ในเวลาที่สังคมพูดถึงความสำเร็จ เรามักจะสนใจกับความสำเร็จส่วนบุคคลมากกว่า เราหมกมุ่นอยู่กับคำถามว่า “ใครคือคนที่เก่งที่สุดตลอดกาล” “ใครคือคนที่มีส่วนกับชัยชนะมากที่สุด” หรือ “จะมีผู้เล่นหรือโค้ชคนไหนที่จะเข้ามาในฤดูกาลต่อไปเพื่อทำให้ทีมแข็งแกร่งขึ้น”
ความคิดเหล่านี้อาจทำให้เราหลงทางได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วไม่มีความสำเร็จใดๆ ในชีวิตที่ทำได้โดยคนคนเดียว การจะทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ให้เกิดขึ้นได้นั้นเราจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อนร่วมทีมเสมอ และเพื่อจะคว้าชัยชนะ คนที่เป็นผู้นำจะต้องหาทางที่จะดึงศักยภาพทั้งทางร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ของผู้เล่นที่อยู่ในทีมเดียวกันออกมาให้ได้
นี่คือสิ่งที่ ทอม เบรดี อดีตควอเตอร์แบ็กมือทอง เจ้าของนิยามของคำว่า ‘G.O.A.T.’ (The Greatest of All Time) ได้พยายามที่จะบอกกับทุกคนหลังจากที่เขาอำลาวงการอเมริกันฟุตบอล
ความสำเร็จนั้นไม่ได้เกิดจากการขว้างบอลที่แม่นยำราวกับเครื่องจักร แต่เกิดจากการทำอย่างไรให้ตัววิ่งพร้อมที่จะไปอยู่ตำแหน่งที่ว่างเพื่อรับบอลให้ได้ และก่อนนั้นคือฟูลแบ็กคนที่ไม่อยู่ในแสงต้องพยายามช่วยบล็อกเพื่อเปิดทางวิ่งให้เพื่อนได้วิ่งสะดวกที่สุด
เบรดีทำอย่างไรเพื่อให้เพื่อนร่วมทีม (Teammates) เชื่อและพร้อมที่จะเดินตาม
นี่คือ 7 สิ่งที่ G.O.A.T. คนนี้เรียนรู้มาทั้งชีวิต และเปิดเผยเคล็ดวิชาการเป็นผู้นำในฉบับของเขาออกมาให้ทุกคนได้เรียนรู้ไปด้วยกันครับ
บทเรียนที่เบรดีถ่ายทอดได้รับความช่วยเหลือจาก นิติน โนห์เรีย อดีตคณบดีแห่ง Harvard Business School ซึ่งเป็นแฟนตัวยงของเขาและทีมอเมริกันฟุตบอลนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ โดยทั้งคู่ได้เดินทางผ่านเรื่องราวและความทรงจำตลอดการเล่นของตำนานควอเตอร์แบ็กผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล
ก่อนที่สกัดออกมาได้เป็นเคล็ดวิชาและองค์ความรู้ที่มีค่าอย่างยิ่ง ‘Tom Brady on the Art of Leading Teammates’ ที่ได้รับการเผยแพร่ใน Harvard Business Review
แต่ก่อนจะไปถึง 7 สิ่งที่เบรดีได้เรียนรู้ สิ่งแรกที่เขาเกริ่นไว้เป็นเหมือน ‘บทนำ’ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก่อนทุกสิ่งคือ ‘ปรัชญาการโฟกัสเพื่อทีม’ (A Team-Focused Philosophy)
ความเป็นผู้นำ (Leadership) ประกอบไปด้วย 2 สิ่งด้วยกัน
อย่างแรก คุณแคร์เพื่อนร่วมทีมและบทบาทของพวกเขาในทีมหรือไม่?
อย่างที่สอง คุณแคร์เกี่ยวกับชัยชนะ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณต้องพยายามช่วยกันทำให้ได้หรือเปล่า?
เพราะความเป็นผู้นำจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อใจ (Trust) และความเชื่อใจก็จะเกิดขึ้นจากความห่วงใยลึกๆ ที่มีต่ออีกคน ส่วนความเชื่อว่าจะชนะเป็นเรื่องของทีม คนเป็นผู้นำจำเป็นที่จะต้องรู้สึกถึงสองสิ่งนี้อย่างแรงกล้า
ในยามชมการถ่ายทอดสด เราจะเห็นว่าทุกคนสนใจแต่เรื่องของเบรดี แต่ในชีวิตจริงแล้ว เบรดีบอกว่าตัวเขาเองพยายามจะเป็นเพื่อนร่วมทีมในอุดมคติของทุกคน
พื้นฐานที่สำคัญที่สุดมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวที่ช่วยบ่มเพาะเขาให้เป็นคนที่มีความคิดและทัศนคติแบบนี้ ก่อนที่ความคิดและความเชื่อจะยิ่งหนักแน่นยิ่งขึ้นจากการได้ใช้ชีวิตในทีมอเมริกันฟุตบอลระดับโรงเรียนและระดับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในตอนที่เล่นให้กับมหาวิทยาลัยมิชิแกน ปรัชญาของทีมนั้นคือการให้ทีมเป็นศูนย์กลาง (Team-Centric Philosophy) คือสิ่งที่ทำให้เบรดีเป็นตัวเขาอย่างในทุกวันนี้
ในวงการกีฬา มีคำพูดหนึ่งที่มีมาเนิ่นนานและยังใช้ได้อยู่เสมอ
“คุณอยากจะเป็นสตาร์ หรือคุณอยากจะเป็นแชมป์”
สำหรับเบรดี เขาให้ความสำคัญกับเป้าหมายของทีมก่อนอื่นใดเสมอ ทำเพื่อให้ทีมชนะในการแข่งขันและคว้าแชมป์ รวมถึงการเป็นเพื่อนร่วมทีมที่ดีมากกว่าจะสนใจแค่เป้าหมายส่วนตัว ซึ่งเป็นทัศนคติที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิตการเล่นอันยิ่งใหญ่
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือในวงการกีฬาอาชีพ ไม่ใช่นักกีฬาทุกคนหรอกที่จะคิดและเชื่อแบบนั้น
บางคนชอบเคลมเครดิตในเวลาที่ทีมประสบความสำเร็จ แต่จะโบ้ยความผิดทุกอย่างให้คนอื่นในเวลาที่ทีมล้มเหลว โทษทั้งกรรมการ เพื่อนร่วมทีม และโค้ช
มีคนที่สนใจเกี่ยวกับสถิติส่วนตัวหรือรางวัลส่วนตัวมากกว่าอย่างอื่น สิ่งที่แย่คือเพื่อนร่วมทีมย่อมรู้อยู่แล้วว่าคนแบบนี้เป็นอย่างไร และการทำตัวแบบนั้นก็ส่งผลต่อเพื่อนร่วมทีมที่ทำให้ไม่อยากจะทุ่มเททำผลงานให้ดีที่สุดตามไปด้วย เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม ทำดีไปก็ไม่ได้เครดิตอยู่ดี
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเริ่มคิดว่าทำไมคล้ายชีวิตจริงในที่ทำงานของฉันจัง
แล้วผู้นำที่ดีในแบบฉบับของ ทอม เบรดี เป็นอย่างไร? มาครับ มาเรียนรู้ไปพร้อมกัน
1. เพื่อทีมตลอดไป
บทเรียนแรกที่ ทอม เบรดี ได้เรียนรู้เกิดขึ้นในระหว่างอยู่กับทีมมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ในช่วงแรกนั้นเขาในฐานะ ‘น้องใหม่’ (Freshman) เขาไม่เคยได้โอกาสในการลงเล่นอยู่แล้ว และก็ยังคงไม่มีโอกาสนั้นในปีที่ 2 เพียงแต่เมื่อถึงปี 3 เขาคิดว่าเขาน่าจะมีโอกาสดีที่จะยึดตำแหน่งควอเตอร์แบ็กในทีมได้
เพียงแต่ความฝันก็พังทลายไปอีกเมื่อเขาเล่นสู้ ไบรอัน กรีส (Brian Griese) ไม่ได้ในตอนนั้น
สำหรับบางคนเจอแบบนี้ก็อาจจะมีถอดใจ แต่สำหรับเบรดี เขารู้ดีว่าหน้าที่ของเขาคือการพยายามสนับสนุนและผลักดันเพื่อนอย่างเต็มที่และเข้มข้นที่สุดในการซ้อมเพื่อที่เพื่อนจะได้เก่งขึ้น (และแน่นอนเขาก็จะเก่งขึ้นด้วย) เบรดีบอกว่าเขาไม่เคยมีความคิดที่จะหาทางกระชากเพื่อนลงมาแบบไม่ชอบธรรม
สุดท้ายในปีนั้นทีมคว้าแชมป์ระดับชาติได้โดยไม่แพ้ใครเลย ซึ่งแม้จะไม่ได้ลงสนาม เบรดีพอใจกับบทบาทและสิ่งที่เขาทำในเวลานั้น
ถึงปี 4 เขาได้กลายเป็นตัวจริงบ้างและทีมก็ทำผลงานยอดเยี่ยม คว้าชัยชนะในซิตรัสโบวล์ (หนึ่งในรายการสำคัญระดับมหาวิทยาลัย) ด้วยการล้มทีมอาร์คันซอ ก่อนที่เขาจะได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมในปี 5 เรียกว่าเดินทางมาถึงจุดสูงสุดของระดับมหาวิทยาลัยแล้ว
แต่ปรากฏว่าในปี 5 กัปตันทีมและตัวจริงอย่างเขาถูกท้าทายโดย ดรูว์ เฮนเซน ควอเตอร์แบ็กฝีมือดีอีกคนที่ถูกดึงตัวมา โดยโค้ชบอกว่าจะให้ ‘แบ่งกันเล่น’ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบไม่เคยเกิดขึ้นในเกมอเมริกันฟุตบอล
เพียงแต่เมื่อโค้ชตัดสินใจแล้วก็ต้องเล่นไป บางนัดเบรดีรู้สึกว่าเขาเล่นดีกว่าเฮนเซนมากแต่ก็โดนสลับตัวอยู่ดี ซึ่งถ้าเป็นคนอื่นอาจจะโวยก็ได้ แต่เขาเลือกที่จะเก็บความรู้สึกไว้
เหตุผลเดียวคือเขาอยากโฟกัสแค่ความสำเร็จของทีม
มีครั้งหนึ่งที่ทดสอบความเข้มแข็งทางใจของเบรดีอย่างมาก เกมนั้นเป็นเกมนัดที่ 3 ของปี มิชิแกนเจอกับซีราคิวส์ (Syracuse) ก่อนจบควอเตอร์ที่ 2 เฮนเซนขว้างบอลทำทัชดาวน์ได้แล้ว โค้ชบอกให้เล่นต่อไปทั้งๆ ที่ควรจะเป็นเบรดีที่ได้ลงมาบ้าง
กัปตันทีมแบบเขาเจ็บจนจุกหัวใจ แต่เมื่อทีมชนะ ตามธรรมเนียมแล้วกัปตันทีมจะต้องเป็นคนร้องนำเพลงเชียร์ปลุกใจทุกคน
ถึงจะเจ็บใจ แต่เบรดีลุกขึ้นยืนร้องเพลงบนเก้าอี้ด้วยเสียงอันดังที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนในทีมเองก็รู้ว่าเขาผิดหวังแค่ไหนที่ไม่ได้ลงเล่น แต่ในฐานะกัปตันทีม เขาอยากแสดงให้เห็นว่าเขาสนับสนุนเพื่อนและคู่แข่งอย่างเฮนเซนจนถึงที่สุด
เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้เบรดีเชื่อว่าเขาได้รับ ‘ใจ’ จากทุกคนกลับมา ก่อนที่ไม่กี่นัดหลังจากนั้นโค้ชจะเลือกให้เขาเป็นตัวจริงถาวร ทีมคว้าชัยชนะในเกมที่เหลือรวมถึงการคว้าแชมป์สุดดราม่าในรายการออเรนจ์โบวล์ที่เป็นเกมสุดท้ายในระดับมหาวิทยาลัยของเขา
การวางตัวของเขาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ที่อะไรๆ ไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจในตอนนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความเป็นผู้นำของเขา
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เบรดีเชื่อเสมอว่าเขาพร้อมจะทำงานหนักเพื่อทีมก่อนตัวเองเสมอ และพร้อมจะสนับสนุนเพื่อนทุกคนในเวลาเดียวกับที่พิสูจน์คุณค่าของตัวเองว่าเขาคือคนที่เหมาะสมที่จะเป็นตัวจริงในฐานะควอเตอร์แบ็กของทีม
2. เพราะทุกคนล้วนอยากเป็นคนสำคัญ
ในทุกทีมจะมีคนที่แสงส่องมาไม่ถึงเสมอ แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาเหล่านั้นยินดีที่จะร่วมสู้ไปกับทุกคนด้วยแม้ว่าคนจะจดจำเขาได้น้อยจนถึงอาจจะไม่เคยจดจำเลยก็ตาม
เบรดียกตัวอย่างทีมมหาวิทยาลัยมิชิแกนอีกครั้ง ในทีมนั้นมีผู้เล่นตำแหน่งฟูลแบ็ก (Fullback) ที่เก่งกาจอย่างยิ่งชื่อ คริส ฟรอยด์ งานของเขาคือการบล็อกผู้เล่นตำแหน่งไลน์แบ็กเกอร์ (Linebacker) ของทีมตรงข้าม เพื่อสร้าง ‘รู’ สำหรับผู้เล่นรันนิ่งแบ็ก (Running Back) พาบอลทะลวงไปให้ได้
หน้าที่นี้บอกเลยว่าเป็นงานที่หนักมาก ใช้ร่างกายเยอะมาก เพราะต้องเจ็บตัวจากการปะทะตลอดเวลา แต่กลับแทบไม่มีใครใส่ใจหรือมองเห็นมากนักในเกมฟุตบอล เพราะกล้องจะจับแต่คนที่ถือบอลอยู่
คนที่สอนให้เบรดีได้รู้ว่าเราต้องใส่ใจกับคนที่เป็น Unsung Hero หรือคนที่ปิดทองหลังพระเหล่านี้ด้วยคือ ไบรอัน กรีส
สิ่งที่กรีสทำคือการประกาศกับทุกคน “ไม่มีใครที่ผมอยากจะมีอยู่ในแบ็กฟิลด์ (Backfield) กับผมมากไปกว่า คริส ฟรอยด์ อีกแล้ว”
คำพูดของกรีสคือโลกทั้งใบของฟรอยด์ เบรดีสัมผัสได้ทันทีว่าฟูลแบ็กจอมแกร่งคนนี้ดู ‘ยืด’ ด้วยความภูมิใจเพราะมีคนมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ
หลังจากนั้นเบรดีก็เริ่มเรียนรู้ที่จะให้เครดิตกับคนที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก ไม่ใช่เพียงเพราะคนเหล่านั้นสมควรที่จะได้รับคำชื่นชม แต่เป็นการบอกกับทุกคนด้วยว่าจะต้องไม่มีผู้เล่นคนไหนที่จะถูกมองข้าม
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับการเป็นผู้นำทีม (Team Leadership) ซึ่งเขาจดจำและนำมาใช้ต่อเมื่อถูกดราฟต์เข้ามาเล่นในระดับอาชีพกับนิวอิงแลนด์ แพทริออตส์ด้วย โดยกลุ่มที่เบรดีใส่ใจเป็นพิเศษคือทีม Offensive Lineman
เบรดีจะเข้าไปในห้องประชุมของทีมตลอด และบอกว่าพวกเราจะไม่มีวันประสบความสำเร็จได้หากไม่มีพวกเขา (ซึ่งมันเป็นเช่นนั้นจริงๆ) นอกจากนี้ยังหาวิธีในการชื่นชมด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป บางครั้งก็พากันไปกินมื้อเย็นด้วยกัน บางครั้งก็เป็นของขวัญเล็กๆ น้อยๆ และบางครั้งก็ชื่นชมออกสื่อกันโต้งๆ เพื่อให้พวกเขารู้ว่าไม่มีใครลืม
พอถึงตอนที่ย้ายมาอยู่กับแทมปา เบย์ บัคคาเนียร์ส ในปี 2020 ช่วงนั้นทีมมีปัญหาจังหวะการเล่นสกรีนพาส (Screen Pass: การส่งบอลสั้นๆ ให้วิ่งฝ่าโดยมีคนช่วยบล็อกให้) เพราะผู้เล่นใน Offensive Line เข้าบล็อกช้าและพลาดบ่อยเกินไป
เพื่อหาทางแก้ไข เบรดีเลือกวิธีการกระตุ้นเล็กๆ ด้วยการบอกกับพวกเขาว่า “ถ้าเราเล่นสกรีนพาสแล้วทำระยะได้มากกว่า 15 หลา ผมจะจ่ายให้หลาละ 1,000 ดอลลาร์”
การกระตุ้นด้วยวิธีนี้ได้ผลทันที! เมื่อจบเกมวันอาทิตย์ ทุกคนจะมานั่งดูเทปการเล่นย้อนหลังด้วยกัน ซึ่งทีม Offensive Line ต่างมีรอยยิ้มเมื่อได้เห็นหน้าเบรดี พร้อมกับทำท่าถูมือไปมาเพื่อรอรับรางวัลของพวกเขา
จริงๆ เงินแค่นี้ไม่ได้มากมายอะไรสำหรับนักอเมริกันฟุตบอลที่ได้รับเงินตอบแทนมหาศาลในสัญญาของพวกเขา แต่สิ่งที่ทำให้ชนะใจทุกคนได้คือการที่เบรดีเดิมพันกับทุกคนด้วยเงินของตัวเอง แม้มันจะเล็กน้อย แต่มันมหาศาลในความรู้สึก
ดังนั้นผู้นำที่ดีจะต้องพยายามหาทางที่จะคิดถึงคนที่อาจจะไม่ได้รับความสนใจ การจดจำ ด้วยการแสดงให้เห็นว่าใส่ใจพวกเขาอยู่นะด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน
ไม่ใช่เฉพาะแค่นักกีฬา เพราะในทีมอเมริกันฟุตบอลประกอบไปด้วยคนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทรนเนอร์ สตาฟฟ์ พ่อครัวแม่ครัว คนทำความสะอาดล็อกเกอร์รูม คนที่ซักชุดให้
บางครั้งคำพูดดีๆ ชื่นชมกันสัก 4-5 คำก็ทำให้โลกของคนเหล่านี้สดใสแล้ว
ทีมที่ดีคือทีมที่ทุกคนรู้สึกว่าพวกเขามีคุณค่า
และมันคือหน้าที่ของคนที่เป็นผู้นำที่จะต้องดูแลเรื่องเหล่านี้ให้ได้
3. สร้างวัฒนธรรมทุ่มเท 100%
ในช่วงปีแรกๆ ที่มาอยู่กับแพทริออตส์ เบรดีอยู่กับก๊วนที่เรียกว่า ‘Edgers’
ชาวแก๊งนี้ไม่ได้ตั้งมาเพื่อเป็นมาเฟียของทีม แต่อยู่ด้วยกันเพื่อผลักดันกันและกันให้ไปได้ไกลกว่าเดิม สุดกว่าเดิม ผ่านการแข่งขันเล็กๆ น้อยๆ เช่น ใครจะมาถึงยิมก่อนคนอื่น ใครจะดูเกมการแข่งได้มากกว่าคนอื่น ใครจะซ้อมพิเศษมากกว่าเพื่อน
ไปจนถึงเรื่องที่เหมือนไม่มีสาระเลยอย่างใครจะดื่มน้ำได้มากกว่าคนอื่น
การแข่งขันในเรื่องเล็กๆ เหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีภายในทีม โดยที่ไม่จำเป็นที่จะต้องรอโค้ชบอกหรือโค้ชสั่ง พวกเขาพร้อมที่จะทำได้มากกว่าเพื่อจะไปได้ไกลกว่าเสมอ
ครั้งหนึ่ง บิล เบลิชิก โค้ชของทีมสั่งให้วิ่งไปกลับ 20 รอบ ในเวลาต่ำกว่า 7 วินาที และให้พักรอบละ 30 วินาที
เบรดีได้ยินแล้วก็ลุกขึ้นบอกว่า “พวกเราจะวิ่ง 24 รอบ รอบละ 6 วินาที และจะพักแค่รอบละ 15 วินาที”
ในวงเล็บว่าตัวเขาเองเป็นคนที่วิ่งช้าที่สุดในทีมด้วย
คนอื่นได้ยินแล้วก็มีคนโวยวายและบ่นบ้าง แต่เบรดีบอกกับทุกคนว่า “อย่าไปสนใจแค่ที่โค้ชบอก เราต้องซ้อมให้หนักขึ้นเพราะมันสำคัญกับพวกเราจริงๆ ไม่ใช่แค่จะทำให้โค้ชพอใจเฉยๆ”
จากประสบการณ์ของเบรดี นักอเมริกันฟุตบอลทุกคน “มักจะคิดเองว่าพวกเขาทุ่มเท 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว” แต่ในความเป็นจริงพวกเขาเล่นกันแค่ 70 หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ของความสามารถที่แท้จริง โดยที่พวกเขาเองก็อาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
บ่อยครั้งที่พวกเขาคิดว่าก็ทุ่มเทเต็มที่แล้ว ถ้าเล่นไม่ดีเขาคงไม่ได้รับค่าตอบแทนปีละ 10 ล้านดอลลาร์หรอกจริงไหม? ความคิดแบบนี้ทำให้พวกเขาไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ที่สุดอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งวิธีเดียวที่จะแก้ไขได้คือการต้องให้คนในทีมเป็นคนผลักดันกันและกัน
ไปด้วยกัน ไปได้ไกลกว่าเสมอ
เบรดียอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะหา ‘หลักฐาน’ ที่เป็นตัวเลขสถิติที่ชัดเจนในเรื่องนี้ว่าคนที่เล่นแค่ 70 เปอร์เซ็นต์จะเค้นอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือออกมาได้อย่างไร แต่ด้วยการสร้างโมเดลที่ให้ความสำคัญของทีมก่อน และพยายามทำให้ทุกคนเป็นที่พึ่งพาได้และตั้งความคาดหวังที่สูงขึ้น
ทำแบบนี้อย่างน้อยเบรดีเชื่อว่าจะเค้นความสามารถจริงๆ ออกมาได้อีก 5 หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมันมากเกินไปที่จะสร้างความแตกต่างในการแข่งขันได้แล้ว
ความยากนิดหน่อยสำหรับคนเป็นผู้นำคือการหาวิธี ‘สื่อสาร’ อย่างไรไม่ให้คนฟังรู้สึกไม่ดี
บางครั้งอาจจะเป็นการบอกว่า “อยากให้พูดเรื่องจริงหรืออยากให้พูดในสิ่งที่นายอยากฟัง?” ก่อนจะบอกว่า “วันนี้นายเตรียมตัวมาไม่ดีเลย พวกเราต้องการนายในเวอร์ชันที่ดีกว่านี้”
คำวิจารณ์แบบนี้อาจจะเป็นยาขม
แต่หวานเป็นลม ขมเป็นยา การพูดจากันตรงๆ เน้นเรื่องงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแบบนี้แหละที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนา
สำหรับเบรดี เมื่อโตขึ้นก็รู้ว่าคนที่กล้าจะบอกกันตรงๆ แบบนี้นี่แหละคือคนที่จริงใจและห่วงใยกันจริงๆ
4. ต่างคนต่างใจ
ในเกมอเมริกันฟุตบอลก็ไม่ต่างจากโลกการทำงานจริง เบรดีบอกว่าผู้เล่นแต่ละคนล้วนมีความเป็นตัวของตัวเองที่แตกต่างกัน มีเป้าหมายในใจที่แตกต่างกัน
บางคนเล่นเพื่อเงิน อยากได้สัญญาค่าตอบแทนมหาศาล บางคนเล่นเพื่อชื่อเสียง (ถ้าติดออลโปรหรือทีมยอดเยี่ยมถือว่าชีวิตนี้พอใจแล้ว) บางคนเล่นเพื่อชัยชนะ อยากเป็นแชมป์
แต่อีกหลายคนไม่คิดอะไรมากไปกว่าทำอย่างไรก็ได้ไม่ให้ตกงาน
ความท้าทายสำหรับผู้นำคือการที่เราต้องรับรู้และสัมผัสสิ่งเหล่านี้ได้โดยสัญชาตญาณ และมีหน้าที่ในการที่จะหาทางกระตุ้นพวกเขาเหล่านี้ในแบบเฉพาะของพวกเขาเอง
มันแทบไม่ต่างอะไรจากภาษารัก (Love Languages) แต่ละคนมีวิธีการบอกรักที่แตกต่างกัน และมีวิธีที่จะตอบรับความรักที่แตกต่างกันด้วย ซึ่งเป็น ‘ทักษะ’ ที่ผู้นำจะต้องเรียนรู้
เบรดียกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้นจากช่วงที่ยังเล่นให้กับแพทริออตส์ ในช่วงนั้นมีผู้เล่นตำแหน่งไวด์รีซีฟเวอร์ (Wide Receiver) ที่แตกต่างกัน 2 คน คือ จูเลียน เอเดลแมน และ แรนดี มอสส์ วิธีการกระตุ้นสองคนนี้ก็แตกต่างกันไปด้วย
ถ้าอยากให้คนจิตใจแข็งแกร่งอย่างเอเดลแมนงัดฟอร์มที่ดีที่สุดออกมาให้ได้ ก็ต้องพูดในทำนองว่า “จูลส์ นายดูแย่นะวันนี้”
สิ่งที่จะได้รับตอบแทนกลับมาคือสายตาเขม็งที่ไม่บอกก็รู้ว่าโกรธ แต่เบรดีรู้ว่าเอเดลแมนจะเปลี่ยนความโกรธนั้นไปใช้ในสนามเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าที่พูดถึงเขาแบบนั้นผิด
ส่วน แรนดี มอสส์ สุดยอดรีซีฟเวอร์ระดับ Hall of Fame จะชอบคำพูดในอีกแบบเลย คือจะชอบคำชมมากกว่า
“แรนดี นายสุดยอดไปเลยวันนี้”
ถ้าลองพูดแบบนี้เขาจะมีกำลังใจที่จะทำให้ดีมาก ซึ่งเบรดีรู้ว่าเขาต้องพยายามกระตุ้นด้วยคำพูดเชิงบวกแบบนี้กับมอสส์ไปเรื่อยๆ แม้ในการซ้อมต่อให้มีช่วงที่ไม่ได้ขว้างบอลให้นานแค่ไหนก็จะบอกว่า “ถ้ามีจังหวะที่เหมาะเจาะ เดี๋ยวฉันจะขว้างให้นายเอง ตาของฉันมองหานายอยู่ในทุกเพลย์”
แต่มันก็จะมีบางคนที่ต่อให้เบรดีเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร แม้ว่าตัวเขาเองจะเข้าใจดีว่าคนเป็นโค้ชหรือกัปตันทีมจะต้องอุทิศเวลา 90 เปอร์เซ็นต์ไปกับการหาทางทำให้ผู้เล่น 10 เปอร์เซ็นต์ที่รับมือยากที่สุดทำผลงานให้ได้
ในทีมแพทริออตส์จะมีผู้เล่นคนหนึ่งในทีมที่เกิดมาพร้อมกับพรสวรรค์ที่ยิ่งใหญ่ แต่เพราะเจอกับช่วงเวลาที่เลวร้ายในวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น แผลเป็นในใจนั้นไม่มีวันหายไม่ว่าใครจะพยายามแค่ไหนก็ตาม
ผู้เล่นคนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เขาแค่ไม่มีวันเชื่อใจคนอื่นหรือควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ ซึ่งเบรดีก็ได้แต่หวังว่าจะมีใครสักคนที่ช่วยเด็กคนนี้ได้ดีกว่าตัวของเขาเอง หรือมีนักจิตบำบัดที่เก่งกาจมาช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้
การต้องเจอกับคนที่น่าเห็นใจแบบนี้เป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก แต่ผู้นำต้องพยายามที่จะ ‘ช่วยเหลือ’ และดึงศักยภาพที่มีในตัวของเขาออกมาให้มากที่สุด
การใช้เวลาร่วมกันเพื่อกระตุ้นและสร้างความท้าทายกับเพื่อนร่วมทีมเป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างมาก เพราะสุดท้ายมันไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เรื่องของการทำผลงานในสนามเท่านั้น
แต่มันหมายถึงการที่เราช่วยไม่ให้เขาเหล่านั้นไปทำให้ใครผิดหวังอีกด้วย
สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่คนทั่วไปมองข้าม แต่นี่แหละคือสิ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องทำ
ยังมีสิ่งที่เบรดีพูดถึงอยู่บ่อยๆ คือเรื่องของ Input และ Output ซึ่งปกติแล้วจะหมายถึงการฝึกซ้อม (Input) ซ้อมแบบไหนก็ได้ผลงาน (Output) แบบนั้น แต่ในอีกทางแล้วก็หมายถึงการเลือกคนในทีมด้วย
เพราะถ้าเลือกคนที่ไม่มีวินัย เลือกคนที่เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง นั่นคือ Input ที่แย่ และจะนำไปสู่ Output ที่แย่ คือผลการแข่งขันก็จะไม่ตามไปด้วย ซึ่งการที่ผู้นำพยายามเข้ามาช่วยเหลือผู้เล่นที่มีปัญหาเรื่องของการควบคุมอารมณ์ ก็คือการช่วยเหลือพวกเขาให้มี Input และ Output ที่ดีขึ้น และแน่นอนว่ามันจะเป็นผลดีต่อทีมตามไปด้วย
5. เป็นส่วนที่ขาดหายของกันและกัน
คนที่มีความสำคัญกับชีวิตของ ทอม เบรดี อย่างมากคือ บิล เบลิชิก สุดยอดโค้ชที่เขายกย่องว่าเป็น G.O.A.T. ของ NFL เช่นกัน
เบลิชิกเป็นคนที่หากใครติดตามมานานจะคุ้นเคยกับสไตล์ในการทำงานที่เข้มข้นและมองทุกอย่างตามความเป็นจริงเสมอ
เหตุผลที่ทำให้เบลิชิกเป็นแบบนี้มาจากการที่เป็นลูกชายของโค้ชในทีมอะคาเดมีของกองทัพเรือ เติบโตและเรียนรู้วิชาทุกอย่างจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการเป็นโค้ชหรือวิชาชีวิต เรียกได้ว่าเป็นผลที่เกิดจากต้นไม้ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยระเบียบวินัยแบบทหารอย่างแท้จริง
วินัย (Discipline) และความรับผิดชอบ (Accountability) คือสองสิ่งที่โค้ชอย่างเบลิชิกให้ความสำคัญมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องของความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) หรือความเห็นอกเห็นใจ (Compassion)
หากเขาต้องการให้ทีมทำได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการตลอดเวลา จะพยายามมองหาจุดอ่อนและพื้นที่ที่จะสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีกมากกว่าจะชมเชยว่าทำนั่นทำนี่ได้ดีอยู่แล้ว และนั่นเป็นสิ่งที่นักกีฬาในระดับโปรต้องการ
นั่นเพราะในชีวิตของนักกีฬาคนหนึ่ง พวกเขารายล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก ภรรยา เอเจนต์ หรือแฟนๆ คนเหล่านี้จะพูดเสมอว่าเราทำได้ดีแค่ไหน แต่โค้ชอย่างเบลิชิกคือคนที่จะดึงเราออกมาจากเสียงเหล่านั้นเพื่อไม่ให้หลงไปกับคำเยินยอ
การได้เล่นให้กับโค้ชที่ดีแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่โชคดี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘วิธีการ’ ของเขาในการหาทางกระตุ้นทีมที่มุ่งเน้นเล่นกับเรื่องของ ‘ความกลัว’ บางครั้งก็เป็นเรื่องที่ยากจะรับมือ
ดังนั้นในฐานะผู้นำของทีม เบรดีจึงพยายามที่จะหาทางเติมเต็มในสิ่งที่เบลิชิกไม่มี
โค้ชอย่างเบลิชิกจะไม่ใกล้ชิดกับผู้เล่นคนไหนเลย เขาไม่ใช่คนที่จะมีอารมณ์ขันล้อเล่นด้วยได้และสร้างความผูกพันระหว่างโค้ชกับผู้เล่น นั่นเพราะเขารู้ดีว่าสักวันช้าหรือเร็วเขาจำเป็นจะต้องตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคตของผู้เล่นคนนั้น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยน การตัดออกจากทีม หรือแม้แต่การไล่ออกจากทีม ที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอในเส้นทาง
เบรดีจึงทำในสิ่งที่เบลิชิกจะไม่ทำ คือความใส่ใจ ความห่วงใย คอยหมั่นสอบถามชีวิตความเป็นอยู่นอกสนามไปพร้อมๆ กับการถามถึงเรื่องการทำงานในฐานะผู้เล่นเหมือนกัน
ถ้าเป็นเพื่อนร่วมทีมในสนามของเบรดีครั้งหนึ่งแล้ว นั่นหมายถึงเราจะเป็นเพื่อนร่วมทีมกันตลอดไป
สำหรับเบรดีแล้ว เขาเชื่อว่าความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา
เบรดีบอกว่าเขาโชคดีที่มีโค้ชอย่างเบลิชิก และในเวลาเดียวกัน เบลิชิกก็โชคดีที่มีเขาอยู่ด้วยเช่นกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ในแบบที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องทำในแบบเบรดีเท่านั้น เพราะ ‘ผู้นำ’ แต่ละคนจะมีสไตล์ที่แตกต่างกันออกไป และไม่ได้แปลว่าในทีมจะมีผู้นำได้แค่คนเดียว
หนึ่งในผู้นำในทีมแพทริออตส์ในช่วงแรกของเบรดีคือ วิลลี แม็คกิเนสต์ สุดยอดไลน์แบ็กเกอร์ เจ้าของส่วนสูง 6 ฟุต 5 นิ้ว และหนัก 270 ปอนด์ รูปร่างน้องๆ ยักษ์ และเสียงอันทรงพลังของเขาคือเครื่องมือการนำที่สำคัญ
ถ้าเขาพูดอะไรสักอย่าง ทุกคนจะยืนขึ้นและบอกว่า “ตกลงวิลลี เราจะทำในสิ่งที่นายขอให้เราทำ”
ขณะที่ แมทธิว สเลเตอร์ ที่เบรดีเล่นด้วยในช่วงปี 2010 แสดงความเป็นผู้นำของเขาด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (Leader by Example) ที่ความทุ่มเทของเขาคือเครื่องพิสูจน์และทำให้ชนะใจเพื่อนร่วมทีมทุกคนโดยไม่จำเป็นต้องพูดอะไรให้มากมาย
หรืออย่าง ดันเต สการ์เนคเคีย หนึ่งในทีมงานโค้ชจะมีวิธีผสมผสานระหว่างความดุดันแบบเบลิชิกกับความอ่อนโยนที่ห่วงใยทุกคนเป็นการส่วนตัว นั่นทำให้ผู้เล่นทุกคนทุ่มเทเต็มที่ให้กับการซ้อมและการเล่นเสมอ
ในทีมแพทริออตส์ ผู้นำคือ ‘ผู้ขับเคลื่อนทางวัฒนธรรม’ (Culture Drivers) ซึ่งในทีมจะมีคนที่มีบทบาทในการเป็นผู้นำมากมาย โดยที่แต่ละคนก็จะมีสไตล์ของตัวเองที่สุดท้ายจะเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกันโดยอัตโนมัติ
อ่อนกับแข็ง ขาวกับดำ หยินและหยาง
ทุกอย่างรวมกันเพื่อทีม
6. ตระหนักรู้และตอบโต้
นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลภายนอกอาจจะดูแข็งแกร่ง แต่ภายในแล้วจิตใจสามารถเกิดความหวั่นไหวได้เสมอ และบางครั้งปัจจัยจากภายนอกอาจส่งผลทำให้พวกเขาเลือกที่จะทำทุกอย่างเพื่อตัวเองก่อนที่จะทำเพื่อทีม
เคสคลาสสิกที่เกิดขึ้นได้เสมอคือเสียงจากเอเจนต์ ซึ่งมีหน้าที่ในการเจรจาผลตอบแทนและผลประโยชน์ต่างๆ ให้แทนนักกีฬาที่ส่วนใหญ่จะไม่มีความชำนาญที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้ได้เอง
ในโลกของความฝัน เบรดีอยากจะมีรีซีฟเวอร์เก่งๆ สัก 3 คนที่พร้อมจะรับบอลที่เขาขว้างออกไป และพาทีมชนะได้โดยที่ไม่มีใครสนใจอะไรนอกจากชัยชนะของทีม แต่ในโลกของความจริงแล้วมันไม่ง่ายแบบนั้น
สมมติว่ารีซีฟเวอร์ A ทำได้เยี่ยมในเกมหนึ่ง และต่อให้รีซีฟเวอร์ B และ C จะดีใจกับชัยชนะด้วยก็ตาม แต่เมื่อจบเกมลงมันจะมีเสียงสะท้อนกลับมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเอเจนต์ เพื่อน หรือครอบครัว รวมถึงสื่อ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ โดยที่ผลงานสถิติของพวกเขาเริ่มแย่ลง
ถึงตอนนั้นปัญหาจะเกิดเพราะเอเจนต์จะบอกว่าถ้าผลงานเป็นแบบนี้จะส่งผลต่อมูลค่าของสัญญาในอนาคต ผู้เล่นจะเริ่มกังวลว่าพวกเขาอาจจะสูญเสียความเป็นที่น่าสนใจและการชื่นชมจากฐานแฟนๆ ไป
แรงกดดันตรงนี้คือสิ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องตระหนักว่าต่อให้ทุกคนมีสปิริตนักกีฬาเหมือนกัน แต่ว่าทุกคนเผชิญกับแรงกดดันจากคนรอบข้างไม่เหมือนกัน และมันอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ไม่ดีได้
เบรดีมองว่าเรื่องนี้ไม่ต่างอะไรจากชีวิตการทำงานของคนทั่วไป เพราะทุกคนจะต้องเจอกับ ‘คำถาม’ จากครอบครัวหรือคนรักว่าจะได้เลื่อนขั้นเมื่อไร หรือจะได้ค่าตอบแทนขึ้นที่สมควรจะได้รับหรือไม่
ความอ่อนแอเกิดขึ้นได้กับทุกคนและมันอาจจะทำให้เราเปลี่ยนจากการทำเพื่อทีมมาเป็นการทำเพื่อตัวเอง มองตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Self-Centred)
สิ่งที่ผู้นำจะทำได้คือการใส่ใจแรงกดดันจากภายนอกเหล่านี้ด้วย และต้องพยายามย้ำ ‘ข้อความ’ (Message) ที่ชัดเจนว่าทีมต้องมาก่อน แล้วที่เหลือจะตามมาเอง
7. เพราะความสัมพันธ์นั้นสำคัญ
เบรดีกำลังจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในบทบาทงานด้านโทรทัศน์ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเขาได้ไปร่วมกิจกรรม Outing ของทีมที่เกาะบาฮามาส
ตามประสากิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ มันต้องมีการเล่นเกมสนุกๆ กันบ้าง กินข้าวด้วยกันบ้าง และได้ทำความรู้จักซึ่งกันและกันบ้าง สิ่งเหล่านี้สำหรับคนทำงานหลายคน (โดยเฉพาะคนที่มีประสบการณ์สูง) อาจจะมองว่าเป็นกิจกรรมที่ไร้สาระ ไม่มีประโยชน์
แต่สำหรับเบรดี เขาเชื่อว่านี่แหละคือโอกาสที่ดีที่จะได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในทีม นี่คือเวลาที่ทุกคนจะได้มีประสบการณ์ร่วมกันในสิ่งแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย เราจะได้เห็นด้านที่แตกต่างของแต่ละคน (เช่น เราอาจจะไม่รู้มาก่อนว่าทีมงานสตูดิโอคนหนึ่งจะเล่นเปียโนได้เก่งมากๆ)
สิ่งดีๆ ที่เก็บเกี่ยวได้จากช่วงเวลาแบบนี้จะทำให้ทุกคนเข้าใจกันมากขึ้นไม่มากก็น้อย และนั่นจะทำให้ทุกคนทำผลงานกันได้ดีขึ้นด้วย
เพราะส่วนหนึ่งของความเป็นผู้นำคือการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทีมและความเชื่อใจระหว่างกันและกัน
ในช่วงที่ยังเล่นอเมริกันฟุตบอลอาชีพ เบรดีก็ใช้เวลาร่วมกับเพื่อนร่วมทีมแบบนี้เหมือนกัน โดยหลังจบฤดูกาลแข่งขันเขาจะชวนกันไปเที่ยวบ้าง ไปดูโน่นดูนี่ด้วยกันบ้าง หรือหากไม่ได้ไปด้วยกันก็จะหมั่นส่งข้อความหาหรือวิดีโอคอลคุยกัน
เพราะในเกมอเมริกันฟุตบอลนั้นถึงจะดูเป็นกีฬาที่ใช้พละกำลัง แต่สิ่งสำคัญที่ซ่อนอยู่คือเรื่องของความสัมพันธ์ เรื่องของความเชื่อใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเรารู้จักและเข้าใจกันและกันได้ดีพอแล้ว
ยิ่งเรารู้จักใครมากขึ้นเท่าไร เราย่อมไม่อยากทำให้เขาผิดหวังถูกไหม
เหมือนที่ดาตาญัง, เอธอส, ปอร์ธอส และอารามิส เคยบอกไว้ในสามทหารเสือ
“Tous pour un, un pour tous”
จากหมู่สู่เหล่า รวมเราเป็นหนึ่ง
ทั้งหมดนี้คือ 7 สิ่งของผู้นำที่ ทอม เบรดี ได้เรียนรู้จากชีวิตการเป็นนักกีฬา และถูกสกัดออกมาโดย นิติน โนห์เรีย แห่ง Harvard Business Review ที่อาจจะยาวสักหน่อย แต่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนได้นำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานได้บ้างไม่มากก็น้อย
โดยที่ทุกอย่างสามารถทำได้ทันทีไม่ต้องรอใคร เริ่มที่ใจเราเอง
Let’s go ครับ!
อ้างอิง: