ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่า ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมายาวนานโดยตลอด หรือตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งเป็นปีที่กระทรวงพาณิชย์เริ่มเปิดเผยข้อมูล อย่างไรก็ตาม การขาดดุลระหว่างไทยกับจีนกลับเร่งตัวขึ้นในช่วงหลังๆ และแตะระดับขาดดุลการค้ากับจีนเป็นประวัติการณ์ในปี 2023 รวมทั้งมีแนวโน้มจะขาดดุลต่อเนื่องในปีนี้ด้วย
‘จีน’ สำคัญกับ ‘ไทย’ แค่ไหน?
แม้ไทยจะขาดดุลทางการค้าจีนอย่างมาก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการค้ากับจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากมูลค่าการค้าระหว่างไทยและจีนตั้งแต่ปี 2017-2023 เติบโตเฉลี่ย 6.1% ต่อปี (CAGR)
โดยในปีก่อน (ปี 2023) จีนเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทย มีมูลค่าการค้า 104,999.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ของมูลค่าการค้ารวม และเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 2 ของไทย ซึ่งในปี 2023 มูลค่าส่งออกไปจีนคิดเป็นสัดส่วน 12% ของการส่งออกรวม
นอกจากนี้จีนยังเป็นแหล่งนำเข้าลำดับที่ 1 คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของการนำเข้ารวม (สัดส่วน 24.6%)
เปิด ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ ภาวะสินค้าจีนทะลักไทย
รายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า สินค้าราคาถูกจากจีนจะมีประโยชน์หลายประการ ทั้งสำหรับผู้บริโภคและภาคเอกชน เช่น การเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงสินค้าของผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลง สร้างความหลากหลายของสินค้าในตลาด การกระตุ้นการแข่งขัน ทำให้ผู้ผลิตในประเทศต้องปรับปรุงคุณภาพและลดราคาสินค้า เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตพัฒนานวัตกรรมและปรับปรุงกระบวนการผลิต
อย่างไรก็ตาม สินค้าราคาถูกของจีนนำไปสู่การหดตัวของภาคการผลิต การลดการจ้างงาน และก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความมั่นคงของชาติด้วยเช่นกัน
เช็กอาการ ‘ภาคการผลิต’ ไทยได้รับผลกระทบมากแค่ไหน
ตามข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ระบุว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มิถุนายน 2024 อยู่ที่ระดับ 96.08 หดตัว 1.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และนับเป็นการหดตัว 2 เดือนติดต่อกัน
โดย MPI ได้พลิกกลับมาขยายตัวในช่วงสั้นๆ เพียงเดือนเมษายนเดือนเดียว หลังหดตัวต่อเนื่อง 18 เดือนติด โดยภาคการผลิตที่มีอัตราการหดตัวสูงในปี 2023 เป็นสินค้ากลุ่มเดียวกับสินค้าที่มีมูลค่าขาดดุลมาก เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ที่ใช้ในทางทัศนศาสตร์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และการผลิตเหล็กและเหล็กกล้า
สินค้าดาวรุ่งจากไทยไปจีน
สำหรับสินค้าดาวรุ่งจากไทยไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด ลำไย) ข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์จากยาง รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
สินค้าดาวรุ่งจากจีนมาไทย
ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า (สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า) และสินค้าอุปโภคบริโภค (เสื้อผ้า รองเท้า ของเล่น และผลิตภัณฑ์พลาสติก)
เปิดลิสต์ Top 10 สินค้าขาดดุลจีนปี 2023
- โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 3,309.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ 2,806.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ผลิตภัณฑ์เหล็ก เหล็กกล้า เหล็กแผ่นรีด 2,557.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- รถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น 2,536.90 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่นๆ 1,884.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าอื่นๆ 1,851.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดอื่นๆ 1,770.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ 1,460.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ 1,246.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- แผงวงจรไฟฟ้า 1,168.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งหมด 36,653.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เปิดลิสต์ Top 10 สินค้าขาดดุลจีน ครึ่งแรกปี 2024
- โทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟน 1,487.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อื่นๆ 1,266.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ผลิตภัณฑ์เหล็ก เหล็กกล้า เหล็กแผ่นรีด 1,213.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้าอื่นๆ 1,159.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เครื่องจักรกลและส่วนประกอบอื่นๆ 968 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- แผงวงจรไฟฟ้า 843.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- รถยนต์นั่งที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น 810.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ 784.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ 713.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ 677.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งหมด 19,967.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร