×

ครม. ผ่านร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร ไม่ออกใบสั่ง จับ-ปรับ ออกใบนัด ไปศาลภายใน 3 วัน

โดย THE STANDARD TEAM
06.09.2022
  • LOADING...
คดีจราจร

วันนี้ (6 กันยายน) รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีจราจร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมเสนอ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีจราจร และจัดตั้งแผนกคดีจราจรขึ้นโดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาญาทั่วไป

 

ทั้งนี้ กำหนดประเภทคดีที่เป็นคดีจราจร ซึ่งจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ กำหนดขั้นตอนดำเนินงานเป็นการเฉพาะสำหรับคดีจราจร โดยให้พนักงานสอบสวนออกใบนัดให้ผู้กระทำความผิดคดีจราจรไปศาล และกำหนดให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้ใช้มาตรการลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดคดีจราจรนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ซึ่งประเภทคดีจราจรและขั้นตอนการดำเนินการพิจารณาคดีจราจร แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

กลุ่มที่ 1 ความผิดจราจรบางฐานที่กำหนดไว้เฉพาะ เช่น ขับรถโดยไม่มีใบขับขี่ ขับรถในระหว่างใบขับขี่ถูกพักใช้ เพิกถอน หรือหมดอายุ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร ขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด เป็นต้น ร่าง พ.ร.บ.นี้กำหนดห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับหรือออกใบสั่งแก่ผู้ฝ่าฝืน แต่ให้ผู้นั้นไปพบพนักงานสอบสวน เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

 

กลุ่มที่ 2 ความผิดอื่นที่สามารถเปรียบเทียบปรับได้ตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก กฎหมายว่าด้วยรถยนต์ กฎหมายว่าด้วยขนส่งทางบก กฎหมายว่าด้วยทางหลวง และกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยไม่รวมถึงกรณีที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้เปรียบเทียบปรับหรือไม่ยอมจ่ายค่าปรับ ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกใบนัดให้ผู้นั้นไปศาลต่อไป

 

กลุ่มที่ 3 ความผิดนอกจากกลุ่มที่ 1 และ 2 ที่มีความผิดร้ายแรง เช่น ความผิดฐานเมาแล้วขับ เป็นต้น กำหนดให้สอบสวนและดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงแล้วแต่กรณี โดยศาลอาจกำหนดมาตรการลงโทษตาม พ.ร.บ.นี้เพิ่มเติม แก่ผู้กระทำความผิดได้

 

สำหรับคดีจราจรกลุ่มที่ 1 และ 2 ให้พนักงานสอบสวนส่งคู่ฉบับใบนัดให้ศาลภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ออกใบนัด แต่หากผู้ต้องหายอมชำระค่าปรับ ก็ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในวันที่มาศาล หากจำเลยรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยไม่ต้องสืบพยานก็ได้ แต่ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การหรือให้การปฏิเสธ ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอให้ศาลพิพากษาคดีทันที ถ้าไม่เพียงพอให้นัดสืบพยานต่อไป และศาลมีอำนาจใช้มาตรการลงโทษแก่จำเลย ซึ่งมีความผิดนอกจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายเรื่องนั้นๆ ได้ เช่น ยึด พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ ให้ทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ ให้เข้ารับการศึกษาอบรมด้านการจราจร เป็นต้น 

 

ในลำดับต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising