ท่ามกลางวิกฤตยังมีโอกาส ผ่ามุมมองของ Tops หนึ่งในธุรกิจภายใต้เครือเซ็นทรัลรีเทล ย้ำถึงภาพรวมปีที่ผ่านมา GDP ไทยโตแค่ 2.5% ยังน้อยถ้าเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค แต่เริ่มมีสัญญาณการเติบโตเพิ่มขึ้นรายไตรมาส
ที่เห็นได้ชัดเลยคือเงินเฟ้อของไทยเริ่มลดลงและดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวกลับมา ในปีนี้ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มมีความหวังที่เห็นตัวเลข GDP เติบโตขึ้น
ถึงกระนั้นตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคยังโตแข็งแกร่งอยู่ที่ 5.2% กลุ่มขนมขบเคี้ยว โตแรงสุด 8.9% ตามด้วยความงามและสุขภาพ รวมถึงเครื่องดื่ม เครื่องปรุง อาหารแห้ง และสินค้าทำความสะอาดบ้าน ทั้งหมดล้วนเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ธนวัตร จิรจริยาเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการพาณิชย์ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ในช่วงที่ค้าปลีกแข่งกันขายสินค้า จะเน้นทำโฆษณาสื่อสารเรื่องของราคาถูกเป็นหลัก แต่ปัจจุบันไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว เพราะเทรนด์ของลูกค้าเปลี่ยนไป หรือเรียกง่ายๆ ว่ามีจุดหมายมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Tops ครบรอบ 28 ปี หัวเรือใหญ่ย้ำจุดแข็งสินค้านำเข้า-ราคาเข้าถึงง่าย เป็นอาวุธลับ…
- ‘ป้ายเหลือง’ ไม่ได้มาเล่นๆ! ‘ท็อปส์’ ใช้จิตวิทยาสีสันดึงดูดใจนักช้อป ล็อกราคาสินค้ากว่า 1 ปี…
- ท็อปส์ปฏิวัติวงการ! เปิดตัวบรรจุภัณฑ์เนื้อสัตว์รักษ์โลก ย่อยสลายได้ 100% ภายใน 45 วัน…
ในอดีต หลายคนจะไม่ได้วางแผนซื้อสินค้า แต่ตอนนี้เริ่มมีการวางแผนจะซื้อสินค้า หนึ่งครั้งเริ่มมองถึงความคุ้มค่ามากกว่าแค่ราคาถูก ทำให้ตลาดสินค้า Own Brand หรือ Private Labeling ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่จัดจำหน่ายโดยค้าปลีก ได้เริ่มเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่ของผู้บริโภค
หากพูดถึงสัดส่วนตลาดสินค้า Own Brand ทั่วโลกอยู่ที่ 22% โดยตลาดที่เติบโตมากสุดคือยุโรปอยู่ที่ 39% แม้ประชากรส่วนใหญ่ในแถบยุโรปจะเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย หลายคนจึงเริ่มให้การยอมรับสินค้า Own Brand เพราะเห็นแล้วว่าสินค้ากลุ่มนี้มีคุณภาพและราคาต่ำกว่าแบรนด์ใหญ่ในตลาดจึงเป็นเหตุผลให้ผู้บริโภคเลือกซื้อ
เช่นเดียวกับไทยตลาดสินค้า Own Brand มีสัดส่วนเพียง 4% ถือว่ายังน้อยมากถ้าเทียบกับยุโรปแสดงให้เห็นได้ว่าตลาดยังมีโอกาสและช่องว่างให้สร้างการเติบโตได้อย่างมาก ขณะที่ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ในไทยขยายตัวกว่า 5.2% ในปี 2567
ด้วยแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว บริษัทจึงเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากกลุ่มสินค้า Own Brand ของ Tops จากปัจจุบันภายในร้านมีสินค้า Own Brand กว่า 80 แบรนด์ ครอบคลุม 110 กลุ่มประเภทสินค้า รวมกว่า 5,000 รายการ ทั้งในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค วางจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ถามว่าทำไมบริษัทถึงพัฒนาสินค้า Own Brand มากขนาดนี้ เป็นเพราะต้องการสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะในอดีตที่ผ่านมาภาพลักษณ์สินค้าจะไม่ค่อยดีมากนัก อาจเป็นเพราะรูปโฉมของสินค้าที่ผลิตมาคล้ายกับแบรนด์ชั้นนำในตลาด ลูกค้าอาจกังวลว่าเป็นของปลอมแต่วันนี้ภาพจำตรงนั้นเปลี่ยนไปแล้ว
สะท้อนจากงานวิจัยที่พบว่า คนรุ่นใหม่ๆ ทั้ง Gen Z และ Gen Y ไม่ได้ยึดติดกับแบรนด์สินค้าแล้ว แต่จะเลือกซื้อเพราะคุณภาพและระยะใช้งานมากกว่า
ธนวัตรกล่าวต่อไปว่า Tops มุ่งโฟกัสสินค้า Own Brand เป้าหมายปีนี้ตั้งเป้าให้สินค้ากลุ่ม Own Brand เติบโต 20% ซึ่งยอดขายของสินค้า Own Brand ประมาณ 80-90% มาจากช่องทางในประเทศ แต่จากนี้บริษัทมีแผนส่งออกสินค้า Own Brand เพิ่มขึ้นจาก 5 ประเทศ เป็น 10 ประเทศ เน้นส่งออกไปในแถบประเทศอาเซียน เพราะวัฒนธรรมการกินคล้ายๆ กันกับไทย รวมถึงส่งออกไปในตะวันออกกลาง เพราะคนในประเทศนั้นชื่นชอบสินค้าไทยอย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าทุ่มงบทำตลาดสื่อสารสินค้าผ่านออนไลน์อยู่เป็นระยะๆ และในแต่ละปีจะมีการพัฒนาสินค้าใหม่ราว 500 รายการ ภายใต้แบรนด์หลักอย่าง My Choice, TOPS และ SmarteR ให้แข็งแกร่ง พร้อมให้ความสำคัญกับการนำเข้าสินค้าทั้งจากต่างประเทศและสินค้าไทยที่มีคุณภาพเข้ามาตอบโจทย์ผู้บริโภค
ต้องบอกว่าจริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเป็นสินค้านำเข้าอย่างเดียวผู้บริโภคถึงจะเลือกแต่ต้องมีคุณภาพด้วย ยกตัวอย่าง ผลไม้เชอร์รี ที่นำเข้าจากอเมริกาเป็นสินค้าขายดีอันดับต้นๆ ของร้าน
อย่างไรก็ตาม แม้ Tops จะมีร้านเป็นของตัวเอง แต่หลักการวางสินค้าบนเชลฟ์ขายก็ยังจัดสินค้าอยู่ในโซนเดียวกันกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาด ตามหมวดหมู่ของสินค้า จะไม่ได้แยกออกมาวางเป็นโซนเดียว เพราะหวั่นว่าลูกค้าจะงง แต่บริษัทจะพยายามสอดแทรกสื่อโฆษณาต่างๆ เพื่อให้สินค้า Own Brand โดดเด่นมากกว่า