ท่าทีของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ G7 และกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่แสดงออกต่อจีนในการประชุมสุดยอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กำลังสร้างความวิตกแก่โลกว่าอาจเป็นฉนวนให้สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ปะทุขึ้นมาอีกครั้ง
แถลงการณ์ของกลุ่ม G7 ได้วิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นอ่อนไหวหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง สิทธิการปกครองตนเองของฮ่องกง ประเด็นความสงบสุขและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมถึงการเรียกร้องให้รัฐบาลจีนสืบสวนหาต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 อย่างละเอียด
“เราจะส่งเสริมค่านิยมของเรา รวมทั้งการเรียกร้องให้จีนเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน โดยจะเน้นเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมณฑลซินเจียง และเสรีภาพกับสิทธิปกครองตนเองในระดับสูงของฮ่องกง ซึ่งได้รับการคุมครองในปฏิญญาร่วมจีน-อังกฤษ นอกจากนี้ เรายังขอเรียกร้องให้จีนเริ่มการศึกษาต้นตอของโควิด-19 ร่วมกับองค์การอนามัยโลกอย่างโปร่งใส นำโดยผู้เชี่ยวชาญ และอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์” แถลงการณ์ของกลุ่ม G7 ระบุ
บรรยากาศการประชุมของผู้นำในกลุ่ม G7 เมื่อสัปดาห์ก่อน ซึ่งมีการวิพากษ์วิจารณ์จีนในประเด็นอ่อนไหวหลายเรื่อง ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมณฑลซินเจียง สิทธิการปกครองตนเองของฮ่องกง และเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน พร้อมเรียกร้องให้จีนสืบสวนหาต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19
ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกา ยังส่งสัญญาณชัดว่าต้องการให้แผน ‘สร้างโลกที่ดีกว่าขึ้นมาใหม่’ (Build Back Better World: B3W) ซึ่งสหรัฐฯ จะเป็นผู้สนับสนุน เป็นทางเลือกที่มีคุณภาพกว่าแผนในลักษณะเดียวกันของจีนที่ชื่อ เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative: BRI) ที่ไปช่วยสร้างรถไฟ ถนนหนทาง และท่าเรือให้กับหลายประเทศ
โดยสหรัฐฯ ได้วิพากษ์วิจารณ์โครงการ BRI ของจีนว่าเป็น ‘การทูตแบบที่ทำให้ชาติอื่นติดหนี้สิน’
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ท่าทีของกลุ่ม G7 ซึ่งนำโดยสหรัฐฯ นั้นเป็นการท้าทายอำนาจของจีนที่กำลังขยายไปทั่วโลกผ่านโครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ต่อเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ได้ร่วมกันใช้มาตรการคว่ำบาตรกับจีนไปแล้ว ได้แก่ การห้ามเดินทางและอายัดสินทรัพย์ โดยมุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงในเขตซินเจียง ซึ่งโดนกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์
สหรัฐฯ ระบุว่า การบังคับใช้แรงงานชาวอุยกูร์ในเขตซินเจียงเป็นเรื่องผิดศีลธรรมอย่างรุนแรง และก็เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ในเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะไม่สามารถทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมได้
จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
ประธานาธิบดีไบเดนยืนยันว่า ห่วงโซ่อุปทานของตลาดโลกจะต้องปราศจากการใช้แรงงานในลักษณะนี้ พร้อมบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การเผชิญหน้ากับจีน แต่เป็นการเสนอทางเลือกในเชิงบวกให้กับโลกด้วย
ทั้งนี้ หลังการประชุมกลุ่มประเทศ G7 ไม่นาน ผู้นำ NATO ก็ได้ออกแถลงการณ์ร่วมที่สอดคล้องกับกลุ่ม G7 โดยระบุชัดว่าจีนเป็นภัยคุกคามท้าทายความมั่นคง เพราะการดำเนินการของรัฐบาลจีนในขณะนี้กำลังสั่นคลอนกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติระหว่างประเทศ
แม้ NATO จะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า ‘คู่แข่ง’ หรือ ‘ศัตรู’ กับจีน แต่ก็ใช้วิธีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับจีนด้วยการระบุว่า นโยบายกึ่งบีบบังคับของจีนเป็นวิธีการที่คลุมเครือที่จีนนำมาใช้ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ทั้งในแง่ของการทหาร การค้า เทคโนโลยี และข้อมูลข่าวสาร จนกลายเป็นความท้าทายของประเทศอื่นๆ โดยเรียกร้องรัฐบาลกรุงปักกิ่งรักษาคำมั่นสัญญาระหว่างประเทศที่เคยให้ไว้ และรีบดำเนินการให้สอดคล้องกับระบบระหว่างประเทศด้วยความรับผิดชอบ
แน่นอนว่าแถลงการณ์ของกลุ่มชาติตะวันตกถูกตอบโต้จากจีนในทันที โดยสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงลอนดอนระบุว่า จีนรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่ง และขอคัดค้านอย่างเด็ดขาดกับการที่กลุ่มประเทศ G7 กล่าวถึงซินเจียง ฮ่องกง และไต้หวัน ด้วยการบิดเบือนข้อเท็จจริง อีกทั้งยังเผยให้เห็นถึงเจตนาร้ายของบางประเทศ เช่น สหรัฐฯ
“กิจการภายในของจีนต้องไม่ถูกแทรกแซง ชื่อเสียงของจีนต้องไม่ถูกใส่ร้ายป้ายสี และผลประโยชน์ของจีนต้องไม่ถูกละเมิด” ทางการจีนระบุ พร้อมกล่าวว่า จีนจะปกป้องอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของชาติอย่างเต็มกำลัง และขอต่อสู้กับความอยุติธรรมและการก้าวล่วงทุกประเภทที่บังคับใช้กับจีน
โฆษกสถานเอกอัครราชทูตจีนยังกล่าวด้วยว่า วันเวลาที่การตัดสินใจในเรื่องต่างๆ บนโลกถูกควบคุมโดยประเทศกลุ่มเล็กๆ นั้นผ่านพ้นไปแล้ว โดยจีนเชื่อว่าทุกประเทศไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ เข้มแข็งหรืออ่อนแอ ยากจนหรือร่ำรวย ล้วนมีความเท่าเทียมกัน และสิ่งต่างๆ บนโลกนี้จะต้องดำเนินไปผ่านการปรึกษาหารือของทุกประเทศ
ความตึงเครียดระหว่างสองชาติมหาอำนาจที่ทวีความรุนแรงขึ้นกำลังเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศการค้าและการลงทุนโลก THE STANDARD WEALTH ได้สำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ถึงทิศทางของเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนโลก ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่นี้ รวมถึงแนวทางการรับมือที่ควรจะเป็นของไทย
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
แนะไทยใช้ยุทธศาสตร์เปิดรับสองด้าน ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การแสดงออกถึงท่าทีกีดกันจีนที่ชัดเจนของกลุ่มประเทศ G7 สะท้อนว่า โลกกำลังจะเข้าสู่ภาวะกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ (Deglobalization) หรือการที่ประเทศมหาอำนาจจะเน้นการเติบโตจากภายในประเทศ ภูมิภาค หรือกลุ่มพันธมิตรของตัวเอง มากกว่าการพึ่งพาตลาดโลกเหมือนที่ผ่านมา
“สหรัฐฯ ต้องการให้จีนเติบโตช้าลงเพื่อไม่ให้แซงหน้า แม้ว่าไบเดนจะยังไม่ใช้มาตรการภาษีเพื่อกดดันจีนเหมือนกับสมัยของทรัมป์ แต่ก็หยิบเอาประเด็นสิทธิมนุษยชน ทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ ขณะเดียวกันก็แทบจะไม่ได้ปรับลดสิ่งที่ทรัมป์ทำเอาไว้เลย นอกจากนี้ยังมีความพยายามแบ่งขั้วผ่านการหาพันธมิตร หลายฝ่ายจึงประเมินกันว่าการกดดันจีนในยุคของไบเดนอาจจะรุนแรงกว่า” อมรเทพกล่าว
มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ช่วง 4 เดือนแรกของปี
อมรเทพกล่าวว่า การแบ่งขั้วอำนาจออกเป็นสองฝ่ายย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพรวมการค้าโลก โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ ที่เน้นการส่งออก ที่อาจถูกกดดันให้ต้องเลือกใช้เทคโนโลยีจากสหรัฐฯ หรือจากจีน หรือต้องใช้ทั้งคู่ ทำให้ต้นทุนการผลิตในประเทศต่างๆ สูงขึ้น
“เราประเมินว่าไบเดนจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรในเอเชียแปซิฟิก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจะแสวงหาพันธมิตรอื่นๆ ในภูมิภาคนี้เพื่อโอบล้อมจีน ซึ่งต่างจากสมัยทรัมป์ที่สหรัฐฯ ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว”
เมื่อถามถึงสิ่งที่ประเทศไทยควรทำภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่นี้ อมรเทพมองว่า ไทยอาจต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า ‘เอียงจีน อ่อนตามสหรัฐฯ’ คือ เปิดรับทั้งสองด้าน โดยไทยยังต้องเน้นเรื่องการเป็นหุ้นส่วนกับจีนผ่านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ขณะเดียวกันต้องเน้นอุปสงค์ในจีนคือ อาหาร ยาง สินค้าเกษตร และเปิดรับทั้งสองประเทศผ่านกลุ่มอาหาร เกษตร การแพทย์สุขภาพ เป็นซัพพลายเชน กลุ่มยานยนต์ชิ้นส่วน กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเดินหน้าเน้นเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป
“เราต้องเปิดรับทั้งคู่และอยู่ร่วมกับสหรัฐฯ และจีนให้ได้ ไม่ควรเลือกข้าง เพราะวันนี้ไทยต้องค้าขายกับจีน แม้จีนยังเป็นมหาอำนาจเบอร์ 2 แต่เรื่องการค้าจีนเป็นเบอร์ 1 ของโลก ไทยจึงต้องเพิ่มการเป็นห่วงโซ่อุปทานการผลิตกับจีนให้มากขึ้น เปิดรับการย้ายฐานจากจีนให้เข้ามาบ้านเราให้มากขึ้น เพื่อหาทางส่งออกไปสหรัฐฯ และส่งออกไปประเทศอื่น ขณะเดียวกันเราอาจใช้ประโยชน์จากการแสวงหาพันธมิตรของชาติตะวันตกในการเร่งเดินหน้าเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป”
อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จับตาสงครามแย่งชิงพันธมิตร พัฒนาห่วงโซ่อุปทานของตัวเอง
อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สหรัฐฯ คงประเมินแล้วว่า การใช้แรงกดดันจากตัวเองแบบประเทศเดียวเพื่อกดดันจีนอาจไม่เพียงพอ เนื่องจากจีนยังมีประเทศคู่ค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงนอกเหนือจากสหรัฐฯ การรวมกลุ่มพันธมิตรเพื่อกดดันจีนจึงน่าจะเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
“ท่าทีของสหรัฐฯ และ NATO สะท้อนว่าชาติตะวันตกต้องการตัดจีนออกจากห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทั้งหมด เช่น อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง อุตสาหกรรมการแพทย์และการทหาร ขณะที่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็จะพยายามพึ่งพาจีนให้น้อยที่สุด เพื่อลดอำนาจการต่อรองของจีน”
ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนระบุว่า ภาพที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้คือการสงครามทางเทคโนโลยี โดยทั้งจีนและสหรัฐฯ จะทุ่มงบประมาณมหาศาลแบบสุดตัวเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เพราะผู้ที่ทำได้ก่อนจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งสิ่งที่ตามมาจะทำให้ห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนแตกออกเป็นสองค่าย จะเกิดการแย่งชิงพันธมิตร เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องการให้ห่วงโซ่อยู่กับตัวเองและชาติพันธมิตรเท่านั้น
“ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เชิงรุก เราคงไม่สามารถเลือกข้างได้ แต่เราจะรักษาสมดุลอย่างไร เราต้องเข้าใจเกมก่อน จากนั้นต้องตั้งคำถามกับตัวเองถึงทิศทางที่เราต้องการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า เพื่อให้วางยุทธศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อาร์มกล่าว
เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ท่าทีของกลุ่มประเทศ G7 และ NATO ทำให้โลกเริ่มเห็นเส้นแบ่งระหว่างสหรัฐฯ และจีนชัดขึ้น และมีแนวโน้มที่จะชัดขึ้นเรื่อยๆ ในระยะต่อจากนี้ อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจโลกในครั้งนี้จะแตกต่างจากความขัดแย้งในยุคสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และจีนมีมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงและยังต้องพึ่งพาอาศัยกันในหลายประเด็น
“จีนเองเป็นผู้ถือพันธบัตรสหรัฐฯ รายใหญ่ นอกจากนี้ สหรัฐฯ และจีนก็ยังเจรจาข้อตกลงทางการค้ากันอยู่ แม้ว่าในบางอุตสาหกรรม สหรัฐฯ อาจจะถอนซัพพลายเชนออกจากจีน แต่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็อาจยังใช้จีนเป็นฐานการผลิต ทั้งสองชาติจะต้องเจรจาเพื่อยืนยันจุดยืนระหว่างกัน แต่คงใช้เวลาพอสมควรกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย”
จีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์
เชาว์มองว่า ผลกระทบจากความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ จะทำให้ประเทศขนาดเล็กหรือประเทศกำลังพัฒนาต้องระมัดระวังตัวเองมากขึ้น เพราะมีอำนาจต่อรองน้อย และคงไม่มีใครอยากสร้างปัญหาให้กับตัวเอง
“ไทยเราคงไม่สามารถเลือกข้างหรือไปต่อรองอะไรได้ เพราะเราเป็นประเทศเล็ก เศรษฐกิจเรายังต้องอาศัยนักลงทุนต่างชาติในการเติบโต สิ่งที่เราทำได้คือพยายามรักษาสมดุล ส่วนเรื่องการดึงฐานเทคโนโลยีที่สำคัญกลับของชาติมหาอำนาจไม่น่าจะมีผลกระทบอะไรกับไทย เพราะเราไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตเทคโนโลยีชั้นสูงกลุ่มนั้นอยู่แล้ว” เชาว์กล่าว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล