จากวันเสาร์ที่ 6-28 กรกฎาคม ตูร์เดอฟร็องส์ ครั้งที่ 106 ก็จะขับเคี่ยวกันอย่างเปิดกว้างมากที่สุดนับจากปี 2012 ผ่านทั้งหมด 21 สเตจ ระยะทางถึง 3,329 กิโลเมตร
เราต้องมาดูกันว่า เกแรนท์ โธมัส แชมป์เก่า (ทีมอินนิออส) จะสามารถป้องกันเสื้อสีเหลือง หรือไมโญโฌนได้สำเร็จ หรือว่า เอแกน เบอร์นาล เพื่อนร่วมทีมจะก้าวขึ้นมาแทน ขณะที่ คริสโตเฟอร์ ฟรูม อดีตแชมป์ 4 สมัยซึ่งเป็นแม่ทัพของทีมกลับดวงตกถึงขีดสุด ประสบอุบัติเหตุรุนแรงระหว่างซ้อมเมื่อต้นเดือนจนอาการสาหัส
ชาวฝรั่งเศสดูมีความหวังเรืองรองกับ ธิโบต์ ปิโนต์ แม้พวกเขาไม่เคยเห็นนักปั่นชาติตัวเองได้แชมป์ตูร์เดอฟร็องส์มาตั้งแต่ปี 1985 สมัย แบร์นาร์ อิโนลต์ แล้ว
คนที่ดูจักรยานไม่ค่อยเป็นก็อาจค่อนข้างงงกับชื่อนักปั่นเหล่านี้พอสมควร หรือที่พอดูเป็นก็อาจสับสนกับสีเสื้อที่ดูฉูดฉาดและหลากหลายในเปโลตอง (กลุ่มนักปั่น)
สีเสื้อสำคัญๆ สำหรับตูร์เดอฟร็องส์ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานมีอยู่ 4 สี ประกอบด้วย สีเหลือง ซึ่งหมายถึงแชมป์, สีเขียว หมายถึง เจ้าความเร็ว แต่ในปัจจุบันเหมือนคนที่เก็บแต้มสะสมตลอดเส้นทางได้เก่งที่สุด โดยอาจไม่สามารถชนะสเตจเลยก็เป็นได้, ลายจุดชมพู คือราชันภูเขา หรือคนที่สะสมคะแนนบนยอดเขาได้เยอะที่สุด ปิดท้ายคือสีขาว มอบให้กับนักปั่นอายุไม่เกิน 25 ปี (ในวันที่ 1 มกราคมของปีแข่ง) ซึ่งทำเวลารวมดีที่สุด
มอริซ กาแรง (กลาง) ผู้ชนะตูร์เดอฟร็องส์ครั้งแรกในปี 1903
จุดเริ่มต้นตูร์เดอฟร็องส์ จากสงครามหนังสือพิมพ์กีฬา
ตูร์เดอฟร็องส์ลองผิดลองถูกกันมาตั้งแต่ปี 1903 แล้ว สมัยนั้นยังไม่มีการแจกเสื้อใดๆ ให้กับ มอริซ กาแรง ผู้ชนะ นอกจากปลอกแขนสีเขียวและเงินรางวัล 6,075 ฟรังก์ (เทียบเป็นเงินในปัจจุบันราว 8.5 แสนบาท) ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลย
บุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันจักรยานที่ใหญ่สุดของโลกก็คือ เชโอ เลอแฟฟร์ (1877-1961) นักข่าวกีฬาชาวฝรั่งเศส
เขาเป็นคนให้ไอเดียเรื่องนี้ระหว่างประชุมกับ อองรี เดส์กรอง (1865-1940) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลอโต้ เพื่อหาทางเพิ่มยอดขาย
เดส์กรองเป็นคนดึงตัวเลอแฟฟร์มาจากเลอ เวโล หนังสือพิมพ์กีฬาคู่แข่ง ให้รับผิดชอบด้านรักบี้กับการแข่งจักรยาน สองกีฬาที่เขาเคยลงแข่งระดับสมัครเล่นมาก่อน แต่ดูจะชอบจักรยานเป็นพิเศษ
เลอแฟฟร์ยอมย้ายออกมาจากเลอ เวโล ซึ่งมียอดขายถึง 80,000 ฉบับ มากกว่าลอโต้ราว 4 เท่า เพราะเชื่อมือเดส์กรองและเชื่อในสิ่งที่กำลังทำ
เขารู้จักและชื่นชมนักปั่นอาชีพหลายราย ถ้ามีโอกาสก็ชอบดูการแข่ง จึงพอจะรู้ว่าพวกนักปั่นระยะไกลมีคนคอยติดตามจำนวนมาก และทางเดียวที่จะหันเหความสนใจแฟนๆ เหล่านั้นมายังลอโต้ก็คือจัดการแข่งขันจักรยานทางไกลขึ้นมาเองเลย
ฝรั่งเศสเป็นชาติกสิกรรมมาจนถึงยุคศตวรรษที่ 20 ผู้คนต้องทำงานกลางแดดกลางฝนวันแล้ววันเล่า จึงชื่นชมเวลาเห็นนักปั่นจักรยานลงต่อสู้กับทุกสภาวะอากาศด้วยใจอันเด็ดเดี่ยว ยิ่งเป็นการต่อสู้ระยะทางไกลๆ แล้วถือว่าเป็นของจริงมาก
ไอเดียของเลอแฟฟร์นับว่าไม่ธรรมดา ถ้าประสบความสำเร็จ ลอโต้ซึ่งยอดขายขณะนั้นยังไม่เป็นไปตามเป้าของนายทุนจะกลายเป็นศูนย์กลางของจักรยานฝรั่งเศสโดยทันที
เขาอยากให้ลอโต้โปรโมตและจัดแข่งจักรยานก็จริง แต่ไม่ใช่รายการเก่าๆ ซึ่งเคยมีมาก่อน มันควรต้องเป็นการแข่งระยะทางไกลสุดเท่าที่เคยมีมา
ไอเดียของเลอแฟฟร์คือให้จัดแข่งกินเวลา 6 วัน โดยการแข่งจักรยานนานที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นสมัยนั้น แม้จะจัด 6 วันเท่ากันก็จริง แต่ก็อยู่ในประเภทลู่
เท่านั้นยังไม่พอ ความคิดของเขายังเตลิดไปไกลขนาดให้แข่งรอบประเทศฝรั่งเศส โดยมีจุดเริ่มต้นกับเส้นชัยในกรุงปารีส
เดส์กรองเล่าว่า “เลอแฟฟร์ เด็กน้อย สิ่งที่คุณแนะนำผมก็คือตูร์เดอฟร็องส์เลยนะ”
เคยมีการใช้ชื่อนี้มาก่อนกับวงการแข่งรถ อาทิ ตูร์เดอฟร็องส์ ออโตโมบิล จัดแข่งหนแรกในปี 1899 แต่ไม่เคยมีในการแข่งจักรยานมาก่อน
วิกเตอร์ กอดเดต์ ฝ่ายบัญชีของหนังสือพิมพ์ก็หนุนหลังไอเดียนี้เช่นกัน พร้อมเอาทุนบริษัทลงไปกับการจัดแข่ง ขอแค่เดส์กรองเอาด้วย
พวกเขาไม่ได้คุยกันเพิ่มอีก แต่คำว่าตูร์เดอฟร็องส์วนเวียนในหัวเดส์กรองอยู่ตลอดจนเขาค่อยๆ ยอมรับมัน
ในที่สุด ปลายเดือนมกราคม 1903 เดส์กรองก็ตัดสินใจหลังได้คุยเพิ่มเติมกับเลอแฟฟร์และทีมงาน จึงประกาศลงในลอโต้ว่า “เราตั้งใจจัดการแข่งขันจักรยานที่ยิ่งใหญ่สุดของโลก กินเวลาเกินเดือน จากปารีสไปลียง ต่อด้วยมาร์กเซย, ตูลูส, บอร์กโดซ์, น็องต์ แล้ววกกลับเข้าปารีส”
เดิมทีมีกำหนดแข่งยาวนานถึง 5 สัปดาห์ จาก 31 พฤษภาคมถึง 5 กรกฎาคม ให้แข่งตอนกลางคืน แล้วมาจบเอาช่วงบ่ายของอีกวัน
ด้วยปัจจัยเวลาที่ยาวนานขนาดนั้น จึงมีนักปั่นอาชีพมาสมัครกันแค่ 15 ราย
เดส์กรองยอมแก้ไขไอเดียเพราะเขาอยากสร้างความฮือฮา จึงยอมลดเวลาลงมาเหลือไม่ถึง 3 สัปดาห์ แต่ระยะทางเท่าเดิม พร้อมให้โบนัสคนที่ปั่นแต่ละวันด้วยความเร็วอย่างน้อย 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยพวกเขาจะได้เงินรางวัลเท่ากับค่าจ้างในโรงงาน พร้อมยังลดค่าสมัครจาก 20 เหลือ 10 ฟรังก์
เงินรางวัลรวมและแต่ละสเตจจะเท่ากับที่คนงานได้ค่าแรงเป็นปี จึงมีคนมาสมัครเพิ่มเป็น 60-80 ราย
จังหวะเวลาแข่งตูร์เดอฟร็องส์ตลอด 3 สัปดาห์แรกในเดือนกรกฎาคมดูเหมาะกับคนฝรั่งเศสซึ่งมีวันหยุดยาวเป็นครึ่งเดือนพอดี
นั่นคืออีกปัจจัยสำคัญทำให้ตูร์เดอฟร็องส์ประสบความสำเร็จ
ชาวฝรั่งเศสจดจำว่าตูร์เดอฟร็องส์มาพร้อมซัมเมอร์ วันหยุดยาว และความทรงจำน่าประทับใจ
ดูเหมือนเดส์กรองยังไม่ค่อยเชื่อมั่นเสียทีเดียว เพราะตูร์เดอฟร็องส์หนแรกที่จัดแข่งกลับตั้งเลอแฟฟร์ให้เป็นผู้อำนวยการดูแลเส้นทาง พร้อมเป็นกรรมการตัดสินทั้งในจุดสตาร์ทและที่เส้นชัย
L’Auto ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 1903
การแข่งเริ่มต้นเวลา 15.16 น. ของวันที่ 1 กรกฎาคม 1903
กาแรงเก่งมาก เพราะชนะทั้งสเตจแรกกับสองสเตจสุดท้ายด้วยความเร็วเฉลี่ย 25.68 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ภารกิจของลอโต้ก็เห็นผล เพราะยอดขายหนังสือพิมพ์ตลอดรายการตูร์เดอฟร็องส์เพิ่มเป็นเท่าตัว มากกว่าที่เดส์กรองหวังเอาไว้เสียอีก
ปี 1908 ยอดขายของลอโต้เพิ่มจาก 25,000 เป็น 65,000 ฉบับ ขณะที่เลอ เวโล กลายเป็นอดีตจนต้องออกจากวงการหนังสือพิมพ์ไปในปี 1904
สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 1914 หลังจากตูร์เดอฟร็องส์เพิ่งแข่งจบไม่นาน
ประชากรฝรั่งเศสเกือบ 1 ใน 4 ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร โดยผู้ชายกับเยาวชนเสียชีวิตและบาดเจ็บกันมากมายเกิน 6 ล้านคน
อองรี อลาวอน, เอดูอาร์ วอต์เตลิเยร์ และเอมิล อองเชล นักปั่นที่แข่งตูร์เดอฟร็องส์หลายสมัยเสียชีวิต แม้แต่ อ็อกตาฟ ลาปิซ อดีตแชมป์ปี 1910 ซึ่งไปเป็นนักบินให้กองทัพก็โดนยิงร่วงในศึกที่แวร์เดิงเมื่อปี 1917 จนบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตในโรงพยาบาล
ประเทศแทบล่มสลาย ประชาชนฝรั่งเศสอดอยาก โดยเฉพาะทางตอนเหนือซึ่งเป็นสังเวียนปะทะอย่างดุเดือดที่สุด
พืชผลทางเกษตรเสียหายทั้งหมด ต้นไม้ถูกระเบิดไม่เหลือซาก ถนนหนทางแทบไม่มี จนดูเหมือนชีวิตคงกลับมาเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว
แต่ชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไป ทางลอโต้ตัดสินใจกลับมาจัดการแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ในปี 1919
ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังเปิดเส้นทางเข้าไปยังอดีตพื้นที่สงครามทางตอนเหนือ ซึ่งมันกลายเป็นอีกเหตุการณ์แห่งความทรงจำ
ผู้เข้าแข่งเกือบทั้งหมดไม่ได้ปั่นจักรยานมานานถึง 4 ปี เพราะพวกเขาต่างพยายามต้องเอาชีวิตรอด
เมื่อมีประกาศว่าตูร์เดอฟร็องส์จะกลับมา เวลาในการเตรียมพร้อมน้อยมาก ผู้เข้าร่วมแข่งมีแค่ 67 ราย และมีเพียง 10 คนที่แข่งจนจบ
ฟิลิปป์ ตีส อดีตแชมป์ปี 1914 ไปไม่รอดในสเตจแรกด้วยซ้ำ แต่การแข่งปีนั้นเป็นที่จดจำอยู่สองอย่าง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงการจักรยานจนถึงทุกวันนี้
เสื้อเหลือง หรือไมโญโฌน ถูกนำมาใช้ และมีการใช้คำว่า ‘นรกแห่งภาคเหนือ’ (Hell of the North) ครั้งแรก
การแข่งแบบสเตจกลายเป็นส่วนหนึ่งของวงการจักรยาน คนดูเข้าใจกติกาและชอบคอนเซปต์ที่ว่านักปั่นที่อาจโชคร้ายในวันหนึ่งจะสามารถกลับมาแก้ตัวในวันอื่นได้
จุดเริ่มต้นของเสื้อสีเหลืองในตูร์เดอฟร็องส์
อย่างที่กล่าวเอาไว้ คนฝรั่งเศสจำนวนมากเป็นกสิกรที่ต่างต้องต่อสู้และเจออุปสรรคมากมาย พวกเขาส่วนใหญ่ก็ใช้จักรยานเป็นพาหนะ การได้ดูนักปั่นมันทำให้พวกเขามีความหวังและทราบถึงความยากลำบาก
ปัญหาก็คือเมื่อผู้นำเวลารวมผ่านหมู่บ้านพวกเขาไป คนดูกลับมองไม่ออกว่าใครเป็นใครกันแน่
มีการแนะนำไปยังเดส์กรองให้ช่วยหาชุดแข่งเด่นๆ ให้ผู้นำใส่ในแต่ละวันได้ไหม
เขาเห็นด้วย และหาซื้อชุดดังกล่าวมาให้ผู้นำได้ใส่ตลอดเส้นทางที่เหลือ
ในประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของตูร์เดอฟร็องส์บอกว่า เหตุที่เป็นสีเหลืองเพราะลอโต้พิมพ์ด้วยกระดาษสีเหลือง แต่เหตุผลแท้จริงแล้วมันอาจไม่ใช่เลย
ด้วยความที่เดส์กรองต้องการชุดแข่ง 15 ตัวที่มีขนาดแตกต่างกัน สีก็ต้องเหมือนกัน เวลาก็เร่งด่วน ทางโรงงานเหลือแค่สีเหลืองสีเดียว เพราะสีเหลืองเป็นสีที่ได้รับความนิยมน้อยที่สุด
ดังนั้นเสื้อสีเหลืองจึงถือกำเนิดด้วยเหตุผลดังกล่าว
ประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการของตูร์เดอฟร็องส์บอกว่าคนแรกที่สวมมันคือ เออแชน คริสตอฟ (1885-1970) อดีตฮีโร่ ‘ตะเกียบหน้าพัง’ ระหว่างการต่อสู้ขึ้นสู่ตูร์กมาเลต์ ช่องเขาสูงสุดของปีเรนิส ในปี 1913
อย่างไรก็ตาม ช่วงยุค 1950 เมื่อ ฟิลิปป์ ตีส (แชมป์ปี 1913, 1914 และ 1920) อายุ 67 ปี ได้ให้สัมภาษณ์ในนิตยสารจักรยานเบลเยียมว่า เดส์กรองเป็นคนให้เขาสวมเสื้อสีเหลืองมาตั้งแต่ที่ขึ้นนำการแข่งตูร์เดอฟร็องส์ก่อนสงครามเกิดขึ้น
ตีสไม่ยินยอม กระทั่งหลายสเตจต่อมา ผู้จัดการทีมเปอโยต์ ต้นสังกัด พยายามเกลี้ยกล่อมอีกรอบ “เขาบอกผมว่าใส่เสื้อสีเหลืองแล้วเหมือนโฆษณาให้กับบริษัท เราเถียงกันพักหนึ่งผมจึงยอม แล้วเราก็หาเสื้อสีเหลืองได้จากร้านแรกที่เข้าไป ขนาดพอดีเสียด้วย แม้ว่าต้องตัดช่วงคอเสื้อนิดหน่อยเพื่อที่ผมจะสวมหัวเข้าไปได้”
โชคร้ายที่หลักฐานต่างๆ ได้ลบเลือนไปจนหมด ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดลงเรื่องดังกล่าว แต่ตีสคงไม่ใช่คนโกหก
คริสตอฟจึงถูกบันทึกว่าใส่มันหนแรกในวันที่ 18 กรกฎาคม 1919 แม้ทีแรกก็ไม่ยินยอมเช่นกัน เพราะมองว่าการใส่เสื้อสีเด่นขนาดนี้จะทำให้โดนหมายหัวโดยง่ายว่าอยู่ส่วนไหนของเส้นทาง แถมภายหลังยังโดนพวกนักปั่นด้วยกันอำว่าเหมือนนกขมิ้น สวยเสียเหลือเกิน
เขาใส่มันที่เกรอน็อบล์ เมื่อเวลา 2.00 น. หลังจากปั่นมาจากเจนีวา ระยะทาง 325 กิโลเมตร ไม่มีงานหรือพิธีบนโพเดียมเหมือนเช่นทุกวันนี้
แต่บนสเตจ 14 จากเมตซ์สู่ดันเคิร์ก สีเสื้อที่ต้องสวมไม่ได้อยู่ในหัวของคริสตอฟเลย
เส้นทางผ่านตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศสจากตะวันออกสู่ตะวันตก มันเคยเป็นแนวหน้าสมรภูมิรบ
ถนนหนทางเลวร้าย พื้นที่แถบนั้นพังยับเยิน ทำให้นักข่าวคนหนึ่งซึ่งเห็นภาพดังกล่าวบรรยายออกมาว่าอย่างกับ ‘นรกแห่งภาคเหนือ’ เมื่อเขาเห็นสภาพโดยรอบของวาล็องเซียนส์ เมืองอุตสาหกรรม
แถบนั้นมีชื่อเสียงด้านถนนหนทางที่ทำด้วยหิน ซึ่งชาวนาและคนทำเหมืองใช้ในการเดินทาง และทุกๆ ปีจะมีการแข่งคลาสสิกวันเดียวจบระดับตำนาน ปารีส-รูเบซ์
นักปั่นจักรยานต้องอาศัยทักษะพิเศษเพื่อฟันฝ่ามัน และภายหลังทางรัฐบาลฝรั่งเศสได้ออกกฏหมายเพื่ออนุรักษ์เส้นทางไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ไปจากเดิม
แต่ในปี 1919 คริสตอฟจะดีใจมากถ้าไม่ต้องเจอเส้นทางดังกล่าว เพราะสภาพถนนสุดโหดทำให้ตะเกียบหน้าเขาพังอีกรอบ แม้คราวนี้จะได้โรงงานจักรยาน ไม่ใช่ช่างตีเหล็กช่วยซ่อมให้ แต่ก็เสียเวลาไปเกือบ 2 ชั่วโมงครึ่ง และปราชัยตูร์เดอฟร็องส์ในบั้นปลายให้แก่ ฟีร์กแม็ง ล็องโบต์ แชมป์ชาวเบลเยียมคนแรกที่มาจากย่านวอลลูน ซึ่งพูดฝรั่งเศส
ยอดขายของลอโต้พุ่งทะยานเป็น 500,000 ฉบับในปี 1923 และสถิติมากที่สุดก็คือ 854,000 ฉบับเมื่อตูร์เดอฟร็องส์แข่งในปี 1933
ปัจจุบันพวกเขาคือ เลกิ๊ป ซึ่งยังเป็นหนังสือพิมพ์กีฬายักษ์ใหญ่ของประเทศ
สำหรับตูร์เดอฟร็องส์ปีนี้ มีผู้เข้าแข่งขัน 176 ราย และจะมีวาระครบรอบ 100 ปีเสื้อสีเหลืองในวันที่ 19 กรกฎาคมด้วย เชื่อว่ายอดคนดูทางทีวีทั่วโลกก็ยังรักษาระดับถึง 3.5 พันล้านคนทีเดียว
ภาพประกอบ: Karin Foxx.
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์