×

‘TOP’ รุกธุรกิจโอเลฟินส์ในอินโดนีเซีย ทุ่ม 3.91 หมื่นล้านบาท เข้าถือหุ้นใน PT Chandra Asri Petrochemical 15.38%

30.07.2021
  • LOADING...
บมจ.ไทยออยล์

บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ประกาศเข้าร่วมลงทุนในบริษัท PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ PT TOP Investment Indonesia โดยเข้าถือหุ้น CAP ที่สัดส่วน 15.38% ใช้เงินลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 39,116 ล้านบาท เพื่อก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ โดย CAP มีแผนขยายกำลังการผลิตและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 เพื่อรองรับปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ที่สูงขึ้นของประเทศ

 

การลงทุนในครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของไทยออยล์ในการเดินหน้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ จากเดิมที่มีธุรกิจสายอะโรเมติกส์อยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้โครงสร้างธุรกิจของไทยออยล์มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร โดยสายโอเลฟินส์มีข้อได้เปรียบที่สามารถนำไปเป็นสารตั้งต้นของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ขั้นปลายต่างๆ ที่หลากหลายกว่าสายอะโรเมติกส์

 

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการเข้าลงทุนมูลค่ารวมไม่เกิน 1,183 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 39,116 ล้านบาท เพื่อเข้าถือหุ้นไม่เกิน 15.38% ใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) ซึ่งตามระเบียบของรัฐบาลรัฐอินโดนีเซียกำหนดให้ทำธุรกรรมการลงทุนผ่านการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน (Rights Offering)

 

ทั้งนี้ TOP จะเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 15% ของหุ้นทั้งหมดของ CAP ในราคาไม่เกิน 914 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,222 ล้านบาท ด้วยวิธีการ 1. จองซื้อหุ้นใหม่ตามการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนใน CAP ในการนี้ TOP จะเข้าซื้อสิทธิจาก PT Barito Pacific Tbk, Marigold Resources Pte. Ltd. และ Mr. Prajogo Pangestu ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิม และจะใช้สิทธิสูงสุดตามจำนวนสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่บริษัทมีสิทธิ 2. บริษัทจะทำหน้าที่เป็นผู้ซื้อสำรองในการใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วน (Standby Purchaser) เพื่อเข้าซื้อและใช้สิทธิทั้งหมดที่ยังไม่ได้ใช้ และ 3. เข้าซื้อหุ้นเดิม (Secondary Share) จาก Mr. Prajogo Pangestu ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของ CAP ในกรณีที่บริษัทต้องลงทุนเพิ่มเติม (Top up) เพื่อให้บริษัทถือหุ้น 15% ใน CAP

 

นอกจากนั้น ภายในระยะเวลา 5 ปีบริษัทจะเข้าซื้อหุ้นเพิ่มเติมในสัดส่วน 0.38% ของหุ้นทั้งหมดของ CAP โดยหาก CAP มีการอนุมัติการลงทุนในการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีของ CAP2 โดยจะมีมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,928 ล้านบาท หรือหากไม่มีการอนุมัติการลงทุนภายในระยะเวลา 5 ปีจะมีมูลค่าทั้งสิ้นไม่เกิน 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 129 ล้านบาท

 

การเข้าลงทุนครั้งนี้ของ TOP ก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน ทั้งการได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัท CAP และบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ CAP ถือเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญระหว่างผู้ประกอบการในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดความร่วมมือในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต 

 

การร่วมลงทุนใน CAP ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเคมีชั้นนำ ทำให้ TOP สามารถก้าวเข้าสู่ธุรกิจโอเลฟินส์ได้อย่างรวดเร็ว และทำให้โครงสร้างธุรกิจมีความสมบูรณ์ ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สร้างโอกาสการเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสูงมาก 

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ คือ PT TOP Investment Indonesia ในอินโดนีเซีย เพื่อเข้าถือหุ้นใน CAP คาดว่าจะทำธุรกรรมสิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนจะแล้วเสร็จก่อนวันที่ 30 กันยายน 2564

 

“ผลประกอบการไตรมาส 1/64 ของ CAP มีกำไรสุทธิประมาณ 84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลังจากเข้าถือหุ้นแล้ว TOP น่าจะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ​ 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เริ่มรับรู้ในไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป” วิรัตน์กล่าว

 

ในส่วนของแหล่งเงินทุนครั้งนี้ TOP ได้ทำสัญญาสินเชื่อกับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และเป็นบุคคลที่เกี่ยวโยงกันของบริษัท เพื่อกำหนดข้อตกลงที่มีผลผูกพันระหว่างคู่สัญญาสำหรับธุรกรรมการรับความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้น (Bridging Loan) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 18 เดือน อัตราดอกเบี้ยเทียบเคียงกับตลาด (Market Rate) ไม่เกิน 2.5% ต่อปี และวงเงินไม่เกิน 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 22,154 ล้านบาท กับ ปตท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมการลงทุนใน PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (CAP) โดยการเข้าหุ้น 15.38% ของหุ้นทั้งหมดของ CAP ผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ในอินโดนีเซีย  และส่วนที่เหลือมาจากการกู้ยืมสถาบันการเงิน

 

นอกจากนี้ เพื่อในการปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวของ TOP ล่าสุดคณะกรรมการบริษัทได้พิจารณาและอนุมัติแผนจัดหาเงินทุนคือ การขายหุ้นสามัญของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในจำนวนไม่เกิน 10.8% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ GPSC คิดเป็นมูลค่าขายราว 20,000 ล้านบาท โดยเจตนาเบื้องต้นคือขายให้กับ PTT 

 

และการเพิ่มทุนจำนวนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งอาจดำเนินการเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นเพิ่มทุน หรือใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (Transferable Subscription Rights) โดยการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering) การเสนอขายให้แก่นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement) และ/หรือ การเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering)

 

อย่างไรก็ตาม การเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนรายเฉพาะเจาะจง (Private Placement) และ/หรือ การเสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น (Dilution Effect) ประมาณ 10% จากการที่มีหุ้นเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งขณะนี้ TOP อยู่ระหว่างการพิจารณาโครงสร้างการระดมทุนที่เหมาะสม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น

 

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัท เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นในระยะยาวเป็นสำคัญ

 

“การปรับโครงสร้างทางการเงินก็เพื่อนำเงินมาคืนเงินกู้ระยะสั้นที่ได้มาจาก PTT และสถาบันการเงิน และเพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตทั้งของ TOP และ CAP2 โดยคาดว่าการเพิ่มทุน 10,000 ล้านบาท และการขายหุ้น GPSC น่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งแรกปี 2565” 

 

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นวันนี้ (30 กรกฎาคม) ราคาหุ้นปรับตัวลดลงทันทีที่เปิดการซื้อขาย โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ 43.25 บาท ลดลง -3.75 บาท หรือ -7.98% มูลค่าการซื้อขายสูงเป็นอันดับ 1 ในกระดานที่ 1,825.25 ล้านบาท 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising