‘Tower Records’ ร้านขาย แผ่นเสียง -ซีดีระดับตำนาน ต้องปรับตัวรับมือสตรีมมิงที่กำลังเข้ามาแทรกแซง ฉุดการซื้อแผ่นเสียงลดลงอย่างต่อเนื่อง หันจับแฟนคลับไอดอลฟื้นยอดขาย
Nikkei Asia รายงานว่า Tower Records ร้านขายแผ่นซีดีที่มีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่เข้ามาทำตลาดในญี่ปุ่นเมื่อปี 1979 ก็ถือเป็นศูนย์รวมของแหล่งเพลงใหม่ๆ โดยไม่เพียงแต่นำเสนอเพลงจากหลากหลายทั่วโลก แต่ยังมีภาพถ่ายและโปสเตอร์ของศิลปินแสดงอยู่ภายในร้าน
มาซาฮิโตะ ฮาเซกาวะ หัวหน้าฝ่ายค้าปลีกของ Tower Records Japan กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Tower Records เปลี่ยนไปอย่างมาก แม้ยังคงมีสโลแกนคลาสสิกว่า ‘No Music, No Life’ แต่ปัจจุบันได้หันมาให้ความสำคัญกับเหล่าแฟนคลับที่สนับสนุนศิลปิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- การกลับมาของแผ่นเสียง ‘ไวนิล’ คุณค่าทางใจที่สร้างผลกำไรตอบแทน
- ยุคโหยหาอดีตเบ่งบาน ครั้งแรกในรอบ 34 ปีที่ยอดขาย ‘แผ่นเสียง’ ในสหรัฐฯ แซงหน้าแผ่นซีดี
- ชาวเยอรมันที่มีอายุครบ 18 ปีในปี 2023 จะได้รับบัตรที่มีเงิน 7,400 บาทสำหรับซื้อตั๋วคอนเสิร์ต แผ่นเสียง และอื่นๆ เพื่อสัมผัส ‘วัฒนธรรมที่มีชีวิต’
ภายใต้กลยุทธ์หันมาสื่อสารผ่านมุมมองลูกค้า โดยได้ให้พนักงานในร้านค้าทุกสาขาทวีตรูปภาพที่เขียนด้วยลายมือของศิลปิน นำมาวางไว้ข้างๆ แผ่นซีดีหรือแผ่นเสียงของศิลปินวงต่างๆ เพื่อดึงดูดให้กลุ่มแฟนเพลงจากทั่วทุกสารทิศเข้ามาเยี่ยมชมร้าน Tower Records มากขึ้น
หากย้อนกลับไปในปี 2019 ที่ผ่านมา Tower Records แฟลกชิปสโตร์ที่ชิบูย่า ได้เปิดพื้นที่จัดงานอีเวนต์ให้กลุ่มแฟนคลับเคป๊อปเข้ามารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินที่ตนเองรู้จัก ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน ปัจจุบัน Tower Records ได้เผชิญกับภัยคุกคามจากช่องทางออนไลน์และสตรีมมิงที่ได้เข้ามาดิสรัปชัน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จึงต้องอัปเกรดฟังก์ชันร้านค้าใหม่ให้สอดคล้องกับเทรนด์บน TikTok และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ ยังเชื่อว่าแผ่นเสียงจะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางที่มีมูลค่าในแง่ของการเพิ่มประสบการณ์ในอนาคต
มาซาฮิโตะ ฮาเซกาวะ กล่าวต่อไปว่า หมดยุคที่ศิลปินจะขายแผ่นเสียงได้หลายล้านแผ่นแล้ว แต่ญี่ปุ่นยังคงรักษาตลาดแผ่นซีดีเอาไว้ได้อย่างดีเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ต้องยอมรับว่าเมื่อสตรีมมิงเข้ามาแทนที่ ทำให้แนวโน้มการซื้อแผ่นเสียงลดลงอย่างต่อเนื่อง
สมาคมอุตสาหกรรมแผ่นเสียงแห่งประเทศญี่ปุ่น รายงานว่า แนวเพลงที่ขายแผ่นซีดีแตกต่างไปจากเดิม ซึ่งในปี 2000 หนึ่งศิลปินมีเพียง 3 เพลงเท่านั้นที่ติด 10 อันดับแรกของ Oricon ประจำปี แต่ในปี 2010 ซิงเกิลของ AKB48 และ Arashi ขึ้นมาครองชาร์ตความนิยม โดยการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงหนุนจากแฟนคลับที่ซื้อแผ่นซีดีเพื่อสนับสนุนศิลปิน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรักษาความต้องการของแผ่นซีดีเอาไว้
ด้าน เซอิจิ อิโซซากิ ผู้จัดการทั่วไปของ Billboard ประจำประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ชาร์ต Billboard Hot 100 ของสหรัฐอเมริกา เป็นตัวบ่งชี้สำคัญของอุตสาหกรรมเพลงในประเทศ เพราะไม่เพียงแต่ติดตามยอดขายของซีดีเท่านั้น แต่ยังติดตามรายการวิทยุและสตรีมมิงอีกด้วย
อ้างอิง: