สำหรับ ‘ต๊อบ อิทธิพัทธ์’ ที่ปลุกปั้นเถ้าแก่น้อยมากับมือกว่า 20 ปีแล้ว เป้าหมายในการขยับตัวจากการเป็นเพียง Local Brand ไปสู่ Global Brand ยังเป็นฝันใหญ่ที่เขาต้องการจะไปถึงให้ได้
ถึงวันนี้ ‘เถ้าแก่น้อย’ แบรนด์สาหร่ายอันดับ 1 ของประเทศไทย ซึ่งกินพื้นที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรวมสาหร่ายมูลค่าราว 3 พันล้านบาทสูงถึง 65% แล้วก็ตาม อีกทั้งยังมีการทำตลาดในหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่การระบาดของโควิดทำให้เถ้าแก่น้อยต้องนับ 1 ใหม่อีกครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยังไม่หมดหวังกับแดนมังกร! ‘เถ้าแก่น้อย’ ตั้งตัวแทนจำหน่ายเพิ่ม 1 ราย บุก Traditional Trade และ E-Commerce
- ‘ต๊อบ’ หวัง ‘จัสท์ดริ้งค์’ ฮีโร่กอบกู้รายได้เถ้าแก่น้อย ให้คำมั่นยังไม่ทิ้งบริษัท อย่างน้อยในช่วง 2-3 ปีนี้
- แกะปมสาเหตุ MAJOR ทุ่ม ‘พันล้าน’ ถือหุ้น 5% ใน TKN และ WORK พร้อมเล็งซื้อเพิ่มเป็นไม่เกิน 10%
“ในปีนี้ เถ้าแก่น้อยยังคงทำการตลาดในระดับสากล เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยแบ่งสัดส่วนธุรกิจในตลาดไทยไว้ที่ 40% และต่างประเทศ 60%” อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จํากัด (มหาชน) กล่าว
เป้าหมายของอิทธิพัทธ์ คือการสร้างแบรนด์เถ้าแก่น้อยให้เป็น Global Brand มากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันมีการจัดจำหน่ายในช่องทางชั้นนำทั่วโลก เช่น Hema, Ole, Walmart, 7-Eleven, Costco, Wholefood
จากรายงานของเถ้าแก่น้อยในตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ปี 2565 ตลาดต่างประเทศสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้เป็นอย่างมาก เพิ่มขึ้น 35.1% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ที่มีการขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นทั้งในตลาดคนเอเชีย (Asian Grocery) ด้วยแบรนด์สินค้าเถ้าแก่น้อย และตลาดผู้บริโภคทางตะวันตก (Mainstream) ที่ใช้แบรนด์สินค้า NORA
นอกจากนี้ ตลาดประเทศทางเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ก็มีการเติบโตของยอดขายอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมาจากการเพิ่มสินค้าใหม่และการ ทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อเพิ่มการรับรู้ในตราสินค้า (Brand Awareness) ในกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ได้มีการวางกลยุทธ์สำหรับปี 2566 โดยวางแผนเบื้องต้นไว้ 3 เฟส ได้แก่
- บุกตลาดที่มียอดขาย 100 ล้านบาทขึ้นไป เช่น สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย จีน และมาเลเซีย ให้มากขึ้น ผ่านมาศึกษาตลาดในทุกๆ ด้านเพื่อทำให้เถ้าแก่น้อยขึ้นเป็นแบรนด์ที่ติดระดับบนของตารางภายใน 3 ปี
- คัดเลือกประเทศอื่นๆ จาก 50 ประเทศที่วางจำหน่ายอยู่แล้ว มองหาประเทศที่มีศักยภาพเพื่อดันยอดขายให้เติบโต
- การตั้งโรงงานในประเทศที่มียอดขายมาก เช่น จีน และอินโดนีเซีย ผ่านการร่วมทุน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้สามารถลดต้นทุนในการนำเข้าสินค้าได้ แต่ข้อที่ 3 นั้นยังเป็นแผนที่วางไว้ ไม่ได้มีทิศทางอย่างชัดเจน
การมีสินค้าที่ครอบคลุมไม่ใช่หนทางเดียวที่จะทำให้ลูกค้าโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ในต่างประเทศรู้จักเถ้าแก่น้อยมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นจึงมีการวางแผนที่จะดึง ‘ซูเปอร์สตาร์ระดับโลก’ เพื่อทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยคาดว่าอีก 2-3 ปีจึงจะใช้กลยุทธ์ดังกล่าว
ความจริงแล้ว Idol Marketing เป็นสิ่งที่เถ้าแก่น้อยทำมาโดยตลอด เพราะสามารถสร้างการจดจำ และสร้างการรับรู้ในวงกว้างผ่านแบรนด์แอมบาสเดอร์ โดยเน้นการเป็น Trend Setter หรือผู้นำเทรนด์ให้อยู่ในกระแสเสมอ และ Trend Catcher คือการที่จับกระแสความนิยมของกลุ่มผู้บริโภคอยู่เสมอ
ตอนนี้เถ้าแก่น้อยมีแบรนด์แอมบาสเดอร์ 3 คน ได้แก่ กลัฟ-คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์, ซี-พฤกษ์ พานิช และ นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ ซึ่งทั้ง 3 คน มีคาแรกเตอร์ที่เข้ากับแบรนด์ ทั้งในเรื่องภาพลักษณ์ ความเป็นที่นิยมต่อกลุ่มเป้าหมาย และความแปลกใหม่ สามารถเป็นตัวแทนแบรนด์ได้อย่างเหมาะสม และทำงานร่วมกันได้อย่างสนุกสนาน
อิทธิพัทธ์ได้ยกตัวอย่างการใช้ ซี-นุนิว ในประเทศจีนซึ่งทั้งคู่มีแฟนคลับจำนวนมากอยู่แล้ว ทำให้การไลฟ์ขายสินค้า 1 ครั้งมียอดซื้อนับ 10 ล้านบาท ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายในจีนพลิกกลับมาหลังจากที่ตกลงไปในช่วงโควิด
จีนถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกของเถ้าแก่น้อย โดยคำพูดของอิทธิพัทธ์เป็นการตอกย้ำทิศทางของเถ้าแก่น้อยคงมุ่งเน้นการทำตลาดออนไลน์แดนมังกรเพื่อกระตุ้นยอดขาย ดังจะเห็นได้จากตัวเลขยอดขายทางช่องทางออนไลน์ Taobao เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่เถ้าแก่น้อยมียอดขายสูงเป็นอันดับ 2 และอันดับ 4 ของบริษัทที่มียอดขายสูงสุดทั้งปีผ่านช่องทาง Taobao
ทิศทางตลาดในไทยการขยายฐานธุรกิจ สินค้า และตลาดในไทย ให้กว้างและแข็งแกร่งขึ้น ทั้งการรุกตลาดสินค้ากลุ่มสาหร่ายอบที่มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่อง ยึดตลาดกินรวบเป็นผู้นำในทุกเซกเมนต์สาหร่ายในประเทศไทย
และการเตรียมขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ทั้งด้วยการทำเอง หรือการจับมือกับพันธมิตรขยายธุรกิจไปด้วยกัน และเมื่อต้นปีจับมือแต่งตั้งพันธมิตรศูนย์กระจายสินค้า 14 ราย กระจายสินค้าให้ครอบคลุมช่องทางเทรดิชันนัลเทรดทั่วประเทศให้ลึกขึ้น
“สำหรับสาหร่ายยังคงเป็นกลุ่มสินค้าหลักของเถ้าแก่น้อย โดยปีนี้ในประเทศไทยแบ่งสัดส่วนสินค้าประเภทสาหร่ายไว้ที่ สาหร่ายทอด 55% สาหร่ายอบ 30% สาหร่ายย่าง 13% เราได้เป้าการเติบโตตลาดรวมสาหร่ายในประเทศไทยไว้ที่ 20% และภาพรวมธุรกิจเติบโตที่ 15%”
ตัวเลข 15% นั้นเป็นสิ่งเดียวกับที่ได้แจ้งให้แต่ตลาดหลักทรัพย์ทราบ ที่คาดว่าปีนี้จะมีรายได้รวมราว 5 พันล้านบาท ซึ่งในปี 2565 เถ้าแก่น้อยมีรายได้รวม 4,366.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และมีกำไร 432.6 ล้านบาท