×

เรียนรู้อดีต-ฝ่าความผันผวน ข้ามผ่านสมรภูมิ Trade War

19.04.2025
  • LOADING...
ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ วิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนในสมรภูมิสงครามการค้าและความผันผวนตลาดหุ้น

ชั่วโมงนี้สงครามโลกครั้งที่ 3 ‘ภาษีทรัมป์’ เริ่มขึ้นแล้ว ทำเอานักลงทุนทั่วโลกหายหมดเหลือแต่นักกังวลเต็มไปหมดเลยครับ คนกังวลก็ไม่ใช่เรื่องของภาษีและเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังกลัวไปถึงตลาดหุ้นและสินทรัพย์ลงทุนต่างๆ ด้วย 

 

บรรยากาศในตลาดลงทุนทั่วโลกพบว่า ดัชนีความกลัว (Fear) พุ่งปรี๊ดต่างจากปลายปีที่แล้วที่ตลาดหุ้นยังเป็นช่วงของดัชนีความโลภ (Extreme Greed) อยู่เลยครับ และหากมีการเปลี่ยนแปลงอะไรไปมาอีก เข็มทิศดัชนีความกลัวก็อาจจะดีดไปดีดมาอย่างทุกวันนี้

 

เพราะไม่มีใครสามารถวิเคราะห์สถานการณ์สงครามการค้า (Trade War) รอบใหม่นี้ได้ลึกซึ้ง ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนกติการะเบียบการค้าโลกจะอ้างอิงกับหลักการและโครงสร้างที่ใช้กำหนดขึ้นมาก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจจากคนที่ไม่มีใครคาดเดาได้อยู่คนเดียว นั่นก็คือ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

 

กระแสข่าวของ Trade War ในช่วงเดือนนี้ พูดได้เลยว่า…เปลี่ยนแปลงเป็นรายชั่วโมงตั้งแต่วินาทีที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภททั่วโลกขั้นต่ำ 10% และบวกเพิ่มเฉพาะบางประเทศที่รายชื่อยาวเป็นหางว่าวและประเทศที่โดนหนักสุดก็คือจีน ล่าสุดถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สูงถึง 245% ไปแล้วครับ หลังจากที่จีนเก็บภาษีตอบโต้กับสหรัฐฯ ไปที่ 125% 

 

หลายประเทศคู่ค้าอยู่ไม่เป็นสุขกัน ต่างก็พยายามติดต่อหาทางเจรจากับ ทรัมป์ เพื่อหาจุดตรงกลางที่ไปด้วยกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้ช่วงนี้ตลาดหุ้นผันผวน เพราะความไม่แน่นอน และไม่แน่นิ่ง ทุกอย่างยังพร้อมเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

 

ถามว่า สงครามภาษีทรัมป์จะจบลงเมื่อไร ไม่มีใครตอบได้จริงๆ ครับ แต่จากที่ผมวิเคราะห์ เป้าหมายหลักของอเมริกา คือ เรื่องภาษี ที่หวังยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว จริงๆ เหตุผลที่ทรัมป์ทำ ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เรื่องการขึ้นภาษี แต่มันคือ จัดระเบียบของโลกใหม่ให้อเมริกาเพื่อจะได้กลับมาได้เปรียบอีกครั้งหนึ่ง และลดบทบาทของจีนลง

 

ผมมองสิ่งที่ทรัมป์ทำตอนนี้เหมือนที่นักธุรกิจทำกัน อย่างแรกสุด คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ปัจจุบันอเมริกามีหนี้เยอะมาก เพราะว่าขาดทุนการค้ามาก มีแต่บริโภคอย่างเดียว เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามลดหนี้ด้วยการหารายได้เพิ่ม นั่นก็คือ การขึ้นภาษีสินค้านำเข้า มุมของโดนัลด์ทรัมป์ เห็นว่า การขาดดุลการค้า ก็เหมือนทำธุรกิจขาดทุน ถ้าอเมริกาจะกลับมา Great again ได้ ก็จะต้องไม่ขาดดุลการค้ากับทุกประเทศ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นได้ หนี้ของอเมริกาก็จะลดลง และค่อยมาหาทางลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในประเทศ นี่ก็คือวาระที่ทรัมป์จะต้องทำตามที่หาเสียงไว้ครับ

 

วันนี้ทรัมป์ต้องการล้มโต๊ะ ‘กฎระเบียบการค้า’ ต่างๆ ที่สหรัฐฯ เคยสร้างขึ้นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งก็คือ Globalization เพราะมันไปเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นมา ทำให้ทรัมป์ต้องเล่นใหญ่ ด้วยยึดหลักปรัชญาการเจรจา ดังนั้น จึงคิดใหญ่ไม่คิดเล็ก ด้วยการเก็บภาษีสูงๆ ก่อนแล้วค่อยถอยกลับมา ตามตัวเลขที่เห็นกัน โดยเก็บจีนสูงที่สุด ส่วนประเทศอื่นๆ บางประเทศเก็บ 30% ประเทศโดน 40% ซึ่งไทยและเวียดนามก็โดนภาษีนี้เช่นกัน เพราะเป็นฐานการผลิตให้กับจีน 

 

สำหรับทรัมป์มองว่า ตอนนี้อเมริกาถือไพ่เหนือกว่า เพราะอเมริกาเป็นผู้บริโภคอันดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น ทุกประเทศที่ขายสินค้าให้เขาก็ต้องยอม ขณะที่ทุกคนขาดดุลการค้ากับจีน แต่ได้ดุลกับสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์มองว่า อเมริกามีอำนาจอยู่ในตอนนี้ จึงต้องการสร้างกติกาใหม่เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบเสมอ เพราะรู้ว่าถ้าเล่นตามกติกาเดิม จะต้องแพ้จีน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในช่วง 4 ปีของการเป็นประธานาธิบดีของเขา อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด

 

เวลานี้ ไม่มีใครรู้ว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะจบลงเมื่อไร ท่ามกลางสมรภูมิการเจรจาต่อรองและการตอบโต้จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร และผลกระทบต่างๆ ต่อภาคธุรกิจ เศรษฐกิจทั่วโลกจะเป็นอย่างไร 

 

สำหรับเสียงสะท้อนจากทุกมุมโลกประเมินฝั่งสหรัฐฯ ในอนาคต อเมริกาจะเป็นประเทศที่ไม่มีความแน่นอนเรื่องการเงินการลงทุน ขณะที่แนวโน้มระดับความน่าเชื่อถือลดลง ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือน ‘สงครามการค้า’ อาจทำให้เกิด ‘วิกฤตตลาดหุ้น’ และเป็นภัยต่อเสถียรภาพทางการเงินโลก

 

สอดคล้องกับ WTO หรือองค์การการค้าโลก เตือนว่า ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน อาจทำให้การค้าระหว่างสองประเทศลดลงถึง 80% แม้จะคิดเป็นเพียง 3%ของการค้าโลก แต่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกโดยรวม และหากการค้าโลกแตกออกเป็น ‘สองขั้วทางภูมิรัฐศาสตร์’ อาจทำให้ GDP โลก หดตัวลงระยะยาวเกือบ 7% โดยประเทศกำลังพัฒนาอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด 

 

Ray Dalio นักลงทุนโลกชื่อดังเตือนว่า “นี่ไม่ใช่แค่ Recession ธรรมดา เศรษฐกิจและระบบการเงินโลกกำลังเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ และภาษีการค้าของทรัมป์จะยิ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงนั้น” 

 

เสียงเตือนจาก Larry Fink ซีอีโอของกองทุน BlackRock “ตอนนี้สหรัฐฯ น่าจะเข้าใกล้ หรืออยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยแล้วก็ได้” 

 

ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ตลาดหุ้นโลกเริ่มฟื้นตัวทางเทคนิค หลังเผชิญกับแรงเทขายอย่างหนักมาในช่วงก่อนหน้า ซึ่งกดดันให้ Momentum Tracker เข้าสู่ภาวะ oversold ส่งผลให้ดัชนี MSCI All-Country World Equity ปรับตัวขึ้น 3.4% ราคาทองคำโลกปรับขึ้นอย่างโดดเด่นถึง 6.6% ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ระดับ 3,245 ดอลลาร์ สหรัฐฯ /ออนซ์ 

 

ขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ถูกกดดันจากแรงเทขาย ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ทำให้ Bond Yield สหรัฐฯ อายุ 30 ปี พุ่งแตะ 4.99% เป็นการเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่มากที่สุดในรอบ 45 ปี และพันธบัตรอายุ 7-10 ปี ที่ราคาปรับตัวลดลงถึง 3.2% สะท้อนถึงความกลัวต่อเงินเฟ้อมากกว่าความแข็งแรงของเศรษฐกิจ 

 

เพราะปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ ยังต้องออกพันธบัตรมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาเงินไปใช้จ่ายงบประมาณ แต่ฝั่งคนซื้อโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติอาจจะเริ่มลังเล ซึ่งหากตลาดมี Supply ออกมาท่วม ขณะที่ Demand ไม่มากพอ มีโอกาสที่ตลาดจะต้อง ‘กดราคาพันธบัตรให้ต่ำลง’ เพื่อจูงใจคนซื้อ ซึ่งส่งผลให้ Yield เด้งขึ้นอีก ซึ่งผลกระทบนี้อาจลามไปถึงตลาดหุ้นได้ เพราะหาก Yield ที่สูงมาก จะทำให้ ‘ต้นทุนเงิน’ ในระบบแพงขึ้น ทั้งฝั่งบริษัทที่กู้เงินและมูลค่าหุ้นที่อิง DCF (คิดลดด้วยดอกเบี้ย) ก็จะถูกกดลดลงตามด้วย 

 

นอกจากนี้ ผู้ที่ถือพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุดเวลานี้ คือ จีนและญี่ปุ่น ซึ่งหากเทขายออกมา ตลาดจะปั่นป่วนยิ่งกว่านี้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมา กระแสเงินทุนก็ไหลออกจากตลาดการเงิน สหรัฐฯ อย่างรุนแรงแล้ว 

 

จริงๆ ตั้งแต่ทรัมป์ประกาศ ‘สงครามภาษี’ ความสัมพันธ์ของตลาดหุ้น สหรัฐฯ กับตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเกือบ 100% ท่ามกลางความกังวลซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ เองก็ออกมารายงานว่า กำลังจับตาตลาดพันธบัตรอย่างใกล้ชิด 

 

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ในช่วงนี้จะพลิกแข็งค่าบ้าง เพราะตลาดวิ่งเข้าหา Safe haven คือ ทองคำ แต่ถ้า Yield พุ่งเร็วเกินไป ก็อาจเริ่มกดดันเศรษฐกิจ จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะต้องกลับมาคิดเรื่อง หยุดขึ้นดอกเบี้ยหรือแม้แต่ลดดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งจะกลายเป็นแรงกดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าในระยะถัดไป ซึ่งทั่วโลกกำลังรอฟังสัญญาณจาก เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ที่จะกล่าวสุนทรพจน์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคตและผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ในเดือนเมษายนนี้

 

ผมอยากบอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ สถานการณ์โลกไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเตรียมตัวรับมือไว้ย่อมดีที่สุด เพื่อจะได้รักษาพอร์ตของพวกเราให้ปลอดภัยมากที่สุดหรือเสียหายน้อยที่สุดครับ การทำการบ้านอย่างหนักจะเป็นหนึ่งในทางรอดแน่นอน จากที่ผมวิเคราะห์สถานการณ์ เข้าใจปัญหา และมองหาคำตอบว่า ควรทำอย่างไรกับพอร์ตลงทุน เพื่อให้เป็นผู้ชนะในสมรภูมิ Trade War ครับ ตามมาดูกันครับ 

 

จากสถานการณ์ตอนนี้ ผมได้ย้อนไปดูสถิติผลตอบแทนดัชนี S&P 500 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าต่อให้ไม่มี Trade War ก็มีโอกาสที่ผลตอบแทนจะอยู่ในแดนลบอยู่แล้วด้วยกลไกของตลาดหุ้น เพราะในปี 2566 และ 2567 ดัชนีเป็นบวกติดต่อกัน 2 ปี รวมๆ บวกไปประมาณ +50% 

 

และถ้าย้อนดูดัชนีของตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนและฮ่องกงผ่านดัชนี CSI 300 ดัชนี HSI ดัชนี TOPIX ของญี่ปุ่น ดัชนี SET ของไทย และดัชนี VNI ของเวียดนามในปี 2567 ที่ผ่านมา ก็ทำผลตอบแทนเป็นบวกทั้งหมด คล้ายๆ กับปี 2560 และพอปี 2561 ดัชนีทั้งหมดที่ว่ามาก็ติดลบ 

 

คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ ตลาดหุ้นตกตอนนี้แล้ว แต่จะฟื้นกลับมาได้อีกเมื่อไร 

 

ในวิกฤตที่ผ่านๆ มา เราจะเห็นภาพว่า วิกฤตเหล่านั้นจะคลี่คลายได้อย่างไร และเมื่อปัญหาถูกแก้ไขวิกฤตจบ ดัชนีหุ้นต่างๆ ก็จะขึ้นมา ผมมองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ก็คล้ายๆ กับหลายๆ วิกฤตที่ผ่านมา 

 

ยกตัวอย่างเช่น การประกาศทำสงคราม ย่อมพาตลาดหุ้นผันผวนเพราะอารมณ์กลัวของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่แปรปรวน แต่เมื่อทุกอย่างชัดเจนมากขึ้น ว่าจะออกหัวหรือก้อย ตลาดหุ้นก็มักจะกลับมาทำงานในแบบที่ควรจะเป็นหุ้นพื้นฐานดี ก็ดีอยู่วันยังค่ำ ตลาดจะปรับฐานเข้าสู่ภาวะสมดุลในตัวมันเองครับ 

 

ส่วนวิกฤต ‘สงครามการค้า’ ในครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของ ทรัมป์ ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้และยังต้องดูต่อไปเป็นหน่วยนาที แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์จะคลี่คลาย และตลาดหุ้นจะกลับมาได้ในท้ายที่สุด

 

จริงๆ แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นคือ ช่วงปรับโครงสร้างอีกครั้งของโลก ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง หากย้อนกลับไปดู 3 เหตุการณ์ใหญ่ ที่เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์ตลาดทุนโลกไปตลอดกาล

 

เหตุการณ์แรก Smoot Hawley Act (The Great Depression) เมื่อกำแพงภาษีกลายเป็นดาบทิ่มตลาด

 

หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ พังทลายจากเหตุการณ์ Great Depression ในปี 1929 (พ.ศ. 2472) รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามหาทางฟื้นฟูโดยการออก Smoot-Hawley Tariff Act ในปี 1930 ซึ่งเป็นกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อปกป้องเกษตรกรและอุตสาหกรรมในประเทศ

 

แต่มาตรการนี้กลับกลายเป็น ‘ยาพิษ’ ทางเศรษฐกิจ เพราะประเทศคู่ค้าอย่างแคนาดา ฝรั่งเศส และอังกฤษ ต่างตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีเช่นกัน นำไปสู่สงครามการค้าแบบเต็มรูปแบบ!

 

ผลลัพธ์คือความเชื่อมั่นในตลาดสั่นคลอนอย่างรุนแรง ดัชนี Dow Jones ร่วงลงมากกว่า 79% และตลาดต้องใช้เวลากว่า 11 ปี (1930–1941) กว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเต็มที่

 

เหตุการณ์ที่สอง Nixon Shock (End of Bretton Woods) เมื่อ ‘ทองคำ’ ไม่ใช่หลักประกันของโลกอีกต่อไป

 

ในปี 1971 (พ.ศ. 2514) ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ประกาศมาตรการเศรษฐกิจชุดใหญ่ที่เรียกว่า Nixon Shock หนึ่งในมาตรการสำคัญคือการ ยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์กับทองคำ ซึ่งเป็นหัวใจของระบบ Bretton Woods ที่ใช้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

การยุติระบบแลกเปลี่ยนที่ใช้ทองคำเป็นมาตรฐาน นำไปสู่การเกิด ‘ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว’ ซึ่งเปิดโอกาสให้ค่าเงินผันผวนตามกลไกตลาดแบบไร้ขีดจำกัดเป็นครั้งแรก

 

ผลกระทบของการตัดสินใจนี้คือ ดัชนี Dow Jones ร่วงลงกว่า 30% ภายในระยะเวลา 3 ปี นักลงทุนทั่วโลกต้องเผชิญกับโลกการเงินที่ไร้เสถียรภาพ และไม่สามารถประเมินค่าเงินที่แท้จริงได้อย่างมั่นใจอีกต่อไป

 

เหตุการณ์ที่ 3 Plaza Accord (Correct Trade Imbalance) เมื่อ 5 มหาอำนาจรวมพลัง… กดค่าเงินดอลลาร์ลง

 

กลางยุค 1980 (พ.ศ. 2523) สหรัฐฯ กำลังเผชิญปัญหาการขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเกินไป ส่งผลให้สินค้าสหรัฐฯ แพงจนสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รัฐบาลจึงตัดสินใจหาทางออกผ่านการเจรจาข้อตกลง Plaza Accord ร่วมกับ 4 ชาติพันธมิตรหลัก คือ ญี่ปุ่น เยอรมนี ฝรั่งเศส และอังกฤษ

 

ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อลดความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ฯ อย่างเป็นระบบ ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การอ่อนค่าของดอลลาร์กว่า 25.69% ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี

 

แม้ว่าข้อตกลงจะช่วยลดความเสียเปรียบทางการค้าให้กับสหรัฐ ฯ ได้ในระยะสั้น แต่กลับทำให้ญี่ปุ่นและเยอรมนีต้องรับภาระหนักในการปรับสมดุล ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ฟองสบู่เศรษฐกิจญี่ปุ่น ที่ระเบิดในต้นยุค 90 ตามมา ทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุค Lost Decade

 

ทั้งสามเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ เผยให้เห็นความจริงข้อหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลกว่า “วิกฤตไม่ใช่จุดจบ แต่คือช่วงเปลี่ยนผ่านของโครงสร้าง”

 

ทุกการปรับนโยบายที่รุนแรงในระยะสั้น มักมาจากความพยายามในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการจัดสมดุลด้านการค้า การควบคุมเงินเฟ้อ หรือการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

 

สิ่งที่นักลงทุนควรเรียนรู้จากอดีตคือ อย่าตื่นตระหนกกับความผันผวนเฉียบพลัน แต่ควรมองให้เห็นภาพใหญ่ของสิ่งที่กำลังจะเปลี่ยนไป และเตรียมพร้อมกับ ‘โอกาสใหม่’ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเสมอหลังพายุสงบครับ

 

ผมมองว่า ในความผันผวน มีแบบแผนซ่อนอยู่ นั่นก็คือ หลังวิกฤต ตลาดย่อมทะลุนิวไฮเสมอ สะท้อนจากสถิติตลาดหุ้นสหรัฐฯ ย้อนกลับไปใน 25 ปีก่อน ที่ S&P 500 ฝ่าวิกฤตต่างๆ มา ใช้เวลาฟื้นตัวที่แตกต่างกัน 

 

  • วิกฤต Dot-Com ใช้เวลาฟื้นตัว 13 ปี 
  • วิกฤต Sub-prime (US Housing Crisis) ใช้เวลาฟื้นตัว 5 ปี นับจากระดับดัชนี S&P 500 ต้นปี 2550 
  • วิกฤต Trade War (ทรัมป์สมัยแรก) ใช้เวลาฟื้นตัว 7 เดือน นับตั้งแต่จุดสูงสุดของปี 2561 
  • วิกฤต Covid-19 ใช้เวลาฟื้นตัว 8 เดือน 
  • วิกฤตเงินเฟ้อ ใช้เวลาฟื้นตัว 2 ปี

 

ในระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา วิกฤตต่างๆ ใช้ระยะเวลาในการคลี่คลายได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นก็ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญทุกครั้งที่เกิดวิกฤตตลาดหุ้นก็สามารถเติบโตและทะลุนิวไฮเดิมเสมอ

 

เราอาจจะคาดเดาไม่ได้ว่าวิกฤตตอนนี้จะจบอย่างไร และจบเมื่อไร แต่ทุกวิกฤตจะมีวันจบ และดัชนีก็จะเติบโตต่อไปได้เหมือนที่ผ่านๆ มา ทำให้สิ่งที่ควรทำตอนนี้คือการหาโอกาสที่อยู่ในวิกฤต

 

หลายๆ คนอาจสงสัยคาใจว่า เข้าลงทุนในวิกฤตดีจริงหรือไม่? มาดูคำตอบกันครับ สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว ถ้าคุณสามารถย้อนเวลากลับไปลงทุนในวิกฤตต่างๆ และถือมาเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่ปรากฏในช่วงวิกฤตเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง

 

วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตั้งแต่ 2565 – 2568 ดัชนี S&P 500 บวกเพิ่มขึ้นมา +15.45% ภายใน 4 ปี

 

วิกฤตเงินเฟ้อ Fed ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2565 ดัชนี S&P 500 ตั้งแต่ 2565 – 2568 บวกเพิ่มขึ้นมา +11.35% ใน 4 ปี

 

วิกฤต Covid 19 ตั้งแต่ปี 2563 – 2568 ดัชนี S&P 500 บวกเพิ่มขึ้นมา +56.69% ภายใน 6 ปี

 

ตัวเลขเหล่านี้เป็นข้อพิสูจน์ว่า “วิกฤตไม่ได้น่ากลัวอยู่แค่ด้านเดียว แต่ถ้าคุณเห็นโอกาส เข้าใจ รับมือ หาโอกาสแล้วจะชนะ”

 

การจะเอาชนะใน Trade War นี้ได้คุณต้อง ‘นิ่ง’ ให้มากที่สุด ตั้งสติ ทำความเข้าใจ โฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้คือการเลือก ‘หุ้นที่มีพื้นฐานดี ธุรกิจมีอนาคตเติบโต ราคาหุ้นที่ถูก’ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว

 

คำแนะนำที่ผมมีให้ลูกค้ามาตลอดและเป็นหลักการที่ใช้ได้ในระยะยาวคือ ใน การจัดพอร์ตแบบ Core & Satellite ซึ่งสัดส่วนที่ผมแนะนำคือ Core 80% และ Satellite 20% แต่ก็ขึ้นกับคุณที่จะกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของคุณได้ คำถามสำคัญคือคุณเคยทบทวนพอร์ตลงทุนบ้างไหมว่า คุณได้กระจายความเสี่ยง ให้พอร์ตโดยรวมแข็งแกร่งแล้วหรือยัง เวลานี้อาจเป็นช่วงที่ดีที่คุณจะเริ่มทบทวนแล้วล่ะครับ 

 

เมื่อทบทวนให้ถี่ถ้วนแล้ว อีกเทคนิคสำคัญในเวลานี้คือในโอกาสในการเริ่มลงทุน เพราะตอนนี้ตลาดเปิดให้คุณเฟ้นหาของดีราคาถูกลงทุนแล้วครับ 

 

เมื่อคุณตั้งสติ ทำการบ้านและทบทวนพอร์ตแล้ว ถึงเวลาสร้างโอกาสจากตลาด เพื่อให้พอร์ตของคุณมีการกระจายน้ำหนักความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ และประเทศชั้นนำทั่วโลก รวมถึงตราสารหนี้คุณภาพ สร้างพอร์ตของคุณขึ้นใหม่ให้เป็นพอร์ตที่แข็งแรงและสมดุลมากขึ้น เพื่อให้พร้อมรับมือความไม่แน่นอนที่ยังรออยู่อีก

 

ผมขอย้ำอีกครั้งว่า เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นเวลานี้ ยังพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะแม้กระทั่ง ทรัมป์จะเลื่อนระยะเวลาภาษีออกไป 90 วัน แต่ว่าในระหว่างทางตลาดเกิดหลากหลายอารมณ์ทำเอาใจหายใจคว่ำกันไปหลายตลบ

 

“ไม่ว่าความผันผวนจะโหดร้ายเพียงใด จงยึดมั่นในแผนการลงทุนระยะยาว และลงทุนต่อไป” Warren Buffett ได้กล่าวไว้ 

 

เมื่อไรที่คุณตั้งสติในการลงทุนอยู่เสมอ คว้าโอกาสในวิกฤต ยึดมั่นในแผนการลงทุนระยะยาว ผมมั่นใจว่า คุณจะเป็นผู้ชนะในทุกวิกฤตครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising