ไทยขาดดุลการค้าหนักสุดในรอบ 12 เดือนในมกราคม แม้ส่งออกขยายตัวถึง 13.6% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ไทยจะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่กลับยังขาดดุลกับจีนมหาศาล หวั่นหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น จีนอาจจะนำสินค้ามาทุ่มตลาดไทยมากขึ้น และยิ่งทำให้การขาดดุลการค้าไทยจีนหนักขึ้น
วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยเผยว่า การส่งออกในเดือนมกราคมมีมูลค่า 25,277.0 ล้านดอลลาร์ (ราว 862,367 ล้านบาท) ขยายตัว 13.6% และนับเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7
อย่างไรก็ตาม ด้านการนำเข้าเดือนมกราคม กลับมีมูลค่ามากกว่า อยู่ที่ 27,157.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 938,112 ล้านบาท) ขยายตัว 7.9% ทำให้ไทยขาดดุล 1,880.2 ล้านดอลลาร์ (ราว 75,746 ล้านบาท) นับเป็นการขาดดุลมากสุดในรอบ 11 เดือน และเป็นการขาดดุล 4 เดือนติดต่อกัน
เปิดสถิติ ไทยขาดดุลการค้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน
- ม.ค. 2567 ขาดดุล 2,913.84 ล้านดอลลาร์
- ก.พ. 2567 ขาดดุล 358.94 ล้านดอลลาร์
- มี.ค. 2567 ขาดดุล 861.29 ล้านดอลลาร์
- เม.ย. 2567 ขาดดุล 1,677.73 ล้านดอลลาร์
- พ.ค. 2567 เกินดุล 856.92 ล้านดอลลาร์
- มิ.ย. 2567 เกินดุล 418 ล้านดอลลาร์
- ก.ค. 2567 ขาดดุล 1,373.23 ล้านดอลลาร์
- ส.ค. 2567 เกินดุล 264.87 ล้านดอลลาร์
- ก.ย. 2567 เกินดุล 394.2 ล้านดอลลาร์
- ต.ค. 2567 ขาดดุล 794.35 ล้านดอลลาร์
- พ.ย. 2567 ขาดดุล 224.37 ล้านดอลลาร์
- ธ.ค. 2567 ขาดดุล 10.59 ล้านดอลลาร์
- ม.ค. 2568 ขาดดุล 1,880.21 ล้านดอลลาร์
จับตา! ไทยยัง ‘ขาดดุล’ กับจีนมหาศาล
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า โดยตั้งข้อสังเกตว่า แม้ไทยจะเกินดุลกับสหรัฐฯ แต่กลับยังขาดดุลกับจีนมหาศาล
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2567 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนสูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ -45,364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเดือนแรกของปีนี้ก็ขาดดุลอยู่ที่ -5,692 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดร.อมรเทพ กล่าวอีกว่า หากไปดูตัวเลขไส้ในของกระทรวงพาณิชย์จะพบว่าไทยนำเข้าสินค้าทุนสูงมาก แต่การนำเข้าดังกล่าวกลับไม่ได้ส่งผ่านไปถึงภาคการลงทุนและภาคการผลิตในประเทศ เห็นได้จากตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยที่ต่ำต่อเนื่อง
ทั้งนี้ โดยตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สินค้าทุนและวัตถุดิบคิดเป็นราว 66% ของการนำเข้าในเดือนที่ผ่านมา
“บางคนพูดว่า การนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้นของไทยเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิต แต่วันนี้เราอาจจะต้องมานั่งคิดกันใหม่ว่า ไทยนำเข้าสินค้าทุนเข้ามาเยอะ แต่กลับสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ได้ต่ำมาก และการผลิตสินค้าทุนในประเทศก็แทบจะไม่ขยับเลย การส่งผ่านจึงไปไม่ถึงการจ้างงานและการบริโภคในประเทศ
“วันนี้ถ้าเราดูแต่ตัวเลขส่งออกและมัวแต่ชื่นชมตัวเลขส่งออก Double Digit ผมว่าเรามาผิดทาง เพราะว่าตอนนี้เราเห็นภาพนำเข้าที่โตแรงกว่าการส่งออก แม้เราคาดว่าเราจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จากรายได้การท่องเที่ยว แต่เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าการนำเข้ากลับโตขึ้นมาก ซึ่งได้เป็นผลดีต่อการลงทุนและเศรษฐกิจประเทศมากเท่าไร”
ดร.อมรเทพ ยังแนะว่า ไทยไม่ควรผลักดันแต่การส่งออกให้เติบโตอย่างเดียว แต่ควรพยายามสร้างทรัพยากรในประเทศ (Local Content) เพื่อสนับสนุนการผลิตมากขึ้น และต้องเร่งเชื่อมห่วงโซ่อุปทานโลกให้เข้ากับภาคการผลิตในประเทศด้วย
ดร.อมรเทพ ยังห่วงว่า ถ้าสงครามการค้ารุนแรงขึ้น ก็เป็นไปได้ว่า จีนจะนำสินค้ามาทุ่มตลาดไทยมากขึ้น และยิ่งทำให้การขาดดุลการค้าไทยจีนหนักขึ้น
“ผมไม่ได้บอกว่า ไทยควรกีดกันหรือทำสงครามการค้ากับจีน แต่เราควรหาวิธีกั้นสินค้าที่จีนจะเข้ามาทุ่มตลาด รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ที่จะเข้ามาให้ถูกต้องตามหลักมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มแรงจูงใจให้ใช้ทรัพยากรในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย” ดร.อมรเทพ กล่าว
กสิกรไทยคาด นำเข้าไทยจะเร่งขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 1
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในไตรมาสแรกของปีนี้ การนำเข้าน่าจะเร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง (Front Load) ก่อนมาตรการภาษีจากสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นจะค่อยๆ เห็นสัญญาณการชะลอตัว นอกจากนี้ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการนำเข้าสินค้าทุน และการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตที่ไทยและส่งออกไป เห็นได้จากสินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการส่งออกไทยทั้งปีไว้เท่าเดิมที่โต 2.5% (Base Case)
ส่งออกไทยขยายตัว เหตุทั่วโลกกลัวนโยบายภาษีทรัมป์จึงเร่งนำเข้า
ด้านพูนพงษ์กล่าวอีกว่า การส่งออกที่ขยายตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากได้รับแรงหนุนมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ ที่มีการเร่งการนำเข้ามากขึ้น (Front Load) ภายใต้แรงกดดันจากนโยบายกีดกันสินค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และในประเทศจีน ส่งผลบวกต่อการส่งออกสินค้าทุนและวัตถุดิบของไทย
นอกจากนี้ ปัจจัยบวกสำคัญมาจากสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี โดยเฉพาะอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 148.8% มูลค่า 1,734.3 ล้านดอลลาร์, เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัว 45.0% มูลค่า 2,142.8 ล้านดอลลาร์, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 28.1% มูลค่า 903.1 ล้านดอลลาร์ และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 19.9% มูลค่า 1,284.7 ล้านดอลลาร์
จับตา! สินค้าเกษตรหดตัวหนัก โดยเฉพาะข้าว ที่สูญเสียความสามารถแข่งขันไปทุกที
พูนพงษ์เผยอีกว่า สินค้าประเภทเกษตรหลายรายการมีการหดตัวลง โดยเฉพาะ ‘ข้าว’ ที่หดตัวถึง 32.4% จากปริมาณอุปทานข้าวโลกสูงขึ้น หลังอินเดียเริ่มกลับมาส่งออกข้าว นอกจากนี้ ราคาข้าวไทยยังมีราคาสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เหตุผลผลิตต่อไร่ของไทยยังน้อยกว่าประเทศอื่น ทำให้ราคาข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันได้
“ไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับที่ 2 ของโลก กลับกันผลผลิตต่อไร่ของประเทศไทยที่อยู่ระดับต่ำ โดยสามารถผลิตได้เพียง 456 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจัยนี้ทำให้ราคาข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นในโลกได้” พูนพงษ์กล่าว
ส่องแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไป
กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ 2-3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่
- แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโตตามการขยายตัวของภาคการผลิต สถานการณ์ความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลางที่เริ่มคลี่คลาย
- ดัชนีราคาอาหารโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งสะท้อนความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารที่เพิ่มขึ้น
- โอกาสการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการทดแทนสินค้านำเข้าจากจีน
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ
- สถานการณ์การค้าโลกที่ยังคงตึงเครียด
- ความเสี่ยงของการเกิดวิกฤตเงินเฟ้อรอบใหม่ในสหรัฐฯ
- ผลกระทบจากมาตรการจำกัดการส่งออกน้ำมันของรัสเซียที่อาจส่งผลต่อราคาพลังงานและค่าระวางเรือ
- ผลกระทบจากมาตรการทางการค้าต่างๆ เช่น การปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ และการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน
“ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องรักษาสมดุลทางการค้า กระจายความเสี่ยงด้านตลาด และกำหนดมาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาโอกาสเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์ที่ท้าทาย” พูนพงษ์กล่าว