วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากกรณีที่ ธนดล สุวัณณะฤทธิ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และการดำเนินการดังกล่าวได้ทำให้กระแสสังคมเกิดความเข้าใจว่าโครงการลงทุนต่างๆ ที่ตั้งในพื้นที่อำเภอปากช่อง รุกพื้นที่เขต ส.ป.ก. รวมถึงโครงการแรนโช ชาญวีร์ฯ ซึ่งเป็นธุรกิจของบุคคลในครอบครัวของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ล่าสุดธนดลยอมรับผ่านการให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ช่องเนชั่นทีวี ในช่วงเย็นวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ว่าผู้ถือครองที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงโครงการแรนโช ชาญวีร์ฯ เป็นการได้ที่ดินมาถูกต้อง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะที่ดินมีโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดินปี 2497 ทุกอย่างถูกต้องหมด พร้อมระบุว่าการตรวจสอบที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้ เป็นการตรวจสอบกระบวนการออกโฉนดที่ดินซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีที่แล้ว
ธนดลระบุชื่อ อนุทิน ชาญวีรกูล และย้ำถึงความบริสุทธิ์ของตัวท่านรัฐมนตรี 2-3 ครั้ง ถือว่าให้ความเป็นธรรมกับผู้ถือครอง ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานข้อมูลของหน่วยราชการ ที่ยืนยันว่าเอกสารโฉนดในที่ดินซึ่งกำลังเป็นข่าวนั้นถูกต้องสมบูรณ์
ไตรศุลีกล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ผ่านรายการดังกล่าว ถือว่าธนดลยอมรับเองว่าโครงการแรนโช ชาญวีร์ฯ รวมถึงอีกหลายโครงการ เจ้าของ และผู้พัฒนาโครงการในปัจจุบันได้ที่ดินมาโดยถูกต้อง ไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด แต่กำลังตรวจสอบในสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งผลที่เกิดขึ้นเวลานี้คือประชาชน และสังคมส่วนใหญ่กำลังเข้าใจว่าผู้ที่ลงทุนพัฒนาโครงการในพื้นที่ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกระทบต่อทั้งชื่อเสียง ความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ
ไตรศุลีระบุการดำเนินการตรวจสอบต่างๆ เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรดำเนินการอย่างรอบคอบ และระบุให้ชัดเจนว่ากำลังตรวจสอบอะไร จุดใดที่ต้องสงสัยว่ามีความผิด เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้ทำสิ่งผิดกฎหมาย และสำคัญที่สุดต้องระมัดระวังไม่ให้ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ การลงทุนในพื้นที่ถูกกระทบจากความไม่ชัดเจน ไม่แน่นอน เพราะแม้แต่ที่ดินที่ได้มามีโฉนดถูกต้องยังถูกตรวจสอบเช่นนี้ ก็คงไม่มีนักลงทุนกล้าตัดสินใจลงทุนแล้ว
“การที่จะมาตรวจสอบที่มาของการออกโฉนด เป็นสิทธิที่นายธนดลทำได้ แต่หากมีการบิดเบือนข้อมูลจนมีผู้เสียหาย ก็เป็นโอกาสที่อีกฝ่ายจะใช้กฎหมายเข้าไปจัดการเช่นกัน ฝากเตือนนายธนดลว่า แม้ธนดลจะมีสิทธิตรวจสอบ แต่ประชาชนก็มีสิทธิใช้กฎหมายปกป้องตัวเอง” ไตรศุลีกล่าวย้ำ