วานนี้ (10 มกราคม) ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบร่างกฎหมาย 3 ฉบับ เพื่อให้มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจนและสอดคล้องกับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดการพัฒนาของผู้ผลิตสุราขนาดเล็กและสุราพื้นบ้าน ซึ่งกระทรวงการคลังได้พิจารณาแล้วว่าร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้จะสามารถดูแลทั้งในด้านการสนับสนุนการพัฒนาของผู้ประกอบการ การรักษาภูมิปัญญาชาวบ้าน พร้อมกับสามารถควบคุมการผลิตไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและต่อสิ่งแวดล้อมได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกเป็นพระราชบัญญัติฉบับใหม่ต่างหากแต่อย่างใด
สำหรับร่างกฎหมายฉบับแรกคือ ร่างกฎกระทรวงหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมและยกเว้นค่าธรรมเนียมการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดค่าธรรมเนียมการอนุญาตที่มีการจัดเก็บจริงสำหรับการอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า (กำหนดใหม่ เดิมไม่มี) และการอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า รวมถึงกำหนดค่าธรรมเนียมกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโรงงานผลิตสุรา (กำหนดใหม่ เดิมไม่มี) โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้า ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ ฉบับละ 360 บาท ส่วนใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นฉบับละ 1,500 บาท
- ใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า กรณีใบอนุญาตผลิตสุราแช่ แยกเป็น
2.1 สุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก (เพิ่มใหม่) ซึ่งใช้เครื่องจักรที่มีกำลังรวมหรือกำลังเทียบเท่าต่ำกว่า 5 แรงม้า หรือใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน หรือกรณีใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน โดยเครื่องจักรต่ำกว่า 5 แรงม้า และคนน้อยกว่า 7 คน ใบอนุญาตฉบับละ 1,800 บาท
2.2 สุราแช่ที่ไม่ใช่สุราแช่ชนิดเบียร์ที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง (เพิ่มใหม่) ซึ่งใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่น้อยกว่า 50 แรงม้า หรือใช้คนงานตั้งแต่ 7 คน แต่น้อยกว่า 50 คน หรือกรณีที่ใช้ทั้งเครื่องจักรและคนงาน ซึ่งเครื่องจักรมีกำลังตั้งแต่ 5 แรงม้า แต่น้อยกว่า 50 แรงม้าและคนงานมีจำนวนตั้งแต่ 7 คน แต่น้อยกว่า 50 คน ค่าใบอนุญาตฉบับละ 3,600 บาท
2.3 สุราแช่ชนิดเบียร์และสุราแช่ชนิดอื่นนอกหนือจาก 2.1 และ 2.2 ฉบับละ 60,000 บาท
ส่วนใบอนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า กรณีผลิตสุรากลั่น
1) สุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็ก (เกณฑ์พิจารณาขนาดโรงงานเดียวกับโรงงานขนาดเล็กสุราแช่) ใบอนุญาตฉบับละ 7,500 บาท
2) สุรากลั่นชนิดสุราขาวที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลาง (เกณฑ์พิจารณาขนาดโรงงานเดียวกับโรงงานขนาดกลางสุราแช่) ใบอนุญาตฉบับละ 15,000 บาท
- สุรากลั่นทุกชนิดนอกเหนือจากที่กล่าวมาใน 1) และ 2) ใบอนุญาตฉบับละ 60,000 บาท
นอกจากนี้ กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการอนุญาตที่มีการจัดเก็บสำหรับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งโรงงานผลิตสุราที่ระบุไว้ในใบอนุญาตครั้งละ 1 ใน 4 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประเภทนั้นๆ
ไตรศุลีกล่าวต่อไปว่า ร่างกฎหมายฉบับที่ 2 ได้แก่ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดอัตราภาษีสำหรับสินค้าสุราแช่ที่ผลิตโดยไม่ใช่การค้า ได้แก่ เบียร์ ไวน์ และสปาร์กลิงไวน์ที่ทำจากองุ่น สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น และสุราแช่ชนิดอื่นๆ และสำหรับสินค้าสุรากลั่นที่ผลิตโดยมิใช่เพื่อการค้า ได้แก่ สุราขาวและสุรากลั่นชนิดอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565
ทั้งนี้ ตามร่างกฎกระทรวงฯ ได้กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับการผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้า โดยในส่วนของอัตราตามมูลค่านั้นให้คิดที่ร้อยละ 0 สำหรับการผลิตสุราทุกประเภท แต่สำหรับอัตราตามปริมาณนั้นให้คิดในอัตราเท่ากับสินค้าสุราชนิดเดียวกันที่ผลิตเพื่อการค้าตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และสามารถกำกับ ดูแล และจัดเก็บภาษีสินค้าสุราได้ครอบคลุมทั้งสุราเพื่อการค้าและสุราที่ไม่ใช่การค้า สะท้อนหลักการจัดเก็บภาษีเพื่อสุขภาพสำหรับสินค้าที่ให้โทษต่อสุขภาพของประชาชน โดยภาษีที่เกิดขึ้นจะเป็นการเพิ่มต้นทุนด้านการผลิตสุราที่ไม่ใช่เพื่อการค้าในครัวเรือน ซึ่งเป็นการการลดแรงจูงใจในการผลิตและบริโภค
ทั้งนี้ อัตราภาษีตามปริมาณ สำหรับสุราแช่ แยกเป็น
- สุราแช่ชนิดเบียร์ อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 430 บาท
- สุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์กลิงไวน์ที่ทำจากองุ่น อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 1,500 บาท
- สุราแช่ชนิดสุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น แยกเป็น ที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี ขนาดบรรจุไม่เกิน 0.330 ลิตร อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 150 บาท และชนิดอื่นๆ ต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 900 บาท
- สุราแช่ชนิดอื่นๆ นอกจากที่กล่าวมาในข้อ 1-3 อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 150 บาท
ส่วนอัตราภาษีตามปริมาณ สำหรับสุรากลั่น แยกเป็น 1. สุรากลั่นชนิดสุราขาว อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 155 บาท และ 2. สุรากลั่นชนิดอื่นๆ อัตราภาษีต่อปริมาณ 1 ลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ หน่วยละ 255 บาท
โดยในเรื่องนี้กระทรวงการคลังรายงานว่าจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อรายได้ของรัฐ เนื่องจากเป็นการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นใหม่ ไม่ได้เป็นการลดอัตราภาษีจากอัตราที่จัดเก็บอยู่ จึงไม่กระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บจากสินค้าสุราได้ในปัจจุบัน ซึ่ง ณ ปี 2565 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าสุราทั้งที่ผลิตในราชอาณาจักรและที่นำเข้าจากต่างประเทศรวม 144,295.30 ล้านบาท แยกเป็นภาษีจากสุราแช่ 98,673.14 ล้านบาท และสุรากลั่น 54,622.16 ล้านบาท
ไตรศุลีกล่าวด้วยว่า ร่างกฎหมายฉบับที่ 3 ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดชนิดและลักษณะของแสตมป์สรรพสามิตและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีของทางราชการ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยร่างกฎหมายฉบับนี้มีการปรับถ้อยคำเกี่ยวกับกำหนดลักษณะและรูปแบบแสตมป์สุราสำหรับสุราแช่และสุรากลั่น ให้สอดคล้องกับถ้อยคำในกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 จากเดิมที่ใช้คำว่า ‘แสตมป์สุราสำหรับสุราแช่หรือสุรากลั่นที่ผลิตในชุมชน’ เปลี่ยนเป็น ‘แสตมป์สุราสำหรับสุราแช่หรือสุรากลั่นที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดเล็กที่ใช้เครื่องจักร…. และโรงงานอุตสาหกรรมสุราขนาดกลางที่ใช้เครื่องจักร….’
ส่วนลักษณะและรูปแบบของแสตมป์ยังคงใช้ตามเดิม คือทำด้วยกระดาษสีขาวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 1.5 x 12.5 เซนติเมตร พื้นของดวงแสตมป์พิมพ์ลวดลายป้องกันการปลอมแปลงด้วยหมึกสีน้ำตาลเข้มและน้ำตาลอ่อนและมีข้อความ ‘EXCISE DEPARTMENT’ พิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วบริเวณดวงแสตมป์ด้านซ้ายและด้านขวาของดวงแสตมป์