เลขา BOI เผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนปี 2567 มูลค่ากว่า 1.13 ล้านล้านบาท 3,100 โครงการ สูงสุดในรอบ 10 ปี สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้ง BOI พลิกเกมให้ไทยขึ้นแท่นฐานผลิตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค มองปี 2568 ไทยเข้าร่วมพันธมิตร BRICS สงครามการค้า มหาอำนาจทั้งจีน-สหรัฐฯ เตรียมรับคลื่นอุตสาหกรรมใหม่ย้ายฐานผลิตเพิ่ม เดินหน้าโรดโชว์ เร่งดึงดูดลงทุน เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมมหาอำนาจขั้วต่าง ดึงดูดผู้เล่นหลักอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า ปี 2567 ถือเป็นปีทองของการลงทุนอย่างแท้จริง และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศไทยในการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่จะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยในปี 2567 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุน โดยมีจำนวน 3,137 โครงการ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับปีก่อน
“นับว่าเป็นยอดจำนวนโครงการที่สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้ง BOI และมีมูลค่าเงินลงทุน 1,138,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% สูงสุดในรอบ 10 ปี”
มูลค่าอุตสาหกรรมเป้าหมายเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก
- อุตสาหกรรมดิจิทัล 243,308 ล้านบาท 150 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการ Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากทั้งสหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย เงินลงทุนรวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท นอกจากนี้จะเป็นกิจการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล และดิจิทัลคอนเทนต์
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า 231,710 ล้านบาท 407 โครงการ กิจการที่มีการลงทุนสูง เช่น การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 83 โครงการ เงินลงทุนรวม 86,426 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการผลิตชิป (Wafer) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์และวงจรรวม การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
- อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 102,366 ล้านบาท 309 โครงการ ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และ ICE โดยค่ายญี่ปุ่น จีน และยุโรป การผลิตยางล้อรถยนต์ ยางล้ออากาศยาน ระบบอัจฉริยะในรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ
- อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 87,646 ล้านบาท 329 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการผลิตอาหาร เครื่องดื่มและสิ่งปรุงแต่งอาหาร กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์ กิจการผลิตบรรจุภัณฑ์จากผลผลิตหรือเศษวัสดุทางการเกษตร กิจการขยายพันธุ์สัตว์และเลี้ยงสัตว์
- อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 49,061 ล้านบาท 235 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม และบรรจุภัณฑ์ชนิดหลายชั้น
กิจการอื่นที่มีการลงทุนสูงและมีความสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
- กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนหรือขยะ 114,484 ล้านบาท 515 โครงการ
- กิจการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติ และเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง 39,162 ล้านบาท 174 โครงการ
- กิจการผลิตอุปกรณ์การแพทย์และบริการทางการแพทย์ 18,237 ล้านบาท 92 โครงการ
- การขอรับการส่งเสริมตามมาตรการยกระดับอุตสาหกรรม (Smart and Sustainable Industry) ช่วยรายเดิมให้สามารถปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 407 โครงการ เงินลงทุนรวม 35,560 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนพลังงานและการใช้พลังงานทดแทน เปลี่ยนเครื่องจักร ระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต
สิงคโปร์แชมป์ FDI
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) เองก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 2,050 โครงการ เพิ่มขึ้น 51% เงินลงทุนรวม 832,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- สิงคโปร์ 357,540 ล้านบาท 305 โครงการ
- จีน 174,638 ล้านบาท 810 โครงการ
- ฮ่องกง 82,266 ล้านบาท 177 โครงการ
- ไต้หวัน 49,967 ล้านบาท 126 โครงการ
- ญี่ปุ่น 49,148 ล้านบาท 271 โครงการ
สำหรับสหรัฐอเมริกามีเงินลงทุน 25,739 ล้านบาท 66 โครงการ แต่หากนับรวมตัวเลขที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์แล้วจะมีมูลค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการลงทุนของสิงคโปร์ที่สูงขึ้นมาก เกิดจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทที่มีบริษัทแม่สัญชาติจีนและอเมริกา
ส่วนในแง่พื้นที่ เงินลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก 573,066 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ ภาคกลาง 392,267 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 71,591 ล้านบาท ภาคเหนือ 42,525 ล้านบาท ภาคใต้ 37,215 ล้านบาท และภาคตะวันตก 21,843 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับสถิติการออกบัตรส่งเสริม หลังจากที่ BOI อนุมัติโครงการแล้ว บริษัทต้องมายื่นเอกสารด้านการเงินและการจัดตั้งบริษัทเพื่อออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด โดยในปี 2567 มีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 2,678 โครงการ เพิ่มขึ้น 47% เงินลงทุน 846,461 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% เป็นสัญญาณที่ดีว่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงจำนวนมากเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ
“ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายจากสงครามการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ประเทศไทยได้พิสูจน์ให้เห็นถึงจุดแข็งในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือของภูมิภาค โดยมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มนักลงทุนหลักอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และยุโรป ก็ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในไทย” นฤตม์ย้ำ
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ที่รองรับเทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ช่วยต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิมให้มั่นคง สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างงาน และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย
“โครงการที่ได้รับการส่งเสริมในปีที่ผ่านมา มีการจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มกว่า 2.1 แสนคน จะใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีกกว่า 2.6 ล้านล้านบาทต่อปี” นฤตม์กล่าว
ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า BRICS ท้าทาย ชี้เป็นโอกาสของไทย
นฤตม์กล่าวอีกว่า แนวโน้มการลงทุนในปี 2568 จะยังคงเติบโตต่อและยังเป็น ‘ปีแห่งโอกาส’ ที่ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
“แม้ปีนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า นโยบายสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีทรัมป์ และการกีดกันทางเทคโนโลยีที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้นักลงทุนต้องเร่งเคลื่อนย้ายฐานการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง จุดนี้ไทยพร้อมและมีศักยภาพในหลายๆ ด้าน ที่สำคัญมีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศ เป็นกลาง สามารถเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงซัพพลายเชนให้กับมหาอำนาจขั้วต่างๆ ได้ นักลงทุนจึงมองไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มั่นคง ปลอดภัย และมีความโดดเด่นในภูมิภาค รวมถึงกรณีที่ไทยมีสถานะเป็นหุ้นส่วนพันธมิตร BRICS ก็จะยิ่งเป็นโอกาส”
ทิศทางส่งเสริมลงทุนปี 2568 เจาะอุตสาหกรรมชิป-EV-เทคขั้นสูง
BOI จะเดินหน้าดึงการลงทุนเพื่อสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ดาต้าเซ็นเตอร์และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูงและเทคโนโลยีชีวภาพควบคู่ไปกับจุดแข็งอุตสาหกรรมและบริการ อย่างเกษตรและอาหาร พลังงานสะอาด การแพทย์และสุขภาพ การท่องเที่ยว กิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์กลางจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างประเทศ
รวมถึงเดินหน้าภารกิจระดับชาติ 2 คณะ คือคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) และคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ซึ่งจะออกมาตรการสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุน ดึงผู้ประกอบการไทยให้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ของนักลงทุนญี่ปุ่น และปีนี้จะมีการเปิดโรงงานของยักษ์ใหญ่ EV จีนคือ CHANGAN
เดินสายโรดโชว์จีบบิ๊กคอร์ป ดึงดูดผู้เล่นหลัก ‘เซมิคอนดักเตอร์’
ปีนี้ BOI มีแผนจัดทัพบุกประเทศเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมองหาตลาดใหม่ๆ ในอินเดีย ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และยุโรป เพื่อดึงการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งต่อยอดฐานอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
“ในอนาคตไทยจะเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนของสหรัฐฯ ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ สนใจลงทุนไทยต่อเนื่อง ขณะเดียวกันกรณีของจีนมาลงทุนในไทยมากขึ้นเพื่อเลี่ยงกำแพงภาษีนโยบายสหรัฐฯ นั้น BOI มองว่าเป็นโอกาสทั้งสิ้น หลังจากนี้จะเดินทางไปดาวอส พบปะนักลงทุนเป้าหมาย โรดโชว์ในญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐฯ ที่สำคัญคือดึงดูดผู้เล่นหลักคือเซมิคอนดักเตอร์ให้มากที่สุด”
ภาพ: Janiecbros / Getty Images