วันนี้ (7 พฤษภาคม) สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เปิดเผยผ่าน Facebook ว่า “เริ่มไม่สบายใจ” หลังเห็นข้อมูลสินเชื่อบัตรเครดิตของเครดิตบูโรในไตรมาส 1/67 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตัวเลขบัญชีสินเชื่อบัตรเครดิตที่เป็นหนี้เสีย (NPL) หรือค้างชำระเกิน 90 วัน มีจำนวนประมาณ 1 ล้านบัตรเศษ คิดเป็นยอดเงิน 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.6%YoY
ขณะที่ยอดหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) ซึ่งหมายถึงหนี้ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน หรือหนี้ที่กำลังจะเสีย พบว่ามีจำนวน 1.9 แสนบัตร คิดเป็นยอดเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโตถึง 32.4%YoY หรือโตถึง 20.6%QoQ นับว่าโตอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวปรากฏหลังจากตั้งแต่ต้นปีนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเพิ่มการจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิตกลับไป 8% จากเดิมที่ผ่อนผันในช่วงการระบาดของโควิดที่กำหนดไว้ 5%
เครดิตบูโรห่วง SM ไหลไป NPL แรง
สุรพลระบุอีกว่า จากตัวเลขดังกล่าว “เริ่มตาโตแล้วครับว่าแค่ 3 เดือนแรกของการปรับเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำ ทำไมเกิดการกระโดดใน SM ตามต่อไปดูว่าแล้วโตจากปลายปี 2566 เท่าไร ก็พบว่าเติบโตถึง 20.6%QoQ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ต้องบอกว่าเป็นอะไรที่ต้องระวังว่าจะไหลเพิ่ม ไหลแรงกว่าเดิมหรือไม่ นอกจากปัญหาค่าครองชีพแล้ว รายได้ไม่ฟื้นตัว เปราะบางจนนุ่มนิ่ม สะท้อนแล้วว่าชำระหนี้สินเชื่อนี้ได้ลำบากมากขึ้น”
พร้อมทั้งกล่าวอีกว่า “คำถามตัวโตๆ คือ SM จะไหลต่อเป็น NPL อีกเท่าไร การกำหนดให้ชำระหนี้ขั้นต่ำเพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 8% และ 10% ตามลำดับ ช่วยแก้ปัญหาหนี้ได้จริงๆ ใช่หรือไม่ตามเป้าประสงค์มาตรการ ความจริงคนเรามีบัตรเครดิตได้หลายใบ การเพิ่มอีก 3% ของยอดหนี้ในแต่ละใบ คนไม่เคยเป็นหนี้อาจนึกไม่ออกว่าจะหมุนหาจากไหนไปจ่ายได้ และประการสุดท้ายค่าใช้จ่ายทั้งหลายเริ่มเพิ่มอย่างชัดเจน เช่น ไข่ไก่ ผักบางชนิด น้ำมันก็เริ่มขยับ เป็นต้น
การท่องตำราแก้ปัญหากับการท่องยุทธจักรแบบเดินเผชิญสืบใช้ใจที่ต่างกัน ตัวอย่างเรื่องนี้คือหนังชีวิตจริง แต่ถ้ามองเป็นหนังอนิเมะก็อาจผิดเพี้ยน ต้องกลับมาดูกัน เพราะแค่ 3 เดือนกลิ่นมันแรง แบบโตขึ้น 32.4%YoY 20.6%QoQ มันไม่ธรรมดานะครับ”