×

เปิดใจ ‘ดร.วสันต์’ ผู้พัฒนาแอป ‘Traffy Fondue’ หมัดเด็ดชัชชาติ ปฏิรูปราชการ กทม

27.06.2022
  • LOADING...
Traffy Fondue

จากหน้าเว็บไซต์ Traffy.in.th อธิบายข้อมูลแอปพลิเคชันยอดฮิตของชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ เวลานี้ ไว้ว่า ‘Traffy Fondue’ (ทราฟฟี่ฟองดูว์ หรือ ท่านพี่ฟ้องดู) แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาโดยนักวิจัยไทย สามารถช่วยหน่วยงานบริการจัดการปัญหาได้ทันท่วงที พร้อมแสดงข้อมูลรายละเอียดของปัญหา ภาพหน้างาน และพิกัดตำแหน่ง เพื่อประกอบการตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่พร้อมเข้าแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

 

THE STANDARD พูดคุยกับ ‘ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม’ นักวิจัยอาวุโส ห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ผู้พัฒนา Traffy Fondue ถึงที่มาที่ไป ปัจจัยที่ผู้พัฒนามองว่าทำให้ Traffy Fondue ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ใช้งาน 

 

ตลอดจนพูดคุยกับผู้พัฒนาต่อประเด็นที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เคยให้มุมมองต่อ Traffy Fondue ไว้ว่าเป็นการปฏิวัติแพลตฟอร์ม ถึงมุมของ ดร.วสันต์ ที่อยู่กับแอปพลิเคชันนี้มาหลายปี มองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ที่จะปฏิวัติระบบราชการด้วยแพลตฟอร์มอย่างไรบ้าง 

 

จาก Traffy Waste สู่ Traffy Fondue ไขที่มา จุดเริ่มต้น ก่อนจะเป็นทราฟฟี่ฟองดูว์

 

ดร.วสันต์เล่าว่า จุดเริ่มต้นคือเมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว NECTEC ได้รับทุนไปทำภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ โดยจัดทำหลายโครงการ ซึ่งได้รับทำโครงการปรับปรุงการเดินรถจัดเก็บขยะให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น จากโจทย์ที่นายกเทศมนตรีเมืองป่าตองที่อยากให้มีระบบการจัดการขยะในเขตเมืองป่าตอง เพราะพบปัญหาจากที่เทศบาลจ้างเอกชนเก็บ ชาวบ้านก็มาโวย โทรมาแจ้งว่าไม่มีที่ทิ้งขยะ ถังขยะเต็ม พอไปถามคนเก็บขยะบ้าง ก็บอกว่าเพิ่งเก็บไป แต่ชาวบ้านเพิ่งเอามาทิ้งทีหลัง หรือบอกว่าเดี๋ยวรถกำลังจะไปเก็บบ้าง ดร.วสันต์จึงทำแอประบบ Cloud Sourcing ให้รายงานจุดที่ขยะล้น ขยะเกลื่อนกลาด แล้วการรายงานจะถูกส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ นอกจากนั้นก็มีการติดเซ็นเซอร์ ติด GPS ที่รถเก็บขยะ เพื่อให้คอยตรวจว่ารถไปหยุดที่ไหน แล้วสร้างแผนที่ว่าจุดเก็บขยะของเทศบาลไปอยู่ตรงไหนบ้าง แล้วก็จะรู้ว่าจุดไหนมีถังไม่มีถัง จุดไหนไปเก็บบ่อยแค่ไหน แล้วผู้ใช้งานก็จะรู้ระยะเวลาที่ใช้เก็บ เส้นทางการเก็บ ระยะเวลาที่ใช้ในการต่อคิวรอทิ้งขยะที่โรงเผาขยะรอนานแค่ไหน นี่คือระบบ Traffy Waste ซึ่งใช้ในภูเก็ตสมาร์ทซิตี้

 

“มันจะมี 2 ปัญหาที่ใช้เซ็นเซอร์วัดไม่ได้ คือคุณภาพการเก็บขยะ มีขยะหล่นนอกถังหรือไม่ กับเก็บขยะไม่หมดถัง เราจะไม่รู้ว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้นหรือไม่ด้วยเซ็นเซอร์นอกรถ เก็บดีหรือไม่ เก็บสะอาดหรือไม่ เก็บแล้วมีสุนัขมาคุ้ยหรือไม่ จึงต้องอาศัยคนแถวนั้นที่เห็นที่รู้มาทำหน้าที่เป็นเซ็นเซอร์ มาถ่ายรูปบอกเรา ถ่ายรูปรายงานมา ทำเป็นแอปพลิเคชันเหมือนกับ Traffy Fondue ปัจจุบัน ฉะนั้นพอเราเห็นคนตอบรับ เราก็คิดว่าทำไมไม่ใช้ตัวนี้แก้ปัญหาเมืองให้หมดเลย ปัญหาทางเท้า ปัญหาเมือง ใช้เลยละกัน” 

 

สำหรับที่มาของชื่อ ทราฟฟี่ฟองดูว์ หรือ ท่านพี่ฟ้องดู ดร.วสันต์ตอบถึงที่มาของชื่อและจุดเริ่มต้นของ Traffy Fondue ว่ามาจากคำว่า ฟ้องดู


“เรื่องชื่อ เราช่วยคิดกันทั้งทีม คือตอนแรกมีคนเสนอว่า ‘ฟ้องดู’ ทีนี้มีคนบอกว่า ฟ้องดู มันดูลบ เราอยากให้คนใช้คือผู้บริหารเมือง ถ้าเราไปตั้งชื่อว่าเขาจะถูกฟ้อง มันก็คงขายยาก เลยปรับให้เป็นชื่อภาษาอังกฤษให้ชื่อมันเสียงไปด้วยกัน เป็น ฟองดูว์ แล้วพอมันเป็น ทราฟฟี่ฟองดูว์ มันก็แปลงเป็น ท่านพี่ฟ้องดู ได้เหมือนกัน แล้วล่าสุดก็มีคนไปตั้งเพิ่มเป็น ฟ้องดู ฟ้องก็คือรายงาน แล้วเดี๋ยวเราจะไปทำ DO ก็คือทำ อันนี้คนอื่นคิด”

 

จากใช้เฉพาะภูเก็ต สู่การออกแบบให้รองรับใช้ได้ทั่วประเทศ กับ 10 ชีวิตทีมพัฒนาหลังบ้าน

 

“เราคิดให้ขยายการใช้งานได้ทุกพื้นที่ เพราะในแง่ระบบคอมพิวเตอร์ ลอจิก (Logic) จะเหนื่อยเท่ากัน คนที่เป็นทีมพัฒนาหลังบ้านก็ 10 คน มีส่วนหนึ่งทำแอปสำหรับเจ้าหน้าที่ ทั้ง Android และ iOS อีกส่วนทำหน้าที่พัฒนาแชตบอตคุยตอบกลับกับประชาชนให้เก่ง มีฟีเจอร์ใหม่ๆ อีกทีมหนึ่งทำหน้าเว็บสำหรับเจ้าหน้าที่ กทม. ที่ใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งหน้าเว็บนี้เจ้าหน้าที่เทศบาลก็เอาไปใช้ได้ด้วย ใครจะใช้เป็นแอปบนโทรศัพท์มือถือก็ใช้แบบมือถือ ใครอยู่ที่สำนักงานก็สามารถใช้เว็บแอปพลิเคชันได้ อีกส่วนช่วยดูเซิร์ฟเวอร์หลังบ้านที่เป็นทางเทคนิคดาต้าเบส”

 

ตั้งแต่ที่เริ่มทำที่ภูเก็ต ปี 2561 ก่อนจะมาถึงวันนี้ มีหลายหน่วยงานสนใจเอาไปใช้ 

 

ดร.วสันต์ให้ข้อมูลกับเราว่า ที่ผ่านมาได้เข้าไปพูดคุยกับเทศบาลหลายๆ เทศบาล อย่างเทศบาลนครอุบลราชธานี ก็ใช้ Traffy Fondue หลายปีแล้ว องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็มี อย่างเช่น อบต.เชิงทะเล จังหวัดภูเก็ต แล้วก็ อบต.ตากตก จังหวัดตาก ก็เอาไปใช้กับการเก็บขยะรีไซเคิลที่เขาทำธนาคารขยะ ที่เมื่อประชาชนเก็บขยะรีไซเคิลมากพอ เขาก็จะแจ้งให้ อบต. ไปเก็บเข้าธนาคารขยะ  

“อย่างตอนนี้ก็มี บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด มานำไปใช้ มีศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดนครปฐม เริ่มทดลองใช้ มีวิศวกรที่โรงงานในเหมืองแม่เมาะ นำไปใช้รับแจ้งซ่อมภายในโรงงานในเหมือง ก็มีมาเรื่อยๆ ทุกวัน เพื่อเปิดใช้ระบบ คือเราสร้างระบบสำหรับ อบต. เทศบาล 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ สร้างไว้เรียบร้อยแล้ว อบต. เทศบาล ที่อยากใช้ แค่ไลน์มาหาทีมเรา Fondue Help แค่นั้น มาขอรหัสเข้าไปใช้ แค่นั้น ใช้ได้เลย แล้วในส่วนที่ถ้าไม่ได้สร้างไว้ให้ เช่น โรงแรม หมู่บ้าน ก็สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันไปสร้างหน่วยงานที่อยากจะได้ทันที ได้โค้ดไปใช้ได้เลย นำไปใช้ได้ฟรี”

 

ข้อมูลจากเว็บ https://www.traffy.in.th/ ปัจจุบันสถิติการนำ Traffy Fondue ไปใช้ในหน่วยงาน พบว่าหน่วยงานในกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยนำไปใช้ 96 หน่วยงาน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เทศบาล 357 แห่ง เช่น เทศบาลตำบลอาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด, เทศบาลตำบลมาบข่า จังหวัดระยอง, เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อบต. 350 แห่ง อาคาร 232 แห่ง นิคม 12 แห่ง และหน่วยงานอื่นๆ 456 หน่วยงาน เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

 

มองปัจจัยที่ทำให้ Traffy Fondue ไม่ถูกนำมาใช้ใน กทม. ในสมัยก่อนหน้าผู้ว่าฯ ชัชชาติ 

 

ดร.วสันต์บอกกับเราว่า ที่ผ่านมาทีมพัฒนาเข้าไปทุกที่ที่เข้าไปได้ มีหลายที่ที่เข้าใจ

 

“ผมว่ามันมีหลายส่วน จากฝั่งผมที่สื่อสารไม่เข้าใจ ด้วยความที่มันเป็นทางเทคนิค ทางวิชาการ ก็อาจไม่เข้าใจก็ได้ อันนี้ก็เป็นฝั่งผม ฝั่งเจ้าหน้าที่เขาก็อาจเข้าใจว่ามันทำให้เห็นปัญหาเยอะขึ้น อาจแปลว่าเขาทำงานเยอะขึ้นหรือเปล่า แต่จริงๆ ในระยะยาว ถ้าปัญหามันแก้ไปหมดมันก็จะมีปัญหาน้อยลง เพราะมีปัญหาที่เกิดตามมาจากปัญหาเล็กๆ เช่น ไฟตามเสาไฟดับ คนเลยถูกข่มขืน หรือปัญหาท่อฝาระบายน้ำเปิด แล้วเด็กตกไป กลายเป็นข่าวใหญ่โต ถ้าเกิดเรารีบแก้ปัญหาแต่แรกก็อาจไม่เกิดปัญหานั้นๆ ตามมา ดังนั้นผมว่ามันก็ผสมๆ กัน อาจจะที่ผมด้วยที่อ่อนประชาสัมพันธ์ อาจจะเป็นที่ความเข้าใจผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ด้วย ที่มันแปลว่าจะทำให้เขาดีขึ้นหรือมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างไร”

 

เปิดจุดเริ่มต้นการนำเสนอ Traffy Fondue ให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ 

 

เราพูดคุยกันต่อถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันระหว่างทีมอาจารย์ชัชชาติ กับ Traffy Fondue เริ่มได้อย่างไร ดร.วสันต์เล่าว่า ตั้งแต่ตอนอาจารย์ชัชชาติตั้งทีม Better Bangkok สัก 2 ปี ซึ่งมีการพูดคุยกับสตาร์ทอัพ นักวิจัย เพื่อจะเสาะหาทั้งปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ในเมืองไทย แล้ว ดร.วสันต์ก็ได้มีโอกาสไปนำเสนอ

 

“ด้วยสไตล์ที่ผมพูด อาจารย์ชัชชาติก็พอจะเห็นภาพว่าคืออย่างไร ผมว่าอาจารย์อาจจะเห็นภาพไปไกลกว่าผมด้วยซ้ำ พอถึงใกล้ๆ ก่อนมีการเลือกตั้งอาจารย์ก็นำมาใช้เพื่อรับความเห็นจากประชาชนว่าเกิดปัญหาที่ใดบ้าง”

 

ความเชื่อมั่นและความตั้งใจของอาจารย์ชัชชาติกับการตั้งใจแก้ไขปัญหาโดยเจ้าหน้าที่ กทม. คือ 2 ปัจจัยที่ทำให้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ตอบโจทย์คนมากที่สุด

 

อะไรเป็นปัจจัยให้ Traffy Fondue ตอบโจทย์ผู้คนในตอนนี้มากที่สุด 

 

ดร.วสันต์คิดว่า มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือความเชื่อมั่นในอาจารย์ชัชชาติ แล้วก็ความตั้งใจจริงของอาจารย์ชัชชาติที่จะใช้แพลตฟอร์มแบบนี้ ที่อยากจะแก้ปัญหาจริงๆ แล้วการแก้ไขปัญหาต้องโปร่งใสจริงๆ 

 

ส่วนที่สองก็คือเจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่ตั้งใจแก้ไขปัญหาจริงๆ เมื่อได้รับแจ้ง 

 

“ผมว่าถ้าเกิดมีการแจ้ง ตอนนี้เจ้าหน้าที่ กทม. ขยันขันแข็งมาก ออกไปซ่อม รับเรื่องรวดเร็ว วันเสาร์-อาทิตย์ทำ ตอนดึกทำ เราเห็น แจ้งเช้า บ่ายแก้ได้แล้ว แล้วก็มาขิงกันในโซเชียลมีเดีย ว่าของใครได้รับบริการแก้เร็วกว่ากัน มันเป็นฟีดแบ็กลูปที่ดีมาก คือถ้าพูดแล้วไม่มีใครแก้ไข คนก็จะแจ้งทีเดียวแล้วจบ แล้วคนก็จะไม่เห็นว่าแจ้งไปแล้วได้อะไร ดังนั้นนอกจากความง่ายของการแจ้งแล้ว แจ้งแล้วมันได้ผลด้วย ซึ่งผมคิดว่าสำคัญยิ่งกว่า ก็ยกเครดิตให้อาจารย์ชัชชาติและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของ กทม. ผมว่าเหนื่อยกว่าผมมากเลย”

 

ประเด็นทิ้งท้ายที่ท้าทาย ‘Traffy Fondue กับการปฏิรูประบบราชการ’

 

อาจารย์ชัชชาติเคยให้มุมมองต่อ Traffy Fondue ไว้ว่าเป็นการปฏิวัติแพลตฟอร์ม และการที่ปัญหาบางเรื่องถูกแจ้งเข้ามาเป็นเรื่องที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงานเขต ซึ่งเป็นหน้าที่ของเขตต้องประสานส่งต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในระยะต่อไป อาจารย์ชัชชาติก็คิดว่าจะต้องนำหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาอยู่ใน Traffy Fondue ด้วย ซึ่งจะปรับปรุงระบบราชการได้ สำหรับมุมของ ดร.วสันต์ ผู้พัฒนาระบบนี้ ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมว่า สามารถนำไปสู่การปฏิรูประบบราชการได้ เพราะตอนนี้เรากำลังเปลี่ยนจากระบบท่อ เปลี่ยนมาสู่ระบบแพลตฟอร์ม 

 

“สมมติเอาเรื่องการอนุมัติงบประมาณ ตอนนี้การอนุมัติงบประมาณ เวลาเราเห็นป้ายรายละเอียดโครงการต่างๆ ถ้าจริงๆ แล้วเราอยากจะดูว่าตรงนี้เคยทำอะไรขึ้นมาบ้าง โครงการนี้ทำไปถึงไหน จริงๆ สามารถใช้ Traffy Fondue กับวงการราชการ การอนุมัติงบประมาณ ติดตามการใช้งบประมาณก็ได้ คล้ายๆ ไปดูอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งของภาครัฐ เราไปดูประวัติมันได้เลยว่ามันสร้างมาเมื่อใด ใครจัดซื้อจัดจ้าง ใครประมูล TOR เป็นอย่างไร ตอนนี้เป็นปัญหาไหม จะร้างไหม พอดูแล้วเราก็สามารถจะรายงานไปได้ ก็คือเปลี่ยนจากแบบเดิมเป็นแบบแพลตฟอร์มให้หมด เอามาขึ้นกระดานให้หมด ต่อไปประชาชนอยากได้อะไรก็อาจจะอยู่บนกระดาน แล้วเอามาแมตช์กับงบประมาณเอาก็ได้” ดร.วสันต์ทิ้งท้ายถึงการนำ Traffy Fondue ไปใช้เปลี่ยนระบบราชการ

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising