×

สงครามการค้าส่อรีเทิร์น เมื่อ ‘สหรัฐฯ’ ดึงชาติพันธมิตรรุมกินโต๊ะจีน แล้ว ‘ไทย’ ควรวางตัวอย่างไร

21.06.2021
  • LOADING...
สงครามการค้า

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • การนำประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง สิทธิการปกครองตนเองของฮ่องกง ประเด็นความสงบสุขและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 มาโจมตีจีน โดยกลุ่มประเทศ G7 และ NATO สะท้อนว่าสหรัฐฯ กำลังปรับยุทธศาสตร์ที่ใช้ต่อกรกับจีน ด้วยการดึงพันธมิตรเข้าโอบล้อมจีน
  • ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่า ห่วงโซ่อุปทานในโลกอาจถูกแบ่งเป็นสองขั้ว จากการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน
  • นักวิชาการแนะไทยต้องใช้ยุทธศาสตร์ ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’ เพื่อรักษาสมดุลภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของโลก

ท่าทีของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 และกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่แสดงออกต่อจีนในการประชุมสุดยอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังสร้างความวิตกแก่โลกว่าอาจเป็นฉนวนให้สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง

 

แถลงการณ์ของกลุ่ม G7 ได้วิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นอ่อนไหวหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง สิทธิการปกครองตนเองของฮ่องกง ประเด็นความสงบสุขและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลจีนสืบสวนหาต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 อย่างละเอียด

 

“เราจะส่งเสริมค่านิยมของเรา รวมทั้งการเรียกร้องให้จีนเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน โดยจะเน้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมณฑลซินเจียง และเสรีภาพกับสิทธิปกครองตนเองในระดับสูงของฮ่องกง ซึ่งได้รับการคุมครองในปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ นอกจากนี้ เรายังขอเรียกร้องให้จีนเริ่มการศึกษาต้นตอของโควิด-19 ร่วมกับองค์การอนามัยโลกอย่างโปร่งใส นำโดยผู้เชี่ยวชาญ และอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์” แถลงการณ์ของกลุ่ม G7 ระบุ 

 

ประชุม G7

บรรยากาศการประชุมของผู้นำในกลุ่ม G7 เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นอ่อนไหวหลายเรื่อง ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง สิทธิการปกครองตนเองของฮ่องกง และเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมเรียกร้องให้จีนสืบสวนหาต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 

 

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ยังส่งสัญญาณชัดว่าต้องการให้แผน ‘สร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่’ (Build Back Better World: B3W) ซึ่งสหรัฐฯ จะเป็นผู้สนับสนุน เป็นทางเลือกที่มีคุณภาพกว่าแผนในลักษณะเดียวกันของจีนที่ชื่อ เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) ที่ไปช่วยสร้างรถไฟ ถนนหนทาง และท่าเรือให้กับหลายประเทศ 

 

โดยสหรัฐฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการ BRI ของจีนว่าเป็น ‘การทูตแบบที่ทำให้ชาติอื่นติดหนี้สิน’

 

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ท่าทีของกลุ่ม G7 ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ นั้นเป็นการท้าทายอำนาจของจีนที่กำลังขยายไปทั่วโลกผ่านโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ต่อเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้ร่วมกันใช้มาตรการคว่ำบาตรกับจีนไปแล้ว ได้แก่ การห้ามเดินทางและอายัดสินทรัพย์ โดยมุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเขตซินเจียง ซึ่งโดนกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ 

 

สหรัฐฯ ระบุว่า การบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในเขตซินเจียงเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างรุนแรง และก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้ 

 

จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

 

ประธานาธิบดีไบเดนยืนยันว่า ห่วงโซ่อุปทานของตลาดโลกจะต้องปราศจากการใช้แรงงานในลักษณะนี้ พร้อมบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การเผชิญหน้ากับจีน แต่เป็นการเสนอทางเลือกในเชิงบวกให้กับโลกด้วย 

 

ทั้งนี้ หลังการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ไม่นาน ผู้นำ NATO ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่สอดคล้องกับกลุ่ม G7 โดยระบุชัดว่าจีนเป็นภัยคุกคามท้าทายความมั่นคง เพราะการดำเนินการของรัฐบาลจีนในขณะนี้กำลังสั่นคลอนกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ

 

แม้ NATO จะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘คู่แข่ง’ หรือ ‘ศัตรู’ กับจีน แต่ก็ใช้วิธีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับจีนด้วยการระบุว่า นโยบายกึ่งบีบบังคับของจีนเป็นวิธีการที่คลุมเครือที่จีนนำมาใช้ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ทั้งในแง่ของการทหาร การค้า เทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสาร จนกลายเป็นความท้าทายของประเทศอื่นๆ โดยเรียกร้องรัฐบาลกรุงปักกิ่งรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่เคยให้ไว้ และรีบดำเนินการให้สอดคล้องกับระบบระหว่างประเทศด้วยความรับผิดชอบ

 

แน่นอนว่าแถลงการณ์ของกลุ่มชาติตะวันตกถูกตอบโต้จากจีนในทันที โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงลอนดอนระบุว่า จีนรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง และขอคัดค้านอย่างเด็ดขาดกับการที่กลุ่มประเทศ G7 กล่าวถึงซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง อีกทั้งยังเผยให้เห็นถึงเจตนาร้ายของบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ

 

กิจการภายในของจีนต้องไม่ถูกแทรกแซง ชื่อเสียงของจีนต้องไม่ถูกใส่ร้ายป้ายสี และผลประโยชน์ของจีนต้องไม่ถูกละเมิดทางการจีนระบุ พร้อมกล่าวว่า จีนจะปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของชาติอย่างเต็มกำลัง และขอต่อสู้กับความอยุติธรรมและการก้าวล่วงทุกประเภทที่บังคับใช้กับจีน

 

โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนยังกล่าวด้วยว่า วันเวลาที่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ บนโลกถูกควบคุมโดยประเทศกลุ่มเล็กๆ นั้นผ่านพ้นไปแล้ว โดยจีนเชื่อว่าทุกประเทศไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เข้มแข็งหรืออ่อนแอ ยากจนหรือร่ำรวย ล้วนมีความเท่าเทียมกัน และสิ่งต่างๆ บนโลกนี้จะต้องดำเนินไปผ่านการปรึกษาหารือของทุกประเทศ

 

ความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจที่ทวีความรุนแรงขึ้นกำลังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนโลก THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ถึงทิศทางของเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนโลก ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่นี้ รวมถึงแนวทางการรับมือที่ควรจะเป็นของไทย

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

 

แนะไทยใช้ยุทธศาสตร์เปิดรับสองด้าน ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การแสดงออกถึงท่าทีกีดกันจีนที่ชัดเจนของกลุ่มประเทศ G7 สะท้อนว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) หรือการที่ประเทศมหาอำนาจจะเน้นการเติบโตจากภายในประเทศ ภูมิภาค หรือกลุ่มพันธมิตรของตัวเอง มากกว่าการพึ่งพาตลาดโลกเหมือนที่ผ่านมา 

 

“สหรัฐฯ ต้องการให้จีนเติบโตช้าลงเพื่อไม่ให้แซงหน้า แม้ว่าไบเดนจะยังไม่ใช้มาตรการภาษีเพื่อกดดันจีนเหมือนกับสมัยของทรัมป์ แต่ก็หยิบเอาประเด็นสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ ขณะเดียวกันก็แทบจะไม่ได้ปรับลดสิ่งที่ทรัมป์ทำเอาไว้เลย นอกจากนี้ยังมีความพยายามแบ่งขั้วผ่านการหาพันธมิตร หลายฝ่ายจึงประเมินกันว่าการกดดันจีนในยุคของไบเดนอาจจะรุนแรงกว่า” อมรเทพกล่าว

 

มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ช่วง 4 เดือนแรกของปี

มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ช่วง 4 เดือนแรกของปี

 

อมรเทพกล่าวว่า การแบ่งขั้วอำนาจออกเป็นสองฝ่ายย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ที่เน้นการส่งออก ที่อาจถูกกดดันให้ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ หรือจากจีน หรือต้องใช้ทั้งคู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศต่างๆ สูงขึ้น

 

“เราประเมินว่าไบเดนจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะแสวงหาพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เพื่อโอบล้อมจีน ซึ่งต่างจากสมัยทรัมป์ที่สหรัฐฯ ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว”

 

เมื่อถามถึงสิ่งที่ประเทศไทยควรทำภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่นี้ อมรเทพมองว่า ไทยอาจต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’ คือ เปิดรับทั้งสองด้าน โดยไทยยังต้องเน้นเรื่องการเป็นหุ้นส่วนกับจีนผ่านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ขณะเดียวกันต้องเน้นอุปสงค์ในจีนคือ อาหาร ยาง สินค้าเกษตร และเปิดรับทั้งสองประเทศผ่านกลุ่มอาหาร เกษตร การแพทย์สุขภาพ เป็นซัพพลายเชน กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเดินหน้าเน้นเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป

 

“เราต้องเปิดรับทั้งคู่และอยู่ร่วมกับสหรัฐฯ และจีนให้ได้ ไม่ควรเลือกข้าง เพราะวันนี้ไทยต้องค้าขายกับจีน แม้จีนยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับจีนให้มากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานจากจีนให้เข้ามาบ้านเราให้มากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งออกไปประเทศอื่น ขณะเดียวกันเราอาจใช้ประโยชน์จากการแสวงหาพันธมิตรของชาติตะวันตกในการเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป”

 

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

จับตาสงครามแย่งชิงพันธมิตร พัฒนาห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง

อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สหรัฐฯ คงประเมินแล้วว่า การใช้แรงกดดันจากตัวเองแบบประเทศเดียวเพื่อกดดันจีนอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากจีนยังมีประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงนอกเหนือจากสหรัฐฯ การรวมกลุ่มพันธมิตรเพื่อกดดันจีนจึงน่าจะเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

 

“ท่าทีของสหรัฐฯ และ NATO สะท้อนว่าชาติตะวันตกต้องการตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมการแพทย์และการทหาร ขณะที่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็จะพยายามพึ่งพาจีนให้น้อยที่สุด เพื่อลดอำนาจการต่อรองของจีน”

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนระบุว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือการสงครามทางเทคโนโลยี โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ จะทุ่มงบประมาณมหาศาลแบบสุดตัวเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เพราะผู้ที่ทำได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งสิ่งที่ตามมาจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนแตกออกเป็นสองค่าย จะเกิดการแย่งชิงพันธมิตร เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องการให้ห่วงโซ่อยู่กับตัวเองและชาติพันธมิตรเท่านั้น

 

“ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เชิงรุก เราคงไม่สามารถเลือกข้างได้ แต่เราจะรักษาสมดุลอย่างไร เราต้องเข้าใจเกมก่อน จากนั้นต้องตั้งคำถามกับตัวเองถึงทิศทางที่เราต้องการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพื่อให้วางยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อาร์มกล่าว

 

เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ท่าทีของกลุ่มประเทศ G7 และ NATO ทำให้โลกเริ่มเห็นเส้นแบ่งระหว่างสหรัฐฯ และจีนชัดขึ้น และมีแนวโน้มที่จะชัดขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อจากนี้ อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโลกในครั้งนี้จะแตกต่างจากความขัดแย้งในยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงและยังต้องพึ่งพาอาศัยกันในหลายประเด็น

 

“จีนเองเป็นผู้ถือพันธบัตรสหรัฐฯ รายใหญ่ นอกจากนี้ สหรัฐฯ และจีนก็ยังเจรจาข้อตกลงทางการค้ากันอยู่ แม้ว่าในบางอุตสาหกรรม สหรัฐฯ อาจจะถอนซัพพลายเชนออกจากจีน แต่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็อาจยังใช้จีนเป็นฐานการผลิต ทั้งสองชาติจะต้องเจรจาเพื่อยืนยันจุดยืนระหว่างกัน แต่คงใช้เวลาพอสมควรกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”

 

จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์

 

เชาว์มองว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ จะทำให้ประเทศขนาดเล็กหรือประเทศกำลังพัฒนาต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เพราะมีอำนาจต่อรองน้อย และคงไม่มีใครอยากสร้างปัญหาให้กับตัวเอง

 

“ไทยเราคงไม่สามารถเลือกข้างหรือไปต่อรองอะไรได้ เพราะเราเป็นประเทศเล็ก เศรษฐกิจเรายังต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติในการเติบโต สิ่งที่เราทำได้คือพยายามรักษาสมดุล ส่วนเรื่องการดึงฐานเทคโนโลยีที่สำคัญกลับของชาติมหาอำนาจไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับไทย เพราะเราไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงกลุ่มนั้นอยู่แล้ว” เชาว์กล่าว

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising