×
SCB Omnibus Fund 2024

หุ้นกลุ่มโรงกลั่น โตกระโดด ‘TOP-ESSO’ กำไรพุ่งกว่า 1,000% อานิสงส์ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้น

15.08.2022
  • LOADING...
TOP-ESSO

หุ้นกลุ่มโรงกลั่น โชว์กำไรในไตรมาส 2/65 อู้ฟู่ ‘TOP-ESSO’ เผยกำไรสุทธิโตกว่า 1,000% อานิสงส์ราคาน้ำมันดิบขยับขึ้นและกำไรสต๊อกน้ำมันพุ่ง ด้านโบรกมองแนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังส่ออ่อนตัวลงตามค่าการกลั่นที่ลดลง และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่แคบลง 

 

กลุ่มโรงกลั่นรายงานผลประกอบการไตรมาส 2/65 ส่วนใหญ่มีกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว โดยมีเพียง บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC ที่รายงานกำไรสุทธิลดลง 94% มาอยู่ที่ 1.38 พันล้านบาท และ บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ที่มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2/65 จำนวน 3,833.04 ล้านบาท ลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

 

PTTGC กำไรวูบ 94% เหตุขาดทุนตราสารอนุพันธ์

บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 2/65 มีกำไรสุทธิ 1,388.26 ล้านบาท ลดลง 94% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 25,034.73 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายรวม 196,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาน้ำมันดิบ เช่นเดียวกับราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีส่วนใหญ่ปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาวัตถุดิบ รวมถึงยังมีปัจจัยสนับสนุนด้านอุปทานที่ตึงตัวจากการหยุดซ่อมบำรุง และการปรับลดกำลังการผลิตของผู้ผลิตบางรายในภูมิภาค เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้ไม่คุ้มค่าในการผลิต

 

PTTGC ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง 12,734 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าราคาที่ทำประกันความเสี่ยงไว้ โดยเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นแล้ว (Realized) จำนวน 11,598 ล้านบาท และที่ยังไม่เกิดขึ้น (Unrealized) จำนวน 1,136 ล้านบาท ผลขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) 4,378 ล้านบาท กำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน 1,712 ล้านบาท

 

ในไตรมาส 2/65 บริษัทเดินเครื่องกำลังการผลิตที่ระดับ 98% ลดลงจากไตรมาส 1/65 โดยส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับน้ำมันดิบดูไบ ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาสก่อนหน้าและไตรมาส 2/64 ส่งผลให้ค่าการกลั่น (Market GRM) ของธุรกิจโรงกลั่นในไตรมาสนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.09 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับ 7.60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาสก่อนหน้า

 

นอกจากนี้ จากการที่ราคาน้ำมันดิบดูไบปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทรับรู้ผลกำไรจากสต๊อกน้ำมัน (Stock Gain) ที่ 4.87 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่บริษัทรับรู้ผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยงสุทธิ 20.71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

PTTGC มีผลขาดทุนโดยหลักจากทิศทางราคาน้ำมันดิบ และส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่าราคาที่ทำประกันความเสี่ยงไว้ ส่งผลให้มีกำไรขั้นต้นทางบัญชี (Accounting GRM) ในส่วนของโรงกลั่นอยู่ที่ 5.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากทั้งไตรมาส 1/65 และไตรมาส 2/64 และมี Adjusted EBITDA และ Adjusted EBITDA Margin อยู่ที่ 10,297 ล้านบาท และ 12% ตามลำดับ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3,342 ล้านบาท และ 5% ในไตรมาส 1/65 ตามลำดับ

 

IRPC ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 1,298 ล้านบาท

ส่วน บมจ.ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 2/65 มีกำไรสุทธิ 3,833 ล้านบาท ลดลง 16% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,574 ล้านบาท เนื่องจากขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันรวม 1,298 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/64 ที่มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันสุทธิ 3,507 ล้านบาท ส่งผลให้ Accounting GIM ลดลง 970 ล้านบาท หรือลดลง 8%

 

IRPC มีรายได้จากการขายสุทธิ 99,395 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42,537 ล้านบาท หรือโต 75% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมีสาเหตุจากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 72% ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นและปริมาณขายเพิ่มขึ้น 3% 

 

โดยโรงกลั่นน้ำมันมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 198,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2% Market GIM เพิ่มขึ้น 3,835 ล้านบาท หรือ 44% โดยมีสาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินที่ปรับตัวดีขึ้น

 

ขณะที่ค่าใช้จ่ายดำเนินงานลดลง 416 ล้านบาท หรือลดลง 12% ส่งผลให้ EBITDA ลดลง 874 ล้านบาท หรือลดลง 10% และบริษัทมีการบันทึกค่าเสื่อมราคาลดลง 194 ล้านบาท และขาดทุนจากการบริหารความเสี่ยงน้ำมันที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงลดลง 528 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนจากการทำสัญญาอนุพันธ์ทางการเงินเพิ่มขึ้น 88 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 119% ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้น 180 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 180% เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่า นอกจากนี้บริษัทมีกำไรจากการลงทุนลดลง 7 ล้านบาท

 

TOP กำไรโต 1,093% ตามราคาน้ำมันดิบ

ด้าน บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP รายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/65 กำไรสุทธิ 25,326.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,093% จากงวดเดียวกันปี 2564 ที่กำไร 2,122.67 ล้านบาท โดยไตรมาสนี้บริษัทมีรายได้จากการขาย 65,772 ล้านบาท ตามราคาขายที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ ขณะที่กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 20.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากส่วนต่างราคาน้ำมัน หลังหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง อีกทั้งธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาดมีกำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากอุปสงค์ของสาร LAB ที่ดีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 3,774 ล้านบาท

 

ขณะที่ บมจ.เอสโซ่ (ประเทศไทย) หรือ ESSO แจ้งว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/65 มีกำไร 8,298.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 866.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 ที่มีกำไร 858.11 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายของบริษัทในไตรมาสนี้อยู่ที่ 76,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85.27% โดยมีสาเหตุหลักจากราคาตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น

 

น้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2/65 มีราคาเฉลี่ยที่ 108.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้น 41.2 ดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบที่นำเข้ากลั่นในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1.32 แสนบาร์เรลต่อวัน สูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า สะท้อนถึงการฟื้นตัวของอุปสงค์จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 

 

ส่วนค่าการกลั่นโดยรวมอยู่ที่ 26.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 19.9 ดอลลาร์ ค่าการกลั่นพื้นฐานอยู่ที่ 19.4 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17.0 ดอลลาร์

 

BCP กำไรโต 199% อานิสงส์ค่าการกลั่นเพิ่ม

บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น หรือ BCP แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 2/65 บริษัทมีกำไร 5,276.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 199% จากงวดเดียวกันปี 2564 ที่มีกำไร 1,764.54 ล้านบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการ 83,796 ล้านบาท (+21%QoQ) มี EBITDA 12,572 ล้านบาท (-8%QoQ) โดย EBITDA ที่ปรับลดลง เนื่องจากไตรมาสก่อน BCPG รับกำไรจากการจำหน่ายหุ้นทั้งหมดใน SEGHPL 2,031 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ หากไม่รวมรายการดังกล่าวพบว่า EBITDA ปรับเพิ่มขึ้น 889 ล้านบาท (+8%QoQ) โดยหลักมาจากกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน ได้รับปัจจัยบวกจาก Operating GRM ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ปัจจัยดังกล่าวช่วยบรรเทาผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากราคาขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Price) ไปจำหน่ายในประเทศอังกฤษปรับลดลงอย่างมาก รวมทั้งการอ่อนค่าของสกุลเงินโครนนอร์เวย์ (NOK) เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไตรมาสนี้มีกำไรสำหรับงวดส่วนของบริษัทใหญ่ 5,276 ล้านบาท (+21%QoQ) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 3.79 บาท

 

SPRC กำไรเพิ่มจากสต๊อกน้ำมันและค่าการกลั่น

บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่า ผลดำเนินงานไตรมาส 2/65 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 206 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7,156 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (1,872 ล้านบาท) ซึ่งนอกเหนือจากประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นจนเป็นผลให้บริษัทมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันแล้ว ค่าการกลั่นก็ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งมีปัจจัยหลักจากกลไกอุปสงค์อุปทานน้ำมันในตลาดโลก โดยความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซียและมาตรการคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียของ EU ส่งผลให้อุปทานในผลิตภัณฑ์น้ำมันตึงตัว การผ่อนคลายมาตรการการเดินทางในช่วงโควิดในหลายประเทศก็ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

ในประเทศไทยเอง การฟื้นตัวในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนให้อุปสงค์น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ส่วนต่างของราคาน้ำมันสำเร็จรูปกับน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานและน้ำมันดีเซล ซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้อจำกัดด้านอุปทาน ส่งผลให้ค่าการกลั่นตลาดของ SPRC เพิ่มขึ้นจาก 8.46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 1/65 เป็น 18.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในไตรมาส 2/65

 

TOP-BCP มองครึ่งหลังน้ำมันดิบย่อตัว 

TOP ระบุในเอกสารที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่า ในครึ่งปีหลังประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3/65 มีแนวโน้มปรับลดลงจากไตรมาส 2/65 หลังได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอผลกระทบของเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่เติบโตช้าลงกระทบกับราคาน้ำมันในไตรมาส 4/65 เช่นกัน

 

ส่วนธุรกิจโรงกลั่นในไตรมาส 3/65 มีแนวโน้มปรับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/65 ตามภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดในจีนยังมีความไม่แน่นอน แต่ไตรมาส 4/65 มีแนวโน้มจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันโลก โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาวและเทศกาลท่องเที่ยวปลายปี

 

ขณะที่ BCP ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะปรับลดลง เนื่องจากอุปสงค์การใช้น้ำมันได้รับแรงกดดันจากความกังวลเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอย จากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างเร็ว และธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกั้นภาวะเงินเฟ้อ 

 

ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ประกอบกับกลุ่ม OPEC+ ไม่สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนธุรกิจให้เหมาะสม รวมถึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจและแผนการลงทุน โดยบริษัทมีแผนที่จะทำการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในช่วงไตรมาส 3/65 เพื่อให้บริษัทมีความพร้อมและสามารถตั้งรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยและราคาน้ำมันที่ผันผวน

 

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันไตรมาส 3/65 สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบทั่วโลกปี 2565 จะแตะระดับ 99.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยขยายตัว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปี 2564 ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบลดลง อย่างไรก็ตาม IEA คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันโลกเข้าสู่ภาวะอุปทานส่วนเกิน (Over Supplied) จากอุปทานน้ำมันดิบที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วง Q2-Q4 ของปี 2565

 

ทั้งนี้ จากการประเมินคาดว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยดูไบในไตรมาส 3/65 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากคาดว่าอุปทานส่วนเกินในช่วงครึ่งปีหลังตามการคาดการณ์ของ IEA ยังเผชิญกับความไม่แน่นอน แม้การผลิตและส่งออกของลิเบียกลับมาเพิ่มขึ้น แต่กำลังการผลิตสำรองของกลุ่ม OPEC+ ที่อยู่ในระดับต่ำ และการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านยังไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้อุปทานน้ำมันจากอิหร่านยังไม่สามารถกลับเข้าสู่ตลาดได้ อีกทั้งคาดว่าโรงกลั่นจะใช้กำลังการผลิตในระดับสูงเพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน ซึ่งเป็นฤดูท่องเที่ยว

 

นอกจากนี้ คาดว่าในไตรมาส 3/65 ค่าการกลั่นของโรงกลั่นประเภท Cracking ที่สิงคโปร์มีแนวโน้มปรับลดลงจากไตรมาส 2/65 เนื่องจากการเปิดดำเนินการของโรงกลั่นใหม่และโรงกลั่นที่เลื่อนมาเปิดดำเนินการในปีนี้ อีกทั้งโรงกลั่นทั่วโลกใช้กำลังการกลั่นในระดับสูง รวมถึงโรงกลั่นจีนได้รับโควตาการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น ด้านอุปสงค์น้ำมันเบนซินเริ่มได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง 

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าการกลั่นจะยังคงได้รับแรงหนุนจากส่วนต่างราคาน้ำมันกลุ่ม Middle Distillates (น้ำมันดีเซล น้ำมันเจ็ต (เคโรซีน)) หากรัสเซียลดหรือหยุดการจัดส่งก๊าซไปยังยุโรป ทำให้อุปสงค์การใช้น้ำมันดีเซลของยุโรปเพิ่มขึ้น อีกทั้งอุปสงค์น้ำมันเจ็ต (เคโรซีน) มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่กลับมาเปิดดำเนินการมากขึ้น

 

โบรกคาดกำไรครึ่งปีหลัง ‘อ่อนตัว’ ตามค่าการกลั่น

ฝ่ายวิจัย บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า PTTGC รายงานกำไรไตรมาส 2/65 ลดลงเหลือราว 1.4 พันล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยเป็นผลจากการขาดทุน Hedging Loss กว่า 1.3 หมื่นล้านบาท และมี Stockgain ราว 3 พันล้านบาท

 

ทั้งนี้ คาดการณ์แนวโน้มครึ่งปีหลังปี 2565 กำไรปกติอ่อนตัวจากทั้งธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดยเราคาดว่าค่าการกลั่นจะกลับมาอยู่ในระดับ 10-15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากระดับ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปัจจุบัน และธุรกิจปิโตรเคมีคาดว่าจะยังมี Spread ที่อยู่ในระดับต่ำจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอลง เพราะผลของการขึ้นดอกเบี้ย โดยยังคงประมาณการกำไรปกติของ PTTGC (ไม่รวม Hedging และ Stockgain) ที่ราว 2.6 หมื่นล้านบาท

 

ขณะเดียวกัน ฝ่ายวิจัย บล.ทรีนีตี้ ยังคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ของ IRPC ที่ 7.4 พันล้านบาท -49%YoY โดยครึ่งปีแรกปี 2565 คิดเป็น 70% ของประมาณการ ซึ่งประเมินว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังปี 2565 น่าจะเริ่มอ่อนตัว โดยโรงกลั่น GRM เริ่มปรับลดลง แม้ว่าไตรมาส 3 จะเป็น Seasonal Demand ของปิโตรเคมี แต่ด้วยความเสี่ยงการขึ้นดอกเบี้ยอาจจะส่งผลต่อเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง โดย QTD ส่วนต่างผลิตภัณฑ์ Olefin และ Aromatic ปรับลดลงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อตัน 

 

และสำหรับ BCP คาดว่ากำไรสุทธิในไตรมาส 3/65 น่าจะอยู่ราว 3-4 พันล้านบาท ลดลง QoQ ตามค่าการกลั่นที่เริ่มปรับตัวลง ทั้งนี้  ฝ่ายวิจัย บล.ทรีนีตี้ ได้ปรับประมาณการกำไรปี 2565-2566 ขึ้นเป็น 1.6 หมื่นล้านบาท และ 9 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยปี 2565 สมมติฐานค่าการกลั่นใหม่ที่ 15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และ Adjust กำไรจากการขาย Geothermal และปี 2566 ปรับ EBITDA ขึ้น จาก OKEA เพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันล้านบาท ตามสมติฐานราคาน้ำมันที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

ตลาดคลายกังวล ‘รัฐแทรกแซงค่าการกลั่น’

จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า จากความกังวลเรื่องรัฐบาลได้ขอความร่วมมือกลุ่มธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ลดค่าการกลั่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน ซึ่งเป็นกระแสร้อนแรงและกดดันราคาหุ้นกลุ่มโรงกลั่นในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น เชื่อว่าขณะนี้ตลาดได้คลายกังวลเรื่องนี้ไปแล้ว เนื่องจากปัจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มปรับลดลง

 

ขณะที่กำไรในไตรมาส 2/65 ของธุรกิจโรงกลั่น ส่วนใหญ่กำไรปรับเพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ สาเหตุหลักมาจากค่าการกลั่นที่ปรับเพิ่มขึ้นและราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ทั้งนี้ ประเมินแนวโน้มกำไรในไตรมาส 3 อาจจะปรับลดลงตามค่าการกลั่นที่เริ่มปรับลดลง โดยปัจจุบันค่าการกลั่นที่สิงคโปร์อยู่ที่ 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากระดับ 21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงก่อนหน้า ส่วนราคาค่าการกลั่นที่ไทยจะสูงกว่าที่สิงคโปร์เล็กน้อย แต่ก็เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน 

 

“ราคาที่ลดลงก่อนหน้านี้มาจากความกังวลเรื่องรัฐบาลอาจจะแทรกแซงค่าการกลั่น ซึ่งเมื่อเห็นผลประกอบการไตรมาส 2/65 และทิศทางราคาน้ำมัน รวมถึงค่าการกลั่นที่น่าจะลดลง ก็ประเมินว่าความกังวลเรื่องการถูกแทรกแซงค่าการกลั่นน่าจะลดลง เพราะเทรนด์กำไรของกลุ่มโรงกลั่นในไตรมาส 3 น่าจะลดลงตามค่าการกลั่นและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลง และการเข้าแทรกแซงค่าการกลั่น อยากให้มองแนวโน้มกำไรของกลุ่มโรงกลั่นระยะยาวด้วย ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ได้สูงมากจนสามารถช่วยเหลือตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือได้” จักรพงศ์กล่าว

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising