การดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คนในสังคม อันเกิดจากความรวดเร็วและพัฒนาการของนวัตกรรมใหม่ๆ คือปรากฏการณ์ที่โลกในแวดวงเทคโนโลยีได้เห็นกันอยู่หลายครั้งในปี 2023
แน่นอนว่าพัฒนาการเหล่านี้ไม่เคยหยุดนิ่ง และในวาระสิ้นปีเก่าเข้าสู่ปีใหม่นี้ก็เป็นช่วงเวลาอีกครั้งที่เราต้องมองไปยังอนาคตข้างหน้า เพื่อทำความเข้าใจว่าเทรนด์ไหนจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อพวกเราในปี 2024 ซึ่งบางเทรนด์ก็เป็นสิ่งที่หลายคนคงเคยได้ยินหรือได้เห็นไปแล้วในปีที่ผ่านมา แต่อาจเป็นไปในรูปแบบที่ต่างออกไป
และทั้งหมดต่อไปนี้คือเทรนด์ทั้ง 10 ที่ Plain Concepts บริษัทที่ปรึกษาโซลูชันด้านไอทีรวบรวมเอาไว้
1. Generative AI
สำหรับเทคโนโลยีอันแรกนี้คงไม่ได้เป็นที่น่าประหลาดใจมากนัก เนื่องจากอิทธิพลและบทบาทของมันที่ถูกเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้งในปีนี้ แต่ที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น และศักยภาพแท้จริงของ Generative AI จะมีออกมาให้เห็นอีกอย่างแน่นอนในปี 2024
Gartner บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ประเมินว่า “ภายในปี 2026 องค์กรเกินกว่า 80% จะได้ใช้ Generative AI กับแอปพลิเคชันต่างๆ ในกิจกรรมการผลิต ซึ่งถือว่าสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับปี 2023 ที่มีน้อยกว่า 5%” ตัวเลขนี้กำลังแสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จะสามารถออกมาสู่ตลาดได้เร็วขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ และให้ตัวเลือกที่สามารถปรับแต่งได้แบบเฉพาะเจาะจงในระดับบุคคลมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้
2. Cybersecurity ก้าวขึ้นมาเป็นเสาหลักด้านความมั่นคงของธุรกิจ
นับวันการโจมตีทางไซเบอร์จะเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตอนนี้ความปลอดภัยทางไซเบอร์ไม่ใช่แค่หนึ่งในปัจจัยสำคัญอีกแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจ ‘ต้องมีและต้องทำ’
ขั้นตอนเบื้องต้นที่ผู้นำด้านไอทีในองค์กรสามารถทำได้คือ การใช้บริการต่างๆ ที่มีการเข้ารหัส (Encryption) เพื่อความปลอดภัย ให้ความรู้ถึงปัญหารวมทั้งผลกระทบแก่พนักงานให้เกิดความเข้าใจ คอยตรวจเช็กอัปเดตซอฟต์แวร์และข้อกำหนดให้ทันเหตุการณ์อยู่อย่างสม่ำเสมอ
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือการใช้ ‘Zero Trust Approach’ หรือแนวคิดเรื่องความปลอดภัยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เชื่อใจใครทั้งสิ้น คิดไปก่อนว่าทุกสิ่งมีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด จนทำให้ต้องตรวจเช็กทุกๆ อย่างอยู่ตลอด วิธีนี้เป็นขั้นตอนที่ทำให้มั่นใจได้ค่อนข้างสูงว่าทุกคำร้องขอบนโลกออนไลน์จะได้รับการตรวจสอบและยืนยันความปลอดภัยแล้ว
3. ‘Figital’ การผนวกกันของโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัล
คอนเซปต์ของ Figital เป็นสิ่งใหม่ที่หมายถึงพื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นโดยโลกแห่งความเป็นจริงและโลกดิจิทัลที่หันหน้ามาประกบเข้าหากัน ซึ่งเครื่องมือในการทำให้สภาพแวดล้อมนี้เกิดขึ้นได้ก็คือเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)
เรากำลังได้เห็นพัฒนาการในโลกดิจิทัลที่ดูมีความสมจริงมากขึ้น ในขณะที่โลกแห่งความเป็นจริงก็สามารถปรับแต่งได้แล้วในระดับหนึ่ง
เทรนด์นี้จะเข้ามาเร่งให้แรงงานในทุกๆ สาขาอาชีพต้องถีบตัวเองให้มีทักษะด้านดิจิทัลให้ได้รวดเร็วที่สุด กระบวนการทำงานของธุรกิจก็จะเปลี่ยนตามไปด้วย
4. Quantum Computing
หนึ่งในรูปแบบการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้กลไกของศาสตร์ควอนตัมเข้าช่วย เพื่อเพิ่มกำลังการประมวลผลขึ้นอย่างมหาศาล โดยกรณีการใช้งานที่จะสร้างประโยชน์นั้น ได้แก่ กลยุทธ์การลงทุนหรือการค้นคว้าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้ออกมาได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งใช้เวลาน้อยกว่าระบบคอมพิวเตอร์แบบปกติหลายล้านเท่าตัวตามการคาดการณ์ของนักวิทยาศาสตร์
ด้วยศักยภาพที่มากมายระดับนี้ บริษัทที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของโลก เช่น Microsoft, AWS และ Google กำลังลงแรงอย่างมากที่จะเข้ามาพัฒนาในด้านนี้ โดยปัจจุบันมูลค่าตลาดทั่วโลกของการเข้ารหัสเชิงควอนตัมอยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ตัวเลขนี้มีแนวโน้มเติบโตได้ 5 เท่าตัว กลายเป็น 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2029
5. Green Tech
รัฐบาลและบริษัทต่างๆ ทั่วโลกต่างให้คำมั่นสัญญาต่อข้อตกลงในการลดก๊าซเรือนกระจกและการนำเทคโนโลยีมาใช้ ป้องกัน ลด และปรับตัว ให้พร้อมรับกับความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม
เมื่อสภาพแวดล้อมดีขึ้น ความเที่ยงตรงในการทำธุรกิจและประสิทธิภาพโดยรวมก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ซึ่งนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน
โลกสีเขียวแห่งอนาคตสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยบทบาทเทคโนโลยีในการเข้าช่วย อย่างเช่น AI, Cloud Computing, เทคโนโลยีโลกเสมือน และอื่นๆ
6. Data คือสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล
สินทรัพย์ที่สำคัญมากที่สุดประเภทหนึ่งขององค์กรในยุคปัจจุบันก็คือ ‘ข้อมูล’ และการนำมันไปประยุกต์ใช้ในทางที่เหมาะสมกับธุรกิจคือปัจจัยที่แยกระหว่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จจากตัวที่ล้มเหลว เพราะข้อมูลเปรียบเสมือนกุญแจสู่การทำความเข้าใจกับผู้บริโภคและธุรกิจ
ในที่นี้เราอยากชวนให้รู้จักกับ Datification แนวคิดการทรานส์ฟอร์มทุกอย่างบนข้อเท็จจริงที่ข้อมูลกำลังบ่งบอก หมายความว่า ฟังก์ชันงานจะแปรผันไปตามข้อมูล เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ยกระดับประสิทธิภาพ และคว้าโอกาสใหม่ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงและคาดเดาได้ยากอย่างทันท่วงที
7. Platform Engineering
รูปแบบการบริหารจัดการแพลตฟอร์มที่ทำให้ประสบการณ์ของนักพัฒนาดีขึ้นในแง่ของการทำงานที่ง่าย ผ่านการแบ่งแพลตฟอร์มเป็นหน่วยย่อยให้มีทีมดูแลหน่วยย่อยนั้นๆ ได้ดีและใกล้ชิดยิ่งขึ้น
การแบ่งแพลตฟอร์มออกเป็นหน่วยย่อยช่วยให้ทีมดูแลมีจุดโฟกัสมากขึ้น และทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากกว่าด้วยเช่นกัน
8. แอปพลิเคชันที่ฉลาดขึ้น
Super App ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในปีนี้ แอปพลิเคชันที่เป็นศูนย์รวมของระบบนิเวศทางดิจิทัลทั้งหมดไว้ครบจบในแอปเดียว
การมาของ Generative AI จะยิ่งทำให้แอปพลิเคชันนั้นก้าวล้ำขึ้นไปอีกขั้น เพราะเมื่อปัญญาประดิษฐ์ (AI )กับ ดาต้า (Data) มาเจอกัน การล้วงหาอินไซต์จากแอปที่ลูกค้าใช้อยู่แล้วก็สามารถทำให้การแนะนำทำได้อย่างตรงจุดกับตัวของบุคคล และนำมาสู่ประสบการณ์ที่ดีของลูกค้า
9. Robotic Process Automation (RPA)
เทคโนโลยีนี้จะค่อนข้างคล้ายกับปัญญาประดิษฐ์ RPA คือกระบวนการที่หุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ในงานบางประเภท เช่น การตีความต่างๆ การทำธุรกิจ การรักษาข้อมูล หรือแม้แต่โต้ตอบอีเมล
ข้อได้เปรียบหลักของ RPA คือ การลดภาระงานซ้ำซ้อนที่เคยเป็นเรื่องน่าปวดหัวของพนักงาน ทำให้พวกเขามีเวลาไปทำสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าได้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นต้นทุนมีแนวโน้มที่จะต่ำลง กำไรมากขึ้น และลดความเสี่ยงของการผิดพลาดด้วย
RPA ยังมีประโยชน์ในการเก็บข้อมูลธุรกิจ เช่น การเงิน การบริการลูกค้า และทรัพยากรบุคคล นอกจากนี้มันยังเป็นกระบวนการที่ช่วยให้รักษาคนเก่งไว้กับบริษัทได้ด้วย
10. IoT และการเชื่อมต่อกันแบบตลอดเวลา
เราอยู่ในยุคที่เราได้เริ่มเห็นการสื่อสารของอุปกรณ์และเครื่องจักรต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างนวัตกรรมและความเป็นไปได้ใหม่ๆ
เทคโนโลยี IoT เก็บและทำความเข้าใจข้อมูลผ่านตัวอุปกรณ์ จากนั้นส่งข้อมูลกลับไปเพื่อหาหนทางที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุด
แม้ตอนนี้เราจะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ภายในปี 2030 มีการคาดการณ์ว่าอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะถูกใช้มากกว่า 50 ล้านเครื่อง ซึ่งหมายถึงเครือข่ายที่สื่อสารกันตลอด เพื่อความแม่นยำที่มากกว่าของการตัดสินใจที่ใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน
ทั้งหมดนี้เป็น 10 เทคโนโลยีที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อโลกของเราจากมุมมองของ Plain Concepts
อ้างอิง: