วานนี้ (27 มิถุนายน) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ได้เปิดเผยข้อมูลความคืบหน้าของนโยบายอย่างโครงการต้นไม้ล้านต้น และการแก้ไขเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ ‘Traffy Fondue’ ที่พบว่าได้รับความสนใจและเสียงตอบรับจากประชาชน รวมถึงบริษัทเอกชนในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะขับเคลื่อนโครงการ ระหว่างการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565
ทำความเข้าใจ ‘ต้นไม้ล้านต้น’ ที่ไม่ได้ปลูกให้มีแต่ต้นไม้สีเขียว แต่ต้องสอดคล้องลักษณะพื้นที่ต่างๆ
เริ่มจากโครงการต้นไม้ล้านต้น หนึ่งในโครงการที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ เกริ่นไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังหาเสียงว่าสามารถทำได้ทันที ใช้เงินไม่เยอะ โดยโครงการนี้ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ด้วยการปลูกต้นไม้ 100 ต้นแรก ที่สวนเบญจกิติ
เวลาผ่านมาเกือบ 1 เดือน ชัชชาติได้รายงานความคืบหน้าและเป้าหมายที่แท้จริงของโครงการไว้ว่า เป้าหมายการปลูกต้นไม้ล้านต้นทำขึ้นเพื่อกักฝุ่นและมลพิษในเมืองกรุง สร้างร่มเงา ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
นอกจากนี้ ในแผนการปลูกต้นไม้ของชัชชาติ ในรายละเอียดไม่ใช่เพียงแค่การเนรมิตให้พื้นที่นั้นๆ เป็นพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยต้นไม้อย่างเดียว แต่ในแผนนั้นมีการแบ่งยุทธศาสตร์การปลูกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้
- พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตหนองจอก, คลองสามวา
เป้าหมายเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ โดยจะเน้นปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5%
- พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก เช่น เขตประเวศ, จตุจักร
เป้าหมายเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะเน้นปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5%
- พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตสัมพันธวงศ์, ป้อมปราบศัตรูพ่าย
เป้าหมายเพื่อกักฝุ่นและมลพิษในเมืองกรุง ให้ร่มเงา โดยจะเน้นปลูกไม้ยืนต้น 40% พุ่มกลาง 50% เถา 10%
- พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก เช่น เขตพระนคร, ดุสิต
เป้าหมายเพื่อกักฝุ่นและมลพิษในเมืองกรุง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะเน้นปลูกไม้ยืนต้น 30% ไม้พุ่มกลางไม่เกิน 70%
ส่องแผนงาน-เป้าหมาย-ความคืบหน้า
ในแผนงานต้นไม้ล้านต้น มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ต้นไม้ในโครงการนี้จะแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ ไม้ยืนต้น, ไม้พุ่ม และไม้เถา โดยมีรายละเอียดดังนี้
ไม้ยืนต้น: แคนา, ประดู่, ชมพูพันธุ์ทิพย์, มะฮอกกานี, ตะเคียน และราชพฤกษ์
ไม้พุ่ม: หางนกยูงไทย, ไทรเกาหลี, กรรณิการ์, ทองอุไร, โมกบ้าน และยี่โถ
ไม้เถา: การเวกพวงคราม, พวงชมพู, หิรัญญิการ์ และเฟื่องฟ้า
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งเป้าหมายให้ชุมชนในพื้นที่ กทม. ร่วมกันเพาะกล้าไม้ ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มเติมในชุมชน และแบ่งสัดส่วนให้ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ด้วยการจัดสรรดังนี้
- ส่วนราชการอื่นๆ 10,000 ต้น
- ภาคประชาชน 50,000 ต้น
- สำนักสิ่งแวดล้อม 200,000 ต้น
- บริษัทเอกชน/สื่อ 240,000 ต้น
- สำนักงานเขต 500,000 ต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัทเอกชนและสื่อพบว่า ตอนนี้หลายองค์กรต่างให้การสนับสนุนโครงการด้วยการจองต้นไม้สำหรับปลูกแล้ว 581,400 ต้น เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100,000 ต้น, บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด 100,000 ต้น, บริษัท แอ๊ดวานซ์ อะโกร จำกัด (Double A) 100,000 ต้น, บริษัท แสนสิริ จำกัด 20,000 ต้น รวมถึงสำนักข่าว THE STANDARD ก็ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการด้วยจำนวน 5,000 ต้น และยังมีเอกชนอีกหลายแห่งซึ่งอยู่ระหว่างการยืนยันจำนวน
ส่วนความคืบหน้าในภาพรวมตอนนี้ มีข้อมูลที่บันทึกอยู่ในแอปพลิเคชัน BKK-plant ช่วงวันที่ 1-27 มิถุนายน 2565 พบว่า ปัจจุบันได้ดำเนินการปลูกต้นไม้แล้ว จำนวน 26,122 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 9,692 ต้น, ไม้พุ่ม 11,776 ต้น และไม้เลื้อย 4,654 ต้น ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 5 เขตพื้นที่ กทม. ที่มีการปลูกมากที่สุดดังนี้
- เขตบางกะปิ 3,759 ต้น
- เขตคลองสามวา 1,756 ต้น
- เขตทุ่งครุ 1,040 ต้น
- เขตบึงกุ่ม 812 ต้น
- เขตมีนบุรี 616 ต้น
Traffy Fondue ณ วันนี้เป็นอย่างไร
ตัดมาที่ความคืบหน้าการดำเนินการตามเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ ‘Traffy Fondue’ ที่เปิดให้ประชาชนใช้งานตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม – 28 มิถุนายน 2565 ในภาพรวมพบเรื่องร้องเรียนที่ถูกส่งเข้าระบบรวมแล้ว 57,970 เรื่อง และมีจำนวนเขต 40 ใน 50 เขต รับเรื่องและเริ่มดำเนินการไปแล้วมากกว่า 90% ขณะที่รายละเอียดหลังปัญหาถูกแจ้งเข้ามาที่ระบบมีการจัดสรรและนำไปดำเนินการดังนี้
- อยู่ระหว่างรอรับเรื่อง 4,119
- ดำเนินการแล้ว 21,689
- เสร็จสิ้น 20,946
- ส่งต่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ 11,216
โดยปัญหาที่ถูกร้องเรียนเข้าระบบมากสุด 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย
อันดับ 1 ถนน: ถนนพัง ถนนชำรุด ถนนเป็นหลุม
อันดับ 2 ทางเท้า: ทางเท้าชำรุด ฟุตปาธไม่เรียบ
อันดับ 3 แสงสว่าง: ถนนมืด ไฟดับ
อันดับ 4 ขยะ: ถังขยะไม่เพียงพอ ส่งกลิ่นเหม็น
อันดับ 5 น้ำท่วม
นอกจากนี้ ชัชชาติอธิบายไว้ว่า การมีอยู่ของระบบ ‘Traffy Fondue’ จะทำให้ประชาชนผู้อาศัยใน กทม. ที่กำลังพบเจอปัญหาหมักหมมหรือที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรายงานปัญหาที่ทุกคนพบเห็นเข้ามาในระบบ โดยที่สำนักงานเขตและสำนักงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสามารถรู้ว่าปัญหาสำคัญที่ประชาชนเผชิญอยู่คืออะไร กระจุกตัวอยู่ที่ไหน เพื่อที่จะช่วยกันแก้ไขอย่างทันท่วงที
“นี่คือพลังของแพลตฟอร์ม ที่เราเปลี่ยนการบริหารจัดการจากระบบท่อเป็นแพลตฟอร์ม ทุกหน่วยงานสามารถหยิบเรื่องไปแก้ไขได้เลย โดยที่ผู้ว่าฯ ไม่ต้องสั่งการ” ชัชชาติกล่าว
การต่อยอด Traffy Fondue ที่อาจเปลี่ยนระบบราชการได้ในอนาคต
ชัชชาติกล่าวในที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ระบบ ‘Traffy Fondue’ ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มฟังก์ชันการทำงานใหม่ เช่น ประเมินความพึงพอใจ และหากผู้แจ้งที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงาน สามารถแจ้ง ‘เปิดเรื่องใหม่’ ได้โดยไม่ต้องร้องซ้ำ นอกจากนี้ยังมีฟังก์ชันแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างเขต โดยเขตที่ปฏิบัติการได้ดีสามารถช่วยแบ่งปันประสบการณ์การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพให้เขตอื่นๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น และปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกในพื้นที่ กทม. เข้าร่วมระบบกว่า 80 หน่วยงาน ทั้งรัฐวิสาหกิจ สถานีตำรวจ กระทรวง และเอกชน
“ต่อไปเราสามารถสั่งงานผ่านแพลตฟอร์มข้ามหน่วยงานได้ ถ้าขยายไประดับประเทศได้ก็จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนระบบราชการเลย เราสามารถรับร้องเรียนผ่านระบบโดยไม่ต้องมีคนสั่งการ ทุกคนเข้ามาร่วมกันบริการประชาชน ซึ่งทุกคนยินดีที่สามารถทำระบบบริการให้ดีขึ้นได้ ข้าราชการก็พร้อมที่จะทำงาน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ กทม. ทุกคนเลย ทุกคนตื่นเต้นและสนุกไปกับเราด้วย ผมว่าประชาชนมีความสุข ข้าราชการมีความสุข เมืองต้องดีขึ้นแน่นอน” ชัชชาติกล่าว
ทั้งนี้ แนวทางการพัฒนาต่อยอด Traffy Fondue ถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย
- แยกกล่อง Dashboard เพื่อให้เขตและสำนักสามารถแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ดีขึ้น
- เพิ่มกล่อง ปัญหาที่ต้องแก้เชิงนโยบาย รับข้อเสนอแนะของประชาชนที่อยากเสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนา 216 นโยบาย หรือเพิ่มเติมนโยบายใหม่
- เปิดกล่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ กทม. ที่ฝ่ายกลางสามารถรับเรื่องราวได้โดยตรง
- ประสานหน่วยงานต่างๆ นอก กทม. ให้มาเข้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนร่วมกันมากขึ้น ขณะนี้หารือกับรองจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกำลังจะเซ็น MOU ร่วมกันเร็วๆ นี้
- ชวนประชาชนมาใช้ Open Data ไปพัฒนา เพื่อให้เขตและสำนักนำข้อมูลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น