×

ทำไมไทยขาดดุลการค้ากับจีนเป็นประวัติการณ์

01.02.2024
  • LOADING...

EXIM BANK คาด ส่งออกไทยปีนี้โตราว 3-4% มีโอกาสลุ้นกลับมาเกินดุลการค้า มองไทยขาดดุลการค้ากับจีนเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า และไทยนำเข้ารถยนต์จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะ EV ที่โตกว่า 500%

 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH เกี่ยวกับประเด็นเรื่องการขาดดุลการค้าของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า เป็นผลมาจากการส่งออกของไทยที่ชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจโลก หลังธนาคารกลางทั่วโลกปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าของไทยในบางหมวดก็เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวตามการท่องเที่ยวและตลาดแรงงานที่ฟื้นตัว

 

นอกจากนี้ EXIM BANK ยังมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวเริ่มมีโมเมนตัมที่ดีขึ้น โดยปี 2566 ไทยขาดดุลการค้าลดลงเหลือ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงกว่า 60% จากปี 2565 ที่ขาดดุลกว่า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในปี 2567 ไทยก็มีโอกาสลุ้นกลับมาเกินดุลได้เช่นกันตามการส่งออกไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามการค้าโลก

 

ดร.รักษ์ คาดการณ์อีกว่า การส่งออกปีนี้จะโตราว 3-4% จากอุปสงค์สินค้าไทยในตลาดโลกที่ยังมีอยู่ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ตลอดจนวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ที่ฟื้นตัวยังช่วยหนุนโมเมนตัมโดยรวม

 

นอกจากนี้การนำเข้าของไทยที่เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่สินค้าอุปโภคบริโภคเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล ซึ่งสินค้าเหล่านี้อาจช่วยหนุนการลงทุนและส่งออกในระยะถัดไปได้เช่นกัน

 

ส่งออกไทยไปจีนหดตัว เหตุเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า

 

สำหรับประเด็นประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนเป็นประวัติการณ์ในปี 2566 ดร.รักษ์ กล่าวว่า แท้จริงแล้วไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาอย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยจีนถือเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของการนำเข้ารวม

 

อย่างไรก็ดี ตัวเลขขาดดุลที่เร่งตัวมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเป็นผลจากการส่งออกไทยไปจีนที่หดตัวเฉลี่ยกว่า 4% ต่อปี จากเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้าจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่กดดันกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของชาวจีนโดยรวม

 

นอกจากนี้หากพิจารณาโครงสร้างการนำเข้าของไทยจากจีนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แม้ส่วนใหญ่กว่า 70% จะเป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูปและสินค้าทุนเป็นหลัก

 

ไทยนำเข้า EV จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

โดยในปี 2566 ยังมีข้อสังเกตว่าไทยมีการนำเข้าสินค้าหมวดยานยนต์จากจีนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่โตกว่า 500% จากกระแสนิยมรถไฟฟ้าของคนไทยและมาตรการอุดหนุนจากภาครัฐ

 

ขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่เร่งตัวขึ้นจากกระแส e-Commerce โดยเฉพาะเครื่องใช้ในบ้าน เสื้อผ้า รองเท้า ของใช้เบ็ดเตล็ดต่างๆ ซึ่งมีราคาถูกกว่าไทย ทั้งนี้ ไทยนำเข้าสินค้าหมวดดังกล่าวจากจีนมากถึงกว่า 40% ของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมด

 

ผู้ประกอบการไทยเลือกนำเข้าสินค้าจีนมากกว่าผลิตเอง น่ากังวลหรือไม่?

 

ดร.รักษ์ กล่าวว่า เพื่อคลายความกังวล ปีที่แล้วมูลค่านำเข้ารวมของไทยจากจีนเพิ่มขึ้นเพียง 0.05% เท่านั้น ซึ่งมีทั้งสินค้าที่นำเข้าเพิ่มขึ้นและลดลงหักล้างกัน ทำให้ในภาพรวมไทยไม่ได้นำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกรายการสินค้า

 

โดยหากดูสินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูง สามารถแยกเป็นกรณีได้ดังนี้

 

  1. รถยนต์และรถบรรทุก โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นเกือบ 500% ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ซึ่งตรงจุดนี้อาจมองได้สองมุม คือการทำ Quick Win กระตุ้น Demand EV ในประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ และอีกส่วนหนึ่งคือการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในระยะยาว เพราะค่ายรถยนต์ที่จะได้สิทธิลดภาษีนำเข้า/เงินอุดหนุน ต้องมีการลงทุนผลิต EV ในไทยในระยะถัดไป

 

  1. สินค้าทุน (เครื่องจักรกล) กลุ่มนี้ไม่น่ากังวล เพราะจะช่วยหนุนการลงทุนไทยเช่นกัน

 

  1. สินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป กลุ่มนี้มีความน่ากังวลอยู่บ้าง เพราะไทยสู้จีนด้านต้นทุนไม่ได้ จึงนำเข้าเพิ่มขึ้นแทนการผลิตเอง

 

EXIM BANK แนะเร่งดันให้ผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยี

 

อย่างไรก็ตาม EXIM BANK มองว่า ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยมีความน่ากังวลบางส่วน ทั้งจากปัญหาขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความล้าหลังทางเทคโนโลยี และต้นทุนการผลิตที่สูง ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากจีนบางส่วนมาตีตลาดผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค

 

โดยระยะข้างหน้าจึงควรผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ด้วย Design และด้วย Soft Power ของไทย เพื่อสร้างจุดเด่นและมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นแข่งขันด้านคุณภาพมากกว่าราคา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising