×

‘พาณิชย์’ หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1.35% หลัง CPI เดือน ก.ย. โตเพียง 0.30% ชะลอตัวตามราคาพลังงานที่ลดลงหลังรัฐตรึงราคา

05.10.2023
  • LOADING...

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนกันยายน 2566 เท่ากับ 108.02 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 ซึ่งเท่ากับ 107.70 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวอยู่ที่ 0.30%YoY จาก 0.88% ในเดือนสิงหาคม 2566 ตามการชะลอตัวของราคาพลังงานจากมาตรการภาครัฐ และราคาอาหารที่ลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน 

 

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นเพียง 0.63%YoY ชะลอตัวจาก 0.79% ในเดือนสิงหาคม 2566  

 

ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ย 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับสูงขึ้น 1.82%AoA ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายของกระทรวงการคลังและคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ 1.0-3.0% โดยดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2565 สูงขึ้น 0.52%YoY และเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 0.39%QoQ 

 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุว่า ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวสูงขึ้น 0.59%YoY ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร ได้แก่ น้ำมันกลุ่มเบนซิน และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ (ยกเว้นกลุ่มดีเซลที่ราคาลดลง เนื่องจากมาตรการตรึงราคาของภาครัฐ) ค่าโดยสารสาธารณะ ขณะที่สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ รวมทั้ง ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า ราคาลดลงเช่นกัน  

 

สำหรับหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ พบว่าราคาปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 23 เดือน โดยลดลง 0.10%YoY หลังจากที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ตามการลดลงของเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก ผักสด เช่น ผักคะน้า ต้นหอม และพริกสด เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเจริญเติบโต ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น นอกจากนี้น้ำมันพืชและมะพร้าวราคายังคงลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ผลไม้สด รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน 

 

ทั้งนี้ หากมองต่อไปในระยะข้างหน้า ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4 มีแนวโน้มชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จากราคาเนื้อสัตว์อย่าง เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ และเครื่องประกอบอาหารที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า ราคาน้ำมัน) และสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอื่นๆ ที่มีแนวโน้มลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น และฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว 

 

อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นตามภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก รวมถึงรายได้เกษตรกรและค่าจ้างเฉลี่ยที่อยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว สินค้าเกษตรในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและเงินบาทที่อ่อนค่าต่อเนื่อง อาจเป็นแรงส่งที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวน้อยกว่าที่คาดได้ 

 

ด้วยปัจจัยดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์จึงปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 จากเดิมอยู่ที่ระหว่าง 1.0-2.0% (ค่ากลาง 1.5%) ในเดือนกรกฎาคม 2566 เป็นระหว่าง 1.0–1.7% (ค่ากลาง 1.35%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising