/E (ราคาต่อกำไร), P/B (ราคาต่อมูลค่าตามบัญชี) เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นๆ ซึ่งฐานราคาที่คิดจาก Par Value อาจแตกต่างกัน ทำให้สามารถเปรียบเทียบกันได้ รวมทั้งแสดงอัตราผลตอบแทนเงินปันผล (Dividend Yield) หรือเงินปันผลต่อราคา เพื่อใช้แสดงความน่าสนใจของผลตอบแทนจากการถือหุ้น และสามารถเปรียบเทียบกับการลงทุนชนิดอื่น เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เป็นต้น


ในตอนหน้า ผมจะลองขอแสดงตัวอย่างวิธีการอ่านข้อมูลหน้านี้เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านที่สนใจไปลองปฏิบัติด้วยตัวเองในการหาขุมทรัพย์แบบฟรีๆ เลยครับ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X