* บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Tomorrow We Disappear
“ผมอยากบันทึกภาพบ้านตัวเองเอาไว้ ถ้ามีวิดีโอเก็บหลังจากพวกเขารื้อทุกอย่างแล้ว ในอนาคตเราจะได้ดูแล้วพูดได้ว่า นี่ไงที่ที่เราเคยอยู่”
การสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาใหม่ บางครั้งก็จำเป็นต้อง ‘ลบ’ สิ่งเก่าที่เคยมีอยู่ออกไปเสียก่อน
แต่ถ้าสิ่งที่กำลังถูก ‘ลบ’ ออกไป คือสิ่งที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันเก่าแก่และวิถีชีวิตที่ถูกสืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุคน มันสมควรแล้วหรือที่สิ่งเหล่านั้นจะถูกลบทิ้งออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์เพื่อสร้างสิ่งใหม่มาแทนที่
นี่คือแกนหลักสำคัญของ Tomorrow We Disappear (2014) ภาพยนตร์สารคดีของ จิม โกลด์บลัม และ อดัม เอ็ม เว็บเบอร์ สองผู้กำกับชาวอเมริกันที่อยากสร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชุมชนนักมายากลสักแห่งในโลก
ต่อมาพวกเขาเสิร์ชหาข้อมูลจนเจอนิคมกาฐปุตลิ ชุมชนเก่าแก่ในเมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย ที่เนืองแน่นไปด้วยเหล่านักมายากล นักแสดงหุ่นเชิด นักกายกรรม ฯลฯ ที่อาศัยอยู่ในนิคมแห่งนี้มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 70 พวกเขาจึงปักหมุดลงในแผนที่และบินลัดฟ้าไปเพื่อถ่ายทำสารคดี
แต่สิ่งที่พวกเขาได้พบ กลับกลายเป็นเรื่องราวของสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ที่กำลังจะถูก ‘ลบทิ้ง’ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยึดพื้นที่นิคมกาฐปุตลิเพื่อสร้างตึกระฟ้าและอาคารพาณิชย์บนที่ดินผืนนี้แทน โดยรัฐบาลให้สัญญาว่าจะสร้างที่พักอาศัยใหม่ที่ ‘ดีกว่า’ ให้กับพวกเขา
Tomorrow We Disappear ได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2011-2014 ผ่านมุมมองของสามศิลปินผู้เกิดและเติบโตในนิคมกาฐปุตลิ
เริ่มต้นด้วย ปุราน ภาต นักเชิดหุ่นมากฝีมือที่เคยออกเดินทางแสดงหุ่นเชิดมาแล้วกว่า 25 ประเทศ และเคยได้รับรางวัลในฐานะผู้ส่งเสริมการเชิดหุ่นโบราณของราชสถาน
เนื้อหาที่ถูกนำเสนอผ่านปุราน คือมุมมองของกลุ่มคนที่ต่อต้านการรื้อถอนพื้นที่ของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอยกเลิกนโยบาย เป็นหนึ่งในกลุ่มตัวแทนชุมชนเข้าไปเจรจากับบริษัทอสังหาริมทรัพย์
ในขณะเดียวกันปุรานก็ทำหน้าที่พาผู้ชมไปสำรวจความงดงามและคุณค่าของศิลปะที่ถูกปลุกปั้นและสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นภายในนิคมกาฐปุตลิ ด้วยเทคนิคการเชิดหุ่นที่สืบทอดมาจากพ่อของตัวเอง และบอกเล่าความฝันของเขาที่อยากจะสร้างพื้นที่การแสดงขนาดใหญ่ให้กับเหล่าศิลปินได้โชว์การแสดงอย่างอิสระเพื่อเผยแพร่ศิลปะดั้งเดิมให้ผู้คนได้รู้จัก
ราห์มัน ชาห์ นักมายากลที่ออกตระเวนแสดงตามข้างถนนพร้อมกับลูกชาย เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว
ราห์มันคือตัวแทนของกลุ่มคนที่ไม่ได้กระตือรือร้นในการต่อต้านการรื้อถอนพื้นที่ แต่สารคดีได้นำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นถึงความยากลำบากของเหล่าศิลปินในปัจจุบัน ที่ไม่ได้ต่างไปจากอาชีพหาเช้ากินค่ำเท่าใดนัก เหมือนที่ราห์มันมักจะถูกตำรวจไล่อยู่บ่อยครั้ง
นอกจากนี้เรื่องราวของราห์มันยังเป็นภาพสะท้อนที่บ่งบอกถึงคุณค่าของงานศิลปะอันเก่าแก่ ที่เริ่มเสื่อมถอยลงไปตามกาลเวลา กลายเป็นว่าผู้คนไม่ได้มองตัวเขาเป็นศิลปินคนหนึ่ง แต่กลับเป็นเพียงแค่นักแสดงธรรมดาๆ ที่มาจาก ‘สลัม’ เท่านั้น
มายา ภวา นักกายกรรมสาวมากความสามารถที่ได้รับการฝึกฝนตั้งแต่อายุได้เพียง 8 เดือน
มายาคือตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในนิคมกาฐปุตลิ ที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าเดิม เธอจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ต้องการย้ายไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดหาให้
นอกจากนี้มายายังใฝ่ฝันที่จะกลับไปเรียนต่อเพื่อสร้างโอกาสให้กับตัวเองได้เข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ และเลือกอาชีพนักกายกรรมเป็นอาชีพรอง
แม้นิคมกาฐปุตลิจะดูคับแคบ สกปรก จนถูกเรียกว่าสลัม แต่ Tomorrow We Disappear ก็ได้ฉายภาพของชุมชนแห่งนี้ที่ถูกตกแต่งด้วยอุปกรณ์การแสดง เสียงดนตรี และภาพของเหล่าศิลปินที่กำลังซักซ้อมการแสดงของตัวเอง ทำให้สลัมแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและรอยยิ้มของผู้คน
รวมถึงเรื่องราวชีวิตของปุราน ราห์มัน และมายา ที่ถึงแม้พวกเขาจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป แต่พวกเขาก็ยังคงรักและภาคภูมิใจในงานศิลปะที่ได้รับสืบทอดมา
แต่หลังจากการต่อสู้อันยาวนานกว่า 2 ปีของปุรานและกลุ่มตัวแทนชุมชน ในท้ายที่สุดพวกเขาก็ต้องยอมเซ็นสัญญาเพื่อย้ายไปยังที่พักชั่วคราวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ว่าสถานที่พักชั่วคราวแห่งใหม่นี้จะดูเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดกว่านิคมกาฐปุตลิ แต่มันกลับเป็นสถานที่ที่ดูจืดชืดไร้สีสัน เสมือนว่าเรื่องราวเหล่านั้นได้ถูก ‘ลบ’ ออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์เป็นที่เรียบร้อย
เมื่อได้เห็นภาพบรรยากาศที่เหล่าศิลปินต้องเก็บกระเป๋าเพื่อย้ายออกจากบ้านเกิดของตัวเอง เราก็พอจะเข้าใจถึงที่มาของชื่อเรื่องอย่าง Tomorrow We Disappear ผ่านเรื่องราวช่วงสุดท้ายของสามศิลปินที่เราทำความรู้จักและเฝ้าติดตามมาตลอดทั้งเรื่อง
แม้ว่าปุรานจะมีความสามารถในการเชิดหุ่นที่ได้รับการยอมรับมากขนาดไหน แต่ทันทีที่เขาต้องย้ายออกไปจากนิคมกาฐปุตลิ เขากำลังจะกลายเป็นชายธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีใครจดจำว่า ‘เขาคือนักเชิดหุ่นจากนิคมกาฐปุตลิ’
ในสมัยก่อนทุกๆ ครั้งที่ราห์มันออกตระเวนทำการแสดงเพื่อหาเงินให้ครอบครัว ที่แม้จะถูกตำรวจไล่กี่ครั้ง เขายังบอกกับผู้คนได้เสมอว่าเขามาจากนิคมกาฐปุตลิอันเลื่องชื่อ แต่หลังจากวันที่เขาต้องย้ายออกไปจากนิคมกาฐปุตลิ เขาจะไม่สามารถกล่าวได้อีกแล้วว่า ‘เขาคือนักมายากลจากนิคมกาฐปุตลิ’
และถึงแม้ว่ามายาจะได้ออกไปอาศัยอยู่ในสถานที่ที่สะอาด และได้ลองออกไปทำตามความฝันของตัวเอง แต่หลังจากที่เธอย้ายออกไปแล้ว เธอจะไม่ได้ถูกจดจำในฐานะของ ‘นักกายกรรมจากนิคมกาฐปุตลิ’ อีกต่อไป
การทำลายนิคมกาฐปุตลิเพื่อสร้างตึกระฟ้าไม่ได้เป็นเพียงการลบสถานที่ที่ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งชุบเลี้ยงและส่งต่อวัฒนธรรมดั้งเดิมลงเท่านั้น แต่มันกำลังลบ ‘ตัวตน’ และ ‘คุณค่า’ ของเหล่าศิลปินที่เติบโตและได้รับการถ่ายทอดวิชาจากคนรุ่นก่อนที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับนิคมกาฐปุตลิลง ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยตึกระฟ้าที่กำลังจะสร้างเม็ดเงินให้กับนายทุนและรัฐบาลอย่างมหาศาล
สุดท้ายนี้เราขอหยิบยกบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งที่ปุรานได้กล่าวเอาไว้ในฐานะของคนที่เคยถูก ‘ลบทิ้ง’ มาก่อน เพื่อส่งต่อเรื่องราวของพวกเขาและชื่อของนิคมกาฐปุตลิ ไม่ให้ถูกลบหายไปตลอดกาล
“ผมหวังอะไรสำหรับครอบครัวเหรอ
“ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ หางานปกติ ทำงานในออฟฟิศ แค่อย่าลืมศิลปะและวัฒนธรรมของตัวเอง อย่าลืมว่าเราเป็นใคร”
ทุกคนยังสามารถรับชมสารคดีเรื่อง Tomorrow We Disappear โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายในวันนี้ (25 มิถุนายน) เป็นวันสุดท้าย โดยทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ล็อกอินเข้าบัญชี Vimeo ของคุณ (หากยังไม่มี กรุณาสมัครด้วยอีเมล ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ)
- คลิกชม Tomorrow We Disappear ที่ https://vimeo.com/ondemand/tomorrowdisappear
- คลิกปุ่ม Rent
- ในหน้าชำระเงิน ไม่ต้องกรอกข้อมูลบัตร * แต่กดตรง ‘Apply Promo Code’ แล้วกรอกรหัส ‘disappear’
- กดปุ่ม Apply (อย่ากดปุ่ม Rent)
- กด Continue (หากเว็บแจ้งว่าไม่มีหน้านี้ ให้รีเฟรช) และ Watch Now เข้าชมภาพยนตร์ฟรีได้ทันที!
ภาพประกอบโดย
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า