×

บทสรุปเวทีเสวนา ‘คิดนโยบายแนวใหม่’ โดย TPLab เพื่อแก้ปัญหาเชิงระบบ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

โดย THE STANDARD TEAM
25.10.2022
  • LOADING...
TPLab

ห้องปฎิบัติการนโยบายแห่งประเทศไทย หรือ Thailand Policy Lab (TPLab) จัดงานเสวนา ‘Policy Innovation Exchange 3’ (PIX 3) เปิดเวทีให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่สนใจจากนานาประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นภายใต้แนวคิด ‘คิดนโยบายแนวใหม่ ในโลกที่ซับซ้อน’ (Reimagine Policymaking in a Complex World) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 20-21 ตุลาคมที่ผ่านมา 

 

กรุงเทพฯ – เมืองสำหรับทุกคน

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘Bangkok – City for All’ หรือ ‘กรุงเทพฯ – เมืองสำหรับทุกคน’ ภายในงานครั้งนี้ เขาได้กล่าวว่า สัญญาประชาคม (Social Contract) เป็นรากฐานของนโยบายรัฐ โดยรัฐมีหน้าที่ต้องรับประกันความมั่นคง เปิดโอกาสในการใช้ชีวิต และป้องกันความเสี่ยงขั้นต่ำที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต ที่สำคัญคือ รัฐจะต้องสร้างความไว้วางใจจากประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ กทม. พยายามทำมาตลอด 4 เดือน แม้จะไม่มีงบประมาณก็ตาม ขณะนี้ กทม. ได้ตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ 1 ใน 50 อันดับแรกของโลก และหน้าที่ของ กทม. ที่จะทำให้บรรลุเป้าได้มีอยู่ 4 ประการคือ การเพิ่มประสิทธิภาพของเมือง การปรับปรุงคุณภาพชีวิต การสร้างโอกาสสำหรับทุกคน และสร้างความเชื่อมั่น

 

ชัชชาติยังกล่าวอีกว่า หน้าที่เราไม่ใช่แค่บริหารเมือง แต่ต้องสร้างความไว้ใจให้กับระบบ 10 ปีที่ผ่านมา คนหมดหวังกับระบอบประชาธิปไตย ระบอบการเลือกตั้ง ฉะนั้นต้องสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา กรอบประชาธิปไตยที่โปร่งใสเป็นระบอบที่จะมีพลังที่สุดที่จะตอบปัญหาและสร้างนโยบายที่มีประโยชน์กับประชาชน ตอบโจทย์ประชาชนให้ได้ เราเชื่ออย่างนั้น แล้วเราต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างให้ได้ ให้คนโหยหาการเลือกตั้ง ให้คนเข้าถึงระบอบประชาธิปไตย ทำระบบให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

แนวคิดเชิงระบบและประชาชนเป็นศูนย์กลาง

 

สุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านนโยบาย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวในการบรรยายหัวข้อ ‘กระบวนการออกแบบนโยบายสำหรับปัญหายุคใหม่’ ว่า การแก้ไขปัญหาแบบแยกส่วนไม่สามารถตอบโจทย์สังคมที่ปัจจุบันมีความผันผวนได้ นักนโยบายและรัฐต้องเปลี่ยนฐานคิด จากการแก้ปัญหาทีละเสาหลัก (Linear Policy Making or Linear Solving Process) มาเป็นกระบวนการออกแบบนวัตกรรมโยบาย (Reimagined Policymaking Process) โดยอาศัย 8 ขั้นตอนของการลงมือทำ (Eight Elements in Action) ที่หมุนเวียนเป็นวงกลมและสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เป็นการหมุนเวียนความรับผิดชอบให้กลับไปสู่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ปรับเปลี่ยนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายมากขึ้น และนำผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์อื่นๆ เช่น สังคมศาสตร์ นักออกแบบ เข้ามามีส่วนร่วมด้วย 

 

สำหรับหัวข้อ ‘Portfolio of Solution’ ไมเคิล แมคคอลลัม หัวหน้าด้านการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ Chora Foundation ให้ข้อเสนอว่า การคิดเชิงระบบเป็นการใช้แนวคิดจากหลายสาขาวิชา ช่วยให้เราเข้าใจความไม่แน่นอนของโลกปัจจุบัน ดังนั้นนักนโยบายต้องทำความเข้าใจว่าความคิดมีส่วนสำคัญในการกำหนดระบบอย่างไร โดยควรจะต้องเริ่มจากการตั้งคำถาม 6 ขั้นตอนคือ เราต้องการเปลี่ยนแปลงส่วนใดของระบบ, ปัจจัยใดที่จะกำหนดพื้นที่เชิงนโยบาย, เราเข้าใจระบบหรือปัจจัยภายนอกที่ต้องการทำงานด้วยแล้วหรือยัง, ทบทวนถึงเป้าหมายหรือสิ่งที่เราต้องการเปลี่ยนแปลง, คิดทางเลือกอื่นๆ เสริม และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงลำดับขั้นที่สองหรือการเปลี่ยนแปลงระบบทั้งหมดให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหม่

 

ในขณะที่ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนประเทศสู่ชาตินวัตกรรม ในหัวข้อ ‘เมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม: ระบบการติดตามและประเมินผลนวัตกรรมของเมือง’ ว่าจะต้องเริ่มจากโครงสร้างพื้นฐานในเมืองอันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการพัฒนาเชิงนวัตกรรม 

 

ตัวอย่างจากดัชนี Global Innovation Index 2022 จะเห็นว่า เมืองที่ติดอันดับต้นๆ ของการขยายตัวของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ล้วนแต่มีบริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาและสตาร์ทอัพในสาขาต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีโครงการ Bangkok Innovation Corridor ที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมโยงแต่ละเขตผ่านความร่วมมือของผู้คน ธุรกิจ และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อรองรับและดึงดูดนวัตกรเข้ามา โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ร่วมมือกับเทศบาลและมหาวิทยาลัยในเชียงใหม่ ปรับปรุงการทำงานเชิงนโยบายระดับท้องถิ่น เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาเชียงใหม่ไปสู่การเป็นเมืองนวัตกรรม ทั้งนี้หัวใจสำคัญคือ ภาคประชาสังคมต้องผลักดันวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ด้วยตัวเอง

 

‘ประชาธิปไตยดิจิทัล: ความท้าทายและโอกาสของแพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน’

 

อิริกูร์ บูอิ ฮัลเดอร์สสัน (Eiríkur Búi Halldórsson) ผู้จัดการแพลตฟอร์ม Better Reykjavik ของเมืองหลวงไอซ์แลนด์ ได้นำเสนอแพลตฟอร์ม ‘Better Reykjavik’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เชื่อมรัฐกับประชาชนเข้าด้วยกัน เปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอนโยบายต่างๆ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากวิกฤตเศรษฐกิจในไอซ์แลนด์เมื่อปี 2008 ทำให้ประชาชนต้องการพื้นที่ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสังคม จึงเกิดแพลตฟอร์มทดลองช่วยสร้างพลังให้ประชาชนสามารถส่งเสียงความคิดไปยังภาครัฐได้ จนพัฒนามาเป็นแพลตฟอร์มนี้ในที่สุด โดยปัจจุบันแพลตฟอร์ม Better Reykjavik นี้ได้รับการนำมาใช้ในกระบวนการร่างนโยบายการศึกษาร่วมกับประชาชน และสร้างโปรแกรม ‘เพราะที่นี่คือบ้านของเรา’ ให้ประชาชนสามารถเสนอนโยบายที่ต้องการ และร่วมโหวตนโยบายที่ชอบที่สุดได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ อิริกูร์ บูอิ ฮัลเดอร์สสัน พร้อมด้วย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ยังได้ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ ‘ประชาธิปไตยดิจิทัล: ความท้าทายและโอกาสของแพลตฟอร์มเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน’ ชี้ประเด็นว่า โจทย์สำคัญสำหรับภาครัฐยุคใหม่คือ “จะทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่น?” พร้อมกับร่วมแสดงความคิดเห็นว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยลดช่องว่างระหว่างภาครัฐและประชาชน ไม่เพียงแต่ทั้งสองฝ่ายจะส่งข้อมูลหากันและกันได้ราบรื่นขึ้นเท่านั้น แต่ประชาชนยังสามารถใช้สิทธิพลเมืองได้มากขึ้น 

 

ประชาชนจากที่เคยอยู่ท้ายสุดในสายพานการออกแบบนโยบาย ก็กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบ เสนอความคิด และข้อกังวล หรือร่วมออกแบบนโยบายได้ โดยจะต้องพึ่งพาระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล แม้ว่าในปัจจุบันเมืองแต่ละเมืองจะไม่สามารถใช้นวัตกรรมได้เต็มศักยภาพ เพราะกฎระเบียบที่เข้มงวดและการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ แต่ท้ายที่สุดแล้วประชาชนต้องเป็นผู้เห็นคุณค่าของเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหา มิเช่นนั้นการทำงานของแพลตฟอร์มในระยะยาวจะไม่ยั่งยืน ผู้คนก็จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง เพราะความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)

 

แนวคิดเชิงระบบ: แนวทางแก้ปัญหาซับซ้อนในโลกไม่แน่นอน

 

อีกหนึ่งประเด็นที่ถูกหยิบยกมาร่วมพูดคุยกันใน PIX 3 ครั้งนี้ก็คือ ‘แนวคิดเชิงระบบ: แนวทางแก้ปัญหาซับซ้อนในโลกไม่แน่นอน’ ซึ่งมีผู้ร่วมอภิปรายทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ ไมเคิล แมคคอลลัม หัวหน้าด้านการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ Chora Foundation, อภิชญา โออินทร์ ผู้จัดการโครงการด้านการทำงานร่วมกันทางสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้, บวรศม ลีระพันธ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อเล็กซานดรู โอปรูเน็นเซ ที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมระดับภูมิภาคของ UNDP โดยได้ร่วมถกในเรื่องการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 

 

เวทีดังกล่าวระบุว่า แนวคิดเชิงระบบ (System Thinking) คือ การมองจากภาพใหญ่ จากหลายมุม มองลึกถึงต้นตอ และคำนึงถึงผลระยะยาว รวมถึงการตั้งคำถามเพื่อหาทางแก้ใหม่ๆ โดยสิ่งที่ต้องตระหนักเสมอคือ การทำงานกับ ‘วิถีของผู้คน’ อันเป็นสิ่งที่จะรักษา ‘วิถีของสังคม’ ให้ดำเนินต่อไปได้มากกว่ากลไลเชิงเทคนิค การกำหนดนโยบายคือการตัดสินใจร่วมกันอย่างเท่าเทียม ดังนั้นจะต้องสร้างพื้นที่ให้เกิดการสนทนาแลกเปลี่ยน ที่ให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมได้ สร้างความสัมพันธ์ที่รัฐรับฟังประชาชนด้วย ‘ความเชื่อใจ’ โดยที่ไม่มีระดับอำนาจ ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันว่านโยบายที่ออกแบบนั้นจะส่งผลกระทบกับใคร และเป็นประโยชน์ต่อใครบ้าง รวมถึงตระหนักเสมอว่า ทุกๆ การตัดสินใจทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ย่อมเสียสิ่งหนึ่งในมิติอื่นๆ ไป การหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

 

เมืองแห่งนวัตกรรม: ระบบนวัตกรรมสำหรับเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อทุกคน

 

ปิดท้ายการจัดเสวนาในครั้งนี้ด้วยประเด็น ‘เมืองแห่งนวัตกรรม: ระบบนวัตกรรมสำหรับเมืองที่ถูกออกแบบเพื่อทุกคน’ จาก 4 ผู้ร่วมอภิปรายคือ ชัยธร ลิมาภรณ์วณิชย์ ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์นวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, พบสุข ช่ำชอง รองผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปิยะพงษ์ บุษบงก์ อาจารย์ประจำสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 

 

โดยในการเสวนาได้กล่าวถึงความจำเป็นของนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ที่เมืองจำเป็นต้องมี กล่าวคือ เป็นการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่อยู่นอกกรอบ เพื่อออกแบบนโยบายใหม่ จะช่วยให้เมืองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเคลื่อนไหวเชิงรุก ก่อให้เกิดความร่วมมือจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ใช่มีเพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นที่ริเริ่มลงมือทำ การพึ่งพานโยบายจากส่วนกลางก็จะลดลงไปด้วยเช่นกัน ในขณะเดียวกันนวัตกรรมต่างๆ ก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นมิติสังคม มิติเศรษฐกิจ หรือมิติสิ่งแวดล้อม เมืองจึงจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนนวัตกรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาเชิงระบบด้วย

 

เรื่องและภาพ: Thailand Policy Lab

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X