×

โตโยต้า กับ ‘การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่’ กับคำถามว่า ล่าช้าจนอาจโดนแบรนด์จีนแซง หรือว่าซุ่มอยู่กันแน่!

10.12.2023
  • LOADING...

คำถามที่น่าจะค้างคาใจใครหลายคนที่เป็นสาวกของรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น เกี่ยวกับการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าชนิดแบตเตอรี่ (BEV) ว่า “ทำไมจึงล่าช้า เดี๋ยวไม่ทันกิน โดนแบรนด์จีนแซงแน่นอน มัวแต่ทำอะไรอยู่” หรืออีกหลายคำถามและคำติติงถึงความล่าช้า โดยเฉพาะ ‘โตโยต้า’ ซึ่งถือว่าเป็นพี่ใหญ่ในวงการรถยนต์ ไม่ใช่แค่เฉพาะของญี่ปุ่น แต่เป็นของโลกก็ว่าได้ 

 

ย้อนไทม์ไลน์แผนของโตโยต้ากันสักนิด เป้าหมายใหญ่คือการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 30 รุ่น ภายในปี 2030 และมีการเผยรถต้นแบบพร้อมกันถึง 17 รุ่นเมื่อเดือนธันวาคม 2021 สร้างกระแสและความฮือฮาไปทั่วโลกว่าโตโยต้าแอบซุ่มเงียบมาอวดโฉมทีเดียว 17 รุ่น เรียกว่าเป็นการเปิดตัวมากที่สุดอย่างที่ไม่เคยมีแบรนด์ใดทำมาก่อน 

 

เหนืออื่นใด หากย้อนกลับอีกในช่วงราวปี 2017-2019 โตโยต้าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ลำดับแรกๆ ที่ประกาศอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดใหม่ ‘Solid State’ ที่จะเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกของยานยนต์ไฟฟ้าไปตลอดกาล ด้วยคุณสมบัติการเก็บประจุไฟฟ้าได้มากและการชาร์จไว แก้ปัญหาของรถยนต์ไฟฟ้าในยุคปัจจุบันได้อย่างหมดสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ เดือนธันวาคม 2023 อีกไม่นานจะเข้าสู่ปี 2024 โตโยต้ามีการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ออกมาเพียง 2 รุ่นเท่านั้น คือ bZ4X และ bZ3 อีกทั้งยังมีการประกาศนโยบายใหม่ที่ชื่อว่า Multi Pathway ซึ่งสร้างความสับสนให้กับหลายคนว่ามันคืออะไร? 

 

BEV หรือ Multi Pathway ใครดีกว่า

 

คำว่า BEV เชื่อว่าทุกคนรู้จักเป็นอย่างดีแล้ว เพราะคือรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ ซึ่งผู้ผลิตรถยนต์หลายรายได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจนว่าจะมุ่งหน้าพัฒนา BEV และยุติการพัฒนารถยนต์ที่ใช้น้ำมันอย่างสิ้นเชิง ขณะที่ Multi Pathway ของโตโยต้าคือพลังงานทางเลือกในการขับเคลื่อนที่หลากหลาย อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือ โตโยต้าจะพัฒนาระบบขับเคลื่อนทุกพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือไฟฟ้า รวมถึงไฮโดรเจน 

 

เหตุผลสำคัญของการเลือกประกาศนโยบาย Multi Pathway เนื่องจากโตโยต้าเชื่อว่า ในแง่มุมของการขับเคลื่อนไม่ควรที่จะยึดติดอยู่กับพลังงานใดเพียงอย่างเดียว ดังนั้นโตโยต้าจึงเลือกที่จะพัฒนาทุกทาง โดยมีเป้าหมายคือความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ในปี 2030 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีกับผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกในการเลือกใช้งานที่หลากหลาย 

 

ทั้งนี้ อีกเหตุผลสำคัญที่โตโยต้าเลือก Multi Pathway ซึ่งแม้จะไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นนั้นพึ่งพาอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 

 

 

ถ้าหากว่าโตโยต้าเดินหน้าทางหนึ่งทางใด เช่น BEV เพียงอย่างเดียว ย่อมจะกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นการที่โตโยต้าใช้ Multi Pathway จึงเป็นการช่วยประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นและภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์เอาไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง 

 

โตโยต้าพัฒนา EV ช้า?

 

ถ้าคุณรู้จักคนญี่ปุ่นและมีความคุ้นเคยวัฒนธรรมของญี่ปุ่น จะเข้าใจได้ในทันที เนื่องด้วยวิถีแบบ Japanese Way ที่การผลิตสินค้าแต่ละอย่างจะต้องมีคุณภาพสูงและวางใจได้ ฉะนั้นกว่าที่สินค้าแต่ละชิ้นจะออกจำหน่ายจำต้องผ่านการทดสอบและตรวจสอบซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแน่ใจว่าใช้ได้ดีและมีความทนทานตามมาตรฐานของญี่ปุ่น โดยเฉพาะรถยนต์ที่ถือว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น

 

การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า หัวใจหลักนอกจากเรื่องของมอเตอร์และระบบแปลงไฟแล้ว ยังมีเรื่องของแบตเตอรี่ที่ถือว่าสำคัญไม่แพ้กัน การทดสอบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้งาน ความเสถียร และระดับพลังงาน 

 

สิ่งต่างๆ เหล่านี้สามารถทดสอบจนพึงพอใจได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่เรื่องของความทนทาน คุณไม่สามารถเร่งให้เวลาเดินไปเร็วขึ้นได้ ดังนั้นบางอย่างจำเป็นต้องรอเวลา ยกตัวอย่างเช่น การรับประกันแบตเตอรี่ 10 ปี นั่นหมายความว่าโตโยต้าต้องพิสูจน์ด้วยระยะเวลาที่ไม่น้อยกว่านั้น 

 

Solid State Battery = Game Changer

 

สำหรับเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ใหม่ของโตโยต้า เมื่อกลางปี 2023 มีการประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่าโตโยต้าคิดค้น Solid State Battery สำเร็จเรียบร้อย แก้ปัญหาเรื่องความทนทานได้อย่างหมดกังวล จากเดิมที่เคยประกาศว่าจะเปิดตัวในปี 2020 แต่ล่าช้ามาจนถึงปี 2023 จึงเปิดตัวได้จริง เหตุผลสำคัญมาจากเรื่องของความทนทานที่ต้องทำให้สมบูรณ์แบบตามวิถีญี่ปุ่นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

 

อย่างไรก็ตาม ยังไม่ใช่ในเร็ววันนี้ที่ Solid State Battery จะติดตั้งมาในรถยนต์ของโตโยต้า แต่จะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 5 ปี ด้วยเหตุผลหลักคือ การหาวัตถุดิบหรือสินแร่ในการผลิต รวมถึงการวางแผนผลิตในจำนวนมากให้เพียงพอต่อการใช้งานในรถยนต์ ซึ่งโตโยต้าไม่ได้บอกว่าจะใส่ในรถยนต์รุ่นใด 

 

 

สำหรับขีดความสามารถของ Solid State Battery จากเอกสารที่เผยแพร่ของโตโยต้าระบุว่า จะใช้เวลาชาร์จราว 10 นาที สามารถวิ่งได้ 1,000 กิโลเมตร แต่ข้อมูลเชิงลึกจากศูนย์วิจัยระบุว่า ขีดความสามารถที่ทำได้ขณะนี้คือ ใช้เวลาชาร์จเพียง 3 นาที วิ่งได้ระยะทางไกลสุด 1,200 กิโลเมตรแล้ว และจะพัฒนาต่อไปอีก 

 

เราจะต้องรอถึง 5 ปี กว่าจะได้ใช้ Solid State Battery ผู้บริโภคจะรอไหวหรือ… คำถามนี้โตโยต้ามีคำตอบให้ด้วยอีกหนึ่งแนวทางในการพัฒนาแบตเตอรี่ โตโยต้าได้คิดค้นเทคโนโลยีการจัดวางเซลล์แบบใหม่ที่ช่วยให้สามารถเก็บประจุได้มากขึ้น วิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น และมีขนาดเล็กลงนิดหน่อย โดยจะวิ่งได้ไกลกว่าแบตเตอรี่ปัจจุบัน 2 เท่าตัว หรือราว 800 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ซึ่งโตโยต้าวางกำหนดเริ่มใช้ในรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป 

 

ขณะเดียวกันยังได้มีการพัฒนาเรื่องของไฮโดรเจน ไม่ว่าจะเป็นแบบ FCEV คือเอาไฮโดรเจนมาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนให้มอเตอร์ขับเคลื่อน หรือนำเอาไฮโดรเจนมาใช้แทนน้ำมันโดยใช้เครื่องยนต์พลังงานไฮโดรเจน โตโยต้าพัฒนาอย่างจริงจังทั้งสองรูปแบบ 

 

แน่นอน ปฏิเสธไม่ได้ว่าในมุมของ BEV โตโยต้าช้ากว่าค่ายรถจากแดนมังกร แต่บนความล่าช้านั้นคือการยืนยันและแสดงให้เห็นอย่างประจักษ์แจ้งว่ารถยนต์ของโตโยต้าคือรถที่คุณไว้วางใจได้ รวมถึงระยะทางวิ่งที่ตอบโจทย์ คลายความกังวลใจของผู้ใช้งาน 

 

สุดท้ายไม่ว่าเทคโนโลยีจะไปทางไหน หากโตโยต้ายังคงยึดมั่นในแนวทางที่ชื่อว่า Multi Pathway เราทุกคนจะยังคงมีทางเลือกในการใช้รถยนต์ที่ถูกใจอย่างไม่ต้องสงสัย และหากทุกอย่างในบทความนี้โตโยต้าทำได้จริง รถยนต์ไฟฟ้าที่คุณซื้อในวันนี้จะกลายเป็นของตกยุคทันที เมื่อโตโยต้าวางจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้ Solid State Battery ในการขับเคลื่อน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X