×

Top Gun: Maverick กับ 5 เกร็ดน่าสนใจ การโบยบินอีกครั้งของหนังคลาสสิกแห่งยุค 80

19.05.2022
  • LOADING...
Top Gun Maverick

ถือเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อีกหนึ่งเรื่องที่คอภาพยนตร์ทั่วโลกต่างตั้งตารอ สำหรับ Top Gun: Maverick เรื่องราวภาคต่อของภาพยนตร์แอ็กชันสุดคลาสสิกแห่งยุค 80 อย่าง Top Gun (1986) ที่ยังคงได้ Tom Cruise นักแสดงขาลุย กลับมาสวมบทเป็น Pete ‘Maverick’ Mitchell นักบินขับไล่มือฉมังอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดภาพยนตร์ก็ได้เดินทางไปเข้าฉายในงาน Cannes Film Festival 2022 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา และได้รับการยืนขึ้นปรบมือจากผู้ชม (Standing Ovation) นานถึง 5 นาที รวมถึง Tom Cruise ยังได้รับรางวัล Palme d’Or กิตติมศักดิ์อีกด้วย 

 

THE STANDARD POP ถือโอกาสชวนคอภาพยนตร์มาร่วมย้อนชม 5 เกร็ดน่าสนใจของ Top Gun และ Top Gun: Maverick เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนไปร่วมออกบินกับ Tom Cruise พร้อมกัน 25 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่

 

 

Top Gun Maverick

 

1. จากบทความเจาะลึกการฝึกอบรมนักบินกองทัพเรือสหรัฐฯ สู่จอภาพยนตร์ 

ภาพยนตร์เรื่อง Top Gun ได้รับแรงบันดาลใจจากบทความชื่อ Top Guns ของนักเขียนนาม Ehud Yonay ที่เผยแพร่ทางนิตยสาร California ในปี 1963 โดยบอกเล่าเรื่องราวของนักบินแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่รู้จักกันในชื่อ Top Gun ณ ศูนย์ฝึกอบรม U.S. Naval Air Station Miramar เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย  

 

Ehud Yonay ได้เข้าไปติดตามเหล่านักบินพร้อมกับการสัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การฝึกอบรมอย่างเจาะลึก ทั้งความท้าทายที่ต้องเผชิญขณะขึ้นบินด้วยเครื่องบินรบ F-14 Tomcat และการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขา โดยหลังจากได้เข้าไปคลุกคลีอยู่กับนักบินและได้สัมผัสกับศักยภาพของเครื่องบิน F-14 Tomcat Ehud Yonay จึงให้คำจำกัดความของเครื่องบิน F-14 Tomcat ไว้ในบทความว่า มันคือเครื่องบินรบที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดของกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นสัตว์ประหลาดขนาดยักษ์ที่ได้รับการออกแบบโดยทีมงานสเปเชียลเอฟเฟ็กต์ของ Star Wars

  

หลังจากนั้น Jerry Bruckheimer และ Don Simpson สองโปรดิวเซอร์มือฉมัง ได้หยิบบทความชิ้นนี้มาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Top Gun โดยได้ Jim Cash และ Jack Epps Jr. มารับหน้าที่เขียนบท และได้ Tony Scott มาทั่งแท่นผู้กำกับ 

 

โดยบอกเล่าเรื่องราวของ Pete ‘Maverick’ Mitchell (Tom Cruise) และ Nick ‘Goose’ Bradshaw (Anthony Edwards) สองนักบินมากฝีมือแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางไปเข้าร่วมการฝึกอบรมพิเศษที่รู้จักกันในชื่อ Top Gun ซึ่งจะคัดเลือกนักบินระดับท็อปมาขัดเกลาฝีมือให้เป็นนักบินที่เก่งที่สุด

 

และเป็นจุดที่ทำให้ Maverick ได้มาพบกับ Charlie (Kelly McGillis) หนึ่งในครูฝึกสอนที่เขาหลงรักตั้งแต่แรกพบ พร้อมทั้งยังต้องขับเคี่ยวฝีมือกับ Tom ‘Iceman’ Kazansky (Val Kilmer) เพื่อแย่งชิงอันดับ 1 ของห้องเรียน เรื่องราวสุดโลดโผนโจนทะยานของ Maverick จึงเริ่มต้นขึ้น 

 


 

Top Gun Maverick

 

2. เบื้องหลังความ ‘สมจริง’ และ ‘ไม่จริง’ ของ Top Gun  

เพื่อให้เรื่องราวของ Top Gun มีความสมจริงมากที่สุด Jerry Bruckheimer และ Don Simpson ได้ตัดสินใจเดินทางไปเสนอโปรเจกต์กับทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อขอการสนับสนุนและคำปรึกษาในการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งทางกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ก็ตอบรับข้อเสนอและยื่นมือเข้าช่วยเหลือในการถ่ายทำอย่างเต็มที่ 

 

โดยทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่ง Pete ‘Viper’ Pettigrew อดีตผู้ฝึกสอนหลักสูตร Top Gun มาเป็นที่ปรึกษา เพื่อช่วยตรวจดูเนื้อหาในส่วนของการซ้อมรบทางอากาศและการใช้ชีวิตประจำวันของนักบินที่เข้ารับการฝึกอบรม 

 

ซึ่งสำหรับใครที่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาแล้ว จะทราบว่า Goose หนึ่งในตัวละครหลักของเรื่อง ได้เสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุระหว่างการฝึก โดยในช่วงการพัฒนาบท ฉากการเสียชีวิตของ Goose จะเกิดขึ้นจากการชนกันของเครื่องบิน แต่ทาง Pete Pettigrew ได้แนะนำให้ทีมสร้างเปลี่ยนสาเหตุการเสียชีวิตของ Goose เพื่อทำให้ฉากอุบัติเหตุดังกล่าวสมจริงมากขึ้น จึงเกิดเป็นฉากที่เราได้เห็นกันในภาพยนตร์ รวมถึงตัวละคร Charlie ที่รับบทโดย Kelly McGillis ยังได้รับแรงบันดาลใจจากบุคคลจริงอย่าง Christine Fox นักวิเคราะห์ฝั่งพลเรือนที่ทำงานใน U.S. Naval Air Station Miramar อีกด้วย 

 

นอกจากนี้ ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ยังอนุญาตให้ทางทีมสร้างยืมใช้ยุทโธปกรณ์ต่างๆ สำหรับถ่ายทำ ทั้งเครื่องบิน F-14 Tomcat, VF-114 Aardvarks, VF-213 Black Lions, เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Enterprise ให้ทีมสร้างเข้ามาถ่ายทำใน U.S. Naval Air Station Miramar ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรมหลักสูตร Top Gun ของจริง พร้อมส่งนักบิน F-14 Tomcat มากประสบการณ์มารับหน้าที่ขับเครื่องบินในการถ่ายทำฉากแอ็กชัน โดยการสนับสนุนทั้งหมดของกองทัพเรือสหรัฐฯ คิดเป็นเงินมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างทั้งหมด 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

และเพื่อให้ได้ภาพการต่อสู้กลางเวหาที่สมจริง ผู้กำกับ Tony Scott จึงนำกล้องถ่ายทำขึ้นไปติดไว้กับเครื่องบินจำนวน 4 ตัว พร้อมเครื่องติดตั้งที่ผลิตโดย The Grumman Aircraft Co. ติดไว้ในบริเวณที่นั่งคนขับ, ใต้ปีกทั้ง 2 ด้าน และบริเวณท้องของเครื่องบิน รวมถึงใช้เครื่องบิน A-6 Intruder ตามถ่ายภาพกว้างเพื่อให้ได้มุมภาพที่ครบถ้วนรอบด้าน ขณะที่ฉากนักแสดงขับเครื่องบิน ทางทีมสร้างได้สร้างที่นั่งคนขับจำลองขึ้นมาเพื่อถ่ายทำในสตูดิโอ ซึ่งทีมนักแสดงนำจำเป็นต้องเข้ารับการฝึกฝนและศึกษาขั้นตอนการบินกับนักบินตัวจริง เพื่อที่จะสามารถแสดงกิริยาท่าทางต่างๆ ขณะขึ้นบินให้ออกมาสมจริงที่สุด 

 

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสมจริงของฉากแอ็กชันสุดผาดโผน Top Gun ก็ยังได้รับคำวิจารณ์เกี่ยวกับเนื้อหาที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงอยู่เช่นกัน

 

หนึ่งในนั้นคือเนื้อหาของ Maverick และเหล่านักบินที่ต้องแข่งขันกันทำคะแนนสอบ เพื่อแย่งชิงถ้วยรางวัลที่มอบให้กับนักบินที่ได้คะแนนสูงสุด แต่ความจริงแล้ว การฝึกอบรมหลักสูตร Top Gun ไม่มีการมอบถ้วยรางวัลให้กับนักบิน รวมถึงการถ่ายทำฉากแอ็กชันกลางเวหาที่ถูกวิจารณ์ว่า การขับเครื่องบินเจ็ตในระยะที่ใกล้กันเกินไปและบินในระดับความสูงที่ต่ำเกินไป ไม่ใช่รูปแบบการซ้อมรบที่ใช้ปฏิบัติจริง เนื่องจากอาจเกิดเหตุอันตรายในระหว่างการซ้อมได้

 

แม้ว่า Top Gun จะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความไม่สมจริงในหลายจุด แต่ในท้ายที่สุด ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังคงได้รับการยกย่องในแง่ของการออกแบบฉากแอ็กชันกลางเวหาที่สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมมาจนถึงปัจจุบัน 

 


 

Top Gun Maverick

 

3. ความสำเร็จระดับปรากฏการณ์ที่ส่งให้ Top Gun กลายเป็นภาพยนตร์คลาสสิกแห่งยุค 80 

หลังจากที่ Top Gun ได้ออกทะยานสู่ฟากฟ้าให้ผู้ชมทั่วโลกได้ยลโฉมในปี 1986 ภาพยนตร์ก็ได้เสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมอย่างล้นหลาม ด้วยการกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปกว่า 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้างเพียง 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ไม่ใช่แค่การกวาดรายได้อย่างถล่มทลายเท่านั้น ภาพยนตร์ยังส่งให้เพลงที่ถูกนำมาใช้ประกอบภาพยนตร์กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตในปีดังกล่าวไปตามๆ กัน เช่น เพลง Danger Zone ของ Kenny Loggins ซึ่งถูกใช้ในฉากเปิดเรื่องที่สามารถก้าวขึ้นสู่อันดับ 2 บนชาร์ต Billboard ได้สำเร็จ และกลายเป็นเพลงสุดไอคอนิกแห่งยุค 80 ที่ผู้ชมจดจำมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงเพลง Take My Breath Away ที่ขับร้องโดยวงดนตรีคลื่นลูกใหม่ ณ ขณะนั้นอย่าง Berlin ก็โด่งดังจนสามารถคว้ารางวัลออสการ์ในสาขา Best Original Song มาได้สำเร็จ รวมถึงอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ของ Top Gun ที่ถูกปล่อยออกมายังได้รับถ้วยแพลทินัมถึง 9 ครั้ง 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จของภาพยนตร์ยังส่งผลในแง่บวกต่อภาพลักษณ์ของกองทัพสหรัฐฯ อีกด้วย โดยหลังจากที่ภาพยนตร์เข้าฉายมีจำนวนคนที่เข้ารับการเกณฑ์ทหารของกองทัพเรือเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 500% และแม้ว่า Top Gun จะไม่ใช่ภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐฯ แต่ด้วยความสำเร็จอย่างล้นหลามของภาพยนตร์ จึงส่งผลให้กองทัพสหรัฐฯ เริ่มเปิดรับและให้การสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์มากขึ้น โดยแลกกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาบทเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกองทัพสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐฯ ยังช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับสตูดิโอด้วยเช่นกัน 

 

อีกหนึ่งความสำเร็จที่เด่นชัดที่สุด คือตัวละครมากเสน่ห์อย่าง Maverick ที่ส่งให้ชื่อของ Tom Cruise กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และทำให้เขามีผลงานภาพยนตร์ออกมาอย่างเนืองแน่น ไม่ว่าจะเป็น Born on the Fourth of July (1989) ผลงานที่ Tom Cruise ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก, Mission: Impossible (1996) กับบทบาทที่ผู้ชมทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดีอย่าง Ethan Hunt, Jerry Maguire (1996) หนึ่งในภาพยนตร์โรแมนติกดราม่าเรื่องเยี่ยมของ Tom Cruise ฯลฯ  

 

และด้วยการออกแบบคาแรกเตอร์สุดเท่ของ Maverick ยังส่งผลให้แว่น Ray-Ban ที่ Maverick ใส่ในภาพยนตร์ มียอดขายเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไปจนถึงการหยิบภาพยนตร์มาดัดแปลงเป็นวิดีโอเกมให้คอเกมได้เล่นกันอย่างต่อเนื่อง 

 


 

Top Gun Maverick

 

4. Top Gun: Maverick การกลับมาโบยบินอีกครั้งในรอบ 36 ปี

Top Gun: Maverick นับว่าเป็นการกลับมาสานต่อเรื่องราวอีกครั้งในรอบ 36 ปีของ Top Gun โดยค่าย Paramount Pictures ได้เริ่มต้นกระบวนการพัฒนาภาคต่อของ Top Gun อย่างเป็นทางการในปี 2010 พร้อมวางตัวให้ Tony Scott กลับมานั่งแท่นผู้กำกับ แต่แล้วการพัฒนาก็ต้องหยุดชะงัก เมื่อ Tony Scott ได้เสียชีวิตลงในปี 2012 

 

ก่อนที่ในปี 2017 ทางค่าย Paramount Pictures ได้หยิบโปรเจกต์ภาคต่อของ Top Gun กลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยได้ Joseph Kosinski ผู้กำกับที่เคยร่วมงานกับ Tom Cruise มาแล้วในภาพยนตร์เรื่อง Oblivion (2013) มารับหน้าที่สานต่อเรื่องราว และยังคงได้ Jerry Bruckheimer กลับมาดูแลในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ 

 

ภาพยนตร์ยังได้ Ehren Kruger จาก Dumbo (2019), Eric Warren Singer จาก American Hustle (2013) และ Christopher McQuarrie จาก Mission: Impossible – Fallout (2018) มารับหน้าที่เขียนบทร่วม พร้อมด้วย Claudio Miranda ผู้กำกับภาพเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Life of Pi (2012), Eddie Hamilton มือตัดต่อผู้เคยสร้างความลุ้นระทึกให้กับผู้ชมมาแล้วใน Mission: Impossible – Fallout 

 

รวมถึง Harold Faltermeyer ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบจาก Top Gun ภาคแรก กลับมาประพันธ์ดนตรีประกอบร่วมกับ 2 คอมโพเซอร์มากฝีมืออย่าง Hans Zimmer จาก Dune (2021) และ Lorne Balfe จาก Mission: Impossible – Fallout รวมถึงได้ศิลปินชื่อดังอย่าง Lady Gaga มาร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ในชื่อ Hold My Hand 

 

ขณะที่ทีมนักแสดงนำจะยังคงได้ Tom Cruise กลับมารับบทเป็น Maverick และ Val Kilmer กลับมารับบทเป็น Iceman เช่นเดิม พร้อมด้วยทีมนักแสดงชุดใหม่อย่าง Miles Teller จาก Whiplash (2014) มารับบทเป็น Bradley ‘Rooster’ Bradshaw ผู้เป็นลูกชายของ Goose เสริมทัพด้วย Jennifer Connelly จากซีรีส์ Snowpiercer (2020), Monica Barbaro จาก The Good Cop (2018), Ed Harris จาก The Truman Show (1998), Lewis Pullman จากซีรีส์ Catch-22 (2019), Glen Powell จาก Hidden Figures (2016) และ Jon Hamm จาก Baby Driver (2017)

 


 

Top Gun Maverick

 

5. เบื้องหลังความทุ่มเทเพื่อสร้างฉากแอ็กชันกลางเวหาที่สมจริง 

ขึ้นชื่อว่าเป็นภาพยนตร์แอ็กชันที่นำแสดงโดย Tom Cruise ผู้ลงทุนเล่นฉากแอ็กชันสุดผาดโผนด้วยตัวเองเสมอ จึงไม่แปลกนักที่แฟนๆ ทุกคนต่างคาดหวังที่จะได้เห็นความสมจริงสมจังของฉากแอ็กชันกลางเวหาจาก Top Gun: Maverick ซึ่งครั้งนี้ Tom Cruise ก็ยังคงทุ่มสุดตัวเพื่อสร้างฉากแอ็กชันออกมาให้ดีที่สุด

 

สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ ทางสตูดิโอยังคงได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือสหรัฐฯ เช่นเดิม โดย Tom Cruise และทีมนักแสดงนำจะต้องเดินทางไปเข้ารับการฝึกอบรมกับทางกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการถ่ายทำ ทั้งการฝึกฝนร่างกาย วิธีการเอาชีวิตรอดเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและต้องดีดตัวออกจากเครื่องบินกลางทะเล ไปจนถึงการฝึกอบรมด้านการบินที่ Tom Cruise เป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบการฝึกอมรมให้กับทีมนักแสดงด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากให้นักแสดงได้ลองนั่งเครื่องบินจริง ไล่ระดับจากเครื่องบินผาดโผน เครื่องบินเจ็ต L-39 ไปจนถึงเครื่องบินรบ F-18 Super Hornet ที่ใช้สำหรับการถ่ายทำจริง เพื่อให้นักแสดงคุ้นชินกับแรง G ที่นักแสดงจะต้องเผชิญระหว่างถ่ายทำ

 

และเพื่อให้ได้ฉากแอ็กชันกลางเวหาที่ตื่นตาตื่นใจ ทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ส่งตัวนักบินมากประสบการณ์มารับหน้าที่ขับเครื่องบิน F-18 Super Hornet และให้นักแสดงนั่งด้านหลังของนักบิน พร้อมกับนำกล้อง IMAX ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยเฉพาะ มาติดตั้งไว้บริเวณที่นั่งคนขับจำนวน 6 ตัวเพื่อเก็บภาพของนักแสดงในขณะขึ้นบิน และติดตั้งกล้องอีก 4 ตัวเพื่อเก็บภาพบริเวณรอบตัวเครื่อง

 

รวมถึงนักแสดงยังต้องเรียนรู้วิธีการขับเครื่องบิน เพื่อช่วยให้การแสดงสอดคล้องไปกับท่าทางของนักบินตัวจริง เสมือนว่าพวกเขากำลังขับเครื่องบิน F-18 Super Hornet อยู่จริงๆ นอกจากนี้ ทางกัปตัน Brian Ferguson นักบินที่ปรึกษาแห่งกองทัพเรือสหรัฐฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการถ่ายทำของทีมนักแสดงไว้ว่า ทุกครั้งที่ผู้ชมเห็นเครื่องบินรบบนหน้าจอ เครื่องบินลำนั้นมีนักแสดงนั่งอยู่แน่นอน

 

รัดเข็มขัดให้พร้อม แล้วมาร่วมโบยบินสู่ฟากฟ้าไปกับ Tom Cruise ใน Top Gun: Maverick วันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising